ละครไทย สู่ตลาดโลก เริ่มจากไปอาเซียนและจีนแหล่งรายได้ใหม่ ที่ทีวีทุกช่องจับจ้อง (ตอนที่1)

Byพันตา (Panta)
 
ช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ขนบและวัฒนธรรมของไทย  ถูกรุกล้ำผ่านทางสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองในหลายครอบครัว คงประสบกับการที่ลูกหลานหลงไหลได้ปลื้มกับสินค้าทางวัฒนธรรมที่มากับกระแส K-Pop เด็กไทยคลั่งไคล้ทั้งบทเพลงและศิลปินจากเกาหลีใต้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องปรับทั้งตัวปรับทั้งใจ 
 
ขณะที่ไทยเองก็มีสินค้าสื่อด้านความบันเทิงและนักแสดงไทย เป็นที่นิยมแพร่หลายในหลายประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Thai Wind” 
 
กระแสของสื่อและศิลปินไทย เมื่อลองเข้าไปเจาะลึกลงไปพบว่ายังไม่มีรูปแบบการผลักดันจากหน่วยงานของรัฐมากนัก อิทธิพลของสินค้าทางวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ ละครโทรทัศน์ไทย ภาพยนตร์ไทย และนักแสดงของไทยสู่ตลาดโลกได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นการฝ่าฟันของภาคเอกชนที่ต้องทุ่มเทแรงเงินและแรงกาย เมื่อเร็วๆนี้ โครงการ จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้จัดเวทีระดมสมองเรื่อง แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาละครและสื่อบันเทิงไทยในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ และข้อมูลการขายลิขสิทธิ์ของละครไทยที่ผ่านมา
 
ข้อมูลของอาจารย์ อัมพร สรุปได้ว่า ละครไทยได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศอาเซียนมากว่า 2 ทศวรรษ
ทั้งในลาว กัมพูชา และพม่า รวมถึงกลุ่มม้งในประเทศลาว โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่ในขณะนั้นยังไม่มีการผลิตสื่อบันเทิงของตัวเอง โดยที่การไหลของละครไทยไปยังประเทศเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีการวางแผน แต่ผู้ชมต่างวัฒนธรรมเลือกที่จะรับและสื่อข้ามพรมแดนเหล่านี้  หรือหากจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  การรุกล้ำทางวัฒนธรรมนี้เริ่มจากเทคโนโลยีโครงข่ายดาวเทียมของสถานีโทรทัศน์ไทย ที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านรับชมโทรทัศน์ไทยได้  จวบวันนี้การรุกล้ำทางวัฒนธรรมง่ายดายกว่าเดิมมากมายด้วยสื่ออินเทอร์เน็
 
การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ทำให้เกิดผู้ผลิตละครที่หลากหลายมากขึ้น เกิดละครหลายหลายแนว มีผู้ผลิตรายใหม่ๆ หาช่องว่างทางการตลาด และหลากหลายแนวมากขึ้น ทำให้คนในหลายประเทศทั่วโลกก็มีช่องทางรับชมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งละครไทยไม่ได้มีเพียงสื่อทีวีดิจิทัล แต่ยังมีใน LINE TV และ Netflix ด้วย
 

 
ละครไทยในเวียดนาม
 
ละครไทยได้เข้าไปตีตลาดในเวียดนามมากขึ้น จากเดิมช่วงแรกมีแค่ละครจากเอ็กแซกท์ ที่เข้าไปตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว จนกระทั่งช่อง 3 เริ่มเข้าไปบุกตลาดมากขึ้นใน 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ละครไทยที่ออกอากาศในเวียดนามขณะนี้จะเป็นละครเก่าหลายปีแล้ว เช่น ละคร แค้นเสน่หา” ละครปี 2556 ของช่อง 3 ที่ขณะนี้ช่อง 3 เอามาออนแอร์ในช่วง “ละครดังข้ามเวลา” แต่กำลังออนแอร์ที่สถานี Today TV ของเวียดนาม
 
