“เปิดตัวเลขมูลค่าลิขสิทธิ์ละครไทยไปต่างประเทศ “ขุมทรัพย์ใหม่” ของธุรกิจไทย” (ตอนที่ 2 )

Byพันตา (Panta)

เผยมูลค่าลิขสิทธิ์ละครไทยส่งออก หากจะให้มีรายได้สูงต้อง Simulcast ออกอากาศพร้อมไทย จะขายได้มากกว่า 4 หมื่นเหรียญ ต่อตอน

เมื่อตอนที่แล้วจากข้อมูลของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยเรื่องของละครไทยในตลาดประเทศอาเซียน และจีน ที่มีความนิยมที่แตกต่างกัน และแนวโน้มทิศทางคอนเทนต์ที่น่าจะเติบโต ในการสัมนาของโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้จัดเวทีระดมสมองเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในตอนนี้ข้อมูลจะลงรายละเอียดข้อมูลที่อาจารย์อัมพรรวบรวมไว้ในเอกสาร “ข้อมูลละครไทยในตลาดอาเซียนและจีน” โดยระบุว่า มีช่องทีวีดิจิทัล 5 ช่องที่ขายลิขสิทธิ์ละครไปในต่างประเทศ ตั้งแต่ช่อง One ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 และช่องทรูโฟร์ยู

ตลาดประเทศจีน เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่ผู้ผลิตละคร และช่องทีวีดิจิทัลมุ่งความสนใจไปมาก แต่การเติบโตของช่องทางออนไลน์ OTT ทำให้ตลาดยิ่งกว้างมากขึ้น แต่รูปแบบการขายลิขสิทธิ์มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีกลุ่มแฟนซับ ที่แปล ซับไตเติ้ลของละครไทย ที่ออกอากาศไปแล้ว ลงช่องทางออนไลน์ หาดูได้ทั่วไป ทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นการขายลิขสิทธิ์แบบ Simulcast หรือ การออกอากาศแบบคู่ชนานแทน ซึ่งจะได้ราคาค่าลิขสิทธิ์สูงขึ้นไปด้วย

“ ปกติลิขสิทธิ์ละครที่ขายไปจีนแบบที่ ละครออนแอร์จบไปแล้ว จะขายได้ตอนละ 2,000 -10,000 เหรียญสหรัฐต่อตอน แต่เมื่อขายแบบ Simulcast จะได้ถึงตอนละ 30,000 – 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่านั้นต่อตอนเลยทีเดียว” ผช ศ ดร.อัมพร กล่าว

อย่างไรก็ตามจำนวนตอนของตลาดละครไทย กับต่างประเทศไม่เหมือนกัน จากข้อมูลพบว่า ละครที่ออกอากาศในไทย 15 ตอน จะเทียบเท่า 37.5 ตอนของต่างประเทศ ดังนั้น การขายลิขสิทธิ์แบบ Simulcast จึงยิ่งมีรายได้สูงมากขึ้น

เอ็กซ์แซกท์ บุกเบิกต่างประเทศรายแรก

ค่ายเอ็กซ์แซกท์ ผู้ผลิตละครที่ไปเปิดตลาดต่างประเทศก่อนใคร ตั้งแต่ครั้งที่ ยังเป็นผู้ผลิตละครในช่อง 5 โดยเริ่มในปี 2546 จนปัจจุบันเป็นช่อง One และยังมีคอนเทนต์ในกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้บุกเข้าตลาดประเทศจีน เวียดนาม  กัมพูชา พม่า และฟลลิปปินส์ ซึ่งเดิมขายไปให้กับสถานีทีวีของแต่ละประเทศ แต่ต่อมาเมื่อตลาดออนไลน์ OTT มาแรง ก็ขายสู่ช่องทางทีวีออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศจีน มีการทำสัญญาขายคอนเทนต์กับ Tencent  Youku และ Iqiyi