ละครของช่อง 3 ได้รับความนิยมสูง คนเวียดนามนิยม แต่กลับไม่สร้างเรตติ้งเมื่อออกอากาศทางทีวี
เนื่องจากเมื่อละครสนุก ผู้ชมส่วนใหญ่ก็จะหันไปรับชมแบบรวดเดียวจบ ทางสื่อออนไลน์หลังจากที่ออกอากาศในไทยไม่นาน  ช่างเหมือนกับกรณีซีรีส์เกาหลีและซีรีส์จีนในประเทศไทย ที่ได้รับความนิยม    แต่ไม่สร้างเรตติ้งในทีวีเช่นกัน เฮ้อ
 
ตลาดเวียดนาม ประกาศว่าหมดยุคของละครเกาหลีแล้ว เพราะไม่ถูกรสนิยมของชาวเวียดนาม โดยมีเหตุผลหลักคือ ความรักแบบเกาหลี มัน Soft เกินไป แต่ละครไทยสนุก มีไคลแมกซ์เร้าใจกว่า
 
ตลาดเวียดนาม เปิดรับทั้งละครไทย จีน และอินเดีย โดยที่ละครอินเดียจะแข่งในเรื่องราคา เพราะลิขสิทธิ์ละครอินเดียราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สำหรับละครไทยที่ชาวเวียดนามชอบนั้น เป็นแนวเมโล  ดราม่า ที่มีแก่นเรื่อง สร้างอารมณ์ สร้างตัวร้าย และต้องมีบทสรุปที่ตัวร้ายจะได้รับผลที่ทำไม่ดีได้อย่างรุนแรง อย่าแค่ถูกตำรวจจับแค่นี้จบ คนเวียดนามจะบอกว่า แค่นี้มันไม่สะใจนะ
 
นอกจากนี้ การเลือกดูละครไทยแต่ละเรื่องนั้น คนเวียดนามจะเลือกละครจากตัวนักแสดงหลักที่คนเวียดนามชื่นชอบเป็นหลัก ละครพื้นบ้านจักรวงค์ ก็ยังมีแฟนไปจัดทำคำแปลเป็นภาษาเวียดนามด้วย ทั้งนี้ละครไทยได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นเวียดนามมากกว่า โดยตลาดผู้ชมหลักได้แก่ผู้หญิง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยและเวียดนามมีพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง
 
 
 
ตลาดอินโดนีเซีย
 
ตลาดอินโดนีเซีย มีบริษัท PT Inter Sulusindo Film นำเข้าภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นหนังและละครจากกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่เป็นรายแรกๆที่ขายลิชสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ ก่อนช่องอื่นๆ  โดยเฉพาะ ภาพยนตร์และละครจากค่าย GDH หลายเรื่องโด่งดังมากในอินโดนีเซีย เช่น ATM เออรัก เออเร่อ และละครฮอร์โมน วัยว้าวุ่น
 
การได้รับความนิยมของคอนเทนต์ GDH ทำให้ต้องมีแผนการนำนักแสดงไปโปรโมทในตลาดอินโดนีเซียด้วย อย่างไรก็ตามประเทศอินโดนีเซียก็มีอุปสรรค ที่ทำให้ละครไทยยังไม่สามารถแพร่หลายได้มากนัก   จากระบบการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดของทางการอินโดนีเซีย
 
สำหรับแนวเรื่องที่ผู้ชมชาวอินโดนีเซียชอบมากนั้น จะเป็นแนวผี แนววัยรุ่น และแนวซีรีส์วาย เพราะคลาดคนดูละครของอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และเป็นตลาดวัยรุ่น ดังนั้นพวกซีรีส์วาย ชายรักชาย จึงได้รับความนิยม เพราะเขามีความรู้สึกว่าวัยหนุ่มสาวของไทยใกล้ชิดเขามากกว่าพวกซีรีส์เกาหลี ซึ่งละครหรือภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ที่ไปอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่มาจากค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยเฉพาะ GDH
 

 
ตลาดฟิลิปปินส์
 
ฟิลลิปปินส์ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ละครไทยกำลังได้รับความสนใจมากๆ โดยหลัก มีสถานี GMA Network  เป็นสถานีที่เอาละครไทยไปออกอากาศหลายเรื่อง  ความนิยมละครไทยได้รับความนิยม    มากกว่าซีรีส์เกาหลี ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ละคร พรหมไม่ได้ลิขิตของช่อง One ละ “Princess Hour” จากช่องทรูโฟร์ยู สามารถทำเรตติ้งได้สูงกว่าซีรีส์เกาหลีทั้ง 2 เรื่อง
 
ปีนี้ก็มีละครของช่อง 3 ตั้งแต่ คลื่นชีวิต เล่ห์ลับสลับร่าง และ ลิขิตรัก The Crown Princess ที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มผู้ชมฟิลิปปินส์
 
ตลาดของฟิลิปปินส์ จะมีความแตกต่างจากไทยอยู่บ้าง เนื่องจากประชาชนฟิลิปปินส์นับถือคริสต์เป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายความบันเทิงก็ยังเดินไปด้วยกันได้  เพราะแนวทางศาสนาต่างก็สอนให้คนเป็นคนดี
ศาสนาคริสต์สอนว่าพระเจ้าให้อภัย แต่ของไทยความเชื่อคือทำดีได้ดี เชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม 
 
ตลาดจีน
 
ละครไทยเคยได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน ช่วงปี พ.ศ.2551 – 2554 แต่มาในปี 2555 ละครไทยหมดความนิยมลงไปในช่วงนั้น ด้วยสาเหตุมาจากนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจีน ให้คนจีนหันมารับชมละครของจีน และเริ่มขบวนการเซ็นเซอร์ที่ยุ่งยากมาก มีการปรับย้ายช่วงเวลาออกอากาศของละครไทยไปอยู่ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ทำให้ตลาดผู้ชมส่วนใหญ่ที่เป็นแม่บ้าน ไม่สามารถรอดูได้
 
นอกจากนี้ราคาลิขสิทธิ์ของละครไทย เริ่มมีราคาแพงขี้น  คู่แข่งสำคัญคือละครอินเดียที่มีราคาถูก ก็เริ่มบุกตลาดจีนด้วย
  
กลยุทธ์การขายลิขสิทธิ์แบบ simulcast ในจีน
 
ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กิจการทีวีในตลาดจีนลดน้อยลง พร้อมๆกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของช่องทางออนไลน์ การดูทีวีผ่านอินเตอร์เน็ท ในรูปแบบ OTT ที่มีกลุ่มแฟนแนวบ้าพลัง แปลละครไทย ทำข้อความซับไตเติ้ล เพื่อให้กลุ่มผู้ชมคนจีนดูแทบทุกเรื่อง เหมือนที่เกิดขึ้นกับซีรีส์เกาหลีในเมืองไทย ที่สามารถหาดูได้พร้อมคำบรรยายไทยจากเวปต่างๆ  ทำให้รูปแบบการขายลิขสิทธิ์ละครไทยไปจีน ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการขายแบบ Simulcast คือ ออกอากาศคู่ขนาน ไปพร้อมๆกัน หรือออกอากาศภายในวันเดียวกัน
 
รูปแบบ Simulcast นี้ จะทำให้สามารถขายลิขสิทธิ์ละครได้ในราคาสูงกว่าลิขสิทธิ์แบบเดิม อย่างไรก็ตามปัญหาของการขายลิขสิทธิ์แบบ Simulcast นั้น  ผู้ขายลิขสิทธิ์ละครต้องมีการเตรียมงาน และต้องเสนอเรื่องและผลงานที่ตัดต่อสมบูรณ์ผ่านกระบวนการเซ็นเซอร์ของจีนล่วงหน้าก่อนด้วย  ซึ่งมักใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน
 
ทั้งนี้ข้อห้ามของละครไปจีนที่สำคัญมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
-ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา
-เนื้อหาเกี่ยวกับผี วิญญาณ และไสยศาสตร์
-เรื่องเพศ และเพศที่ 3
– เรื่องการเมือง
-สลับร่าง ข้ามภพ ข้ามชาติ
 
ผู้ชมชาวจีน จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ และรับชมทางช่องทางออนไลน์ สิ่งที่ดึงดูดของละครไทย คือดาราหน้าตาสวย ดูละครไทยไม่ต้องคิดมาก
 
ซีรีส์วาย โอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะตลาดจีน
 
กลุ่มคอนเทนต์ของไทยที่มีการรับชมทางออนไลน์ มีอยู่ 2 กลุ่มได้แก่
“ซีรีส์วาย” และ “ละครรีเมค”
 
สำหรับซีรีส์วาย ในตลาดประเทศอาเซียนนั้น ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และยังมีตลาดใน  อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
 
ลักษณะเฉพาะของซีรีส์วายที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ชื่นชอบ  เพราะรู้สึกว่าเป็น Pure Love เสนอภาพความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่า บรรดานักแสดงเหล่านั้น กำลังแสวงหาตัวเอง เพื่อเป็นตัวของตัวเอง ที่รู้สึกว่ามันไม่ซ้ำกับแนวเดิม ไม่ใช่หญิงกับชาย  ไม่ใช่แค่เรื่องที่มาบอกว่า เรารักกัน แต่ซีรีส์วายนั้น  แสดงให้เห็นพัฒนาการตัวละคร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งขัดแย้งกับสภาพโครงสร้างการเมือง ศาสนา ของประเทศเหล่านั้น ที่มีข้อห้ามมากมาย ทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รักร่วมเพศคือ ผิดศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย มันคือความผิดมหันต์ หรือแม้แต่ในจีน ที่มีนโยบายลูกคนเดียวมาก่อน
 
ในปัจจุบันกลุ่มซีรีส์วายในจีนนั้น ได้รับความนิยม และเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่คอนเทนต์ไปแบบถูกกฏหมายไม่ได้ จึงเป็นลักษณะการรับชมทางออนไลน์ แฟนซับต่างๆ มียอดวิวหลายล้านวิวต่อเรื่อง นักแสดงไทยไปโชว์ตัว ทำกิจกรรมได้ เสื้อผ้าของที่ระลึกก็ทำเงินได้ดี  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นักแสดงที่มีคนจีนรู้จักและชื่นชม บางคนจะมี FC ตามกลับมาเมืองไทยด้วยเลย เรียกได้ว่าแทบจะเหมาลำกลับมาไทยด้วย ถือว่าคอนเทนต์ซีรีส์วายของไทย เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ในระดับโรงเรียน ซึ่งประเทศจีน ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน
 
ละครรีเมค
 
ละครรีเมค เป็นคอนเทนต์อีกแนวที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มประเทศอาเซียน คือละครที่นำเอาละครที่ดังของบางประเทศมาทำใหม่ในเวอร์ชั่นไทย เพราะมีความใกล้ชิดทางเวลา ซึ่งในฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย จะชอบเรื่องแนวอุดมการณ์ความรัก การแสวงหาตัวเองของหนุ่มสาว และความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เป็นความใกล้ชิดทางเวลา ที่เชื่อมโยงได้
 
ละครรีเมคไม่ได้ดังทุกเรื่อง ถ้าเรื่องใดที่ร้อยเรียงแล้วมีความรัก คนจะเชื่อมโยงได้มากกว่า และการแสวงหาตัวตนของคนเดินไปพร้อมๆกับความรัก ต้องทำให้เรื่องเป็นสากล และใส่ความเป็นไทย เช่นละครรีเมคจากไต้หวัน /   เกาหลี เธอคือพรหมลิขิต” ของช่อง One ที่ดังๆมากๆในตลาดเหล่านี้
 
Tagged