แนวคอนเทนต์ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่ขายลิขสิทธิ์นั้น จะมีหลากหลายแนว โดยราคาค่าลิขสิทธิ์ต่อตอนสำหรับการขายแบบ Simulcast ในประเทศจีนอยู่ที่ 30,000-40,000 เหรียญสหรัฐต่อตอน หากเป็นการขายแบบไม่ Simulcast คือการขายเป็นเทปจะได้ประมาณ  5,000-7,000 เหรียญสหรัฐต่อตอน  ส่วนในตลาดเวียดนามได้ตอนละ 2,000-3,000 เหรียญต่อตอน

ช่อง 3 เริ่มลุยหนัก หลังหยุดไปช่วงปี 53-59

ช่อง 3 ได้เริ่มขายลิขสิทธิ์ละครไทยครั้งแรกในปี 2552 แต่ได้หยุดไปในช่วงปี 2553 -2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดละครไทยในประเทศเติบโต ได้รับความนิยมสูง สามารถสร้างรายได้จากค่าโฆษณาได้มาก แต่หลังจากการเกิดทีวีดิจิทัลได้สักระยะ และพิษของ Technology Disrupt  ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ละครทุกช่อง หันมาหาช่องทางเพิ่มรายได้จากการขายลิขสิทธิ์

แนวละครของช่อง 3 ที่ได้รับความนิยม มีทั้งแนวรักใสๆ เรื่องที่เรตติ้งในไทยดี ส่วนในเวียดนามนั้น จะนิยมละครแนวดราม่าแรงๆ โดยเป็นการขยายทางธุรกิจกับผู้ซื้อผู้ขายหลายบริษัท ตั้งแต่โกลเด้น ทาวน์ บริษัท ฮัน มีเดีย บริษัท VCAN และ บริษัท JKN ในประเทศ จีน เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งผ่านสถานีทีวี และทีวีออนไลน์ ในประเทศจีน ตั้งแต่ Tencent  Youku และ Iqiyi

ช่อง 7 ฟื้นขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศปีนี้

ละครช่อง 7 เคยมีการขายลิขสิทธิ์ไปตลาดต่างประเทศในปี 2553 แต่เป็นการขายละครเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น เป็นสถานการณ์เช่นเดียวกับช่อง 3 ที่ทั้งสองช่องอยู่ในยุคทองที่เป็น 2 ช่องที่ทำตลาดละครมีรายได้สูงสุดในประเทศ รายได้จากค่าโฆษณาสูงมาก ดังนั้นละครช่อง 7 ที่ออกอากาศในตลาดต่างประเทศที่ผ่านมา จึงเป็นละครเก่าๆเป็นส่วนใหญ่

ตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่ช่อง 7 ต้องการขยายไป แต่เนื่องจากลักษณะของละครช่อง 7 ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทำไปออนแอร์ไป อาจจะต้องขายในรูปแบบเดิม ที่รอละครจบ แล้วส่งเซ็นเซอร์ไปที่ประเทศจีน ราคาค่าลิขสิทธิ์จึงอาจจะถูกว่ารูปแบบ Simulcast โดยอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐต่อตอน โดยจะเน้นละครแนวดราม่า ความรักเป็นหลัก

ต้องรอดูว่า การกลับมาใหม่มุ่งตลาดอินเตอร์ของช่อง 7 ครั้งนี้ จะรุกหนักแบบเต็มตัวเมื่อไหร่  เรื่องใดจะก้าวสู่การออกอากาศแบบ Simulcast

ตลาดของช่อง 8 และทรูโฟร์ยู

ละครช่อง 8 เป็นละครที่เน้นดราม่าหนัก แนวชิงรักหักสวาท เป็นอีกแนวที่ได้รับความนิยมในแถบประเทศเวียดนาม และ กัมพูชา โดยที่ช่อง 8 ขยายตลาดไปตั้งแต่ปี 2555 ก่อนยุคทีวีดิจิทัล เป็นในสมัยที่ช่อง 8 เติบโตในธุรกิจทีวีดาวเทียม โดยขายลิขสิทธิ์ได้ตอนละประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อตอน ในตลาดเวียดนาม

ส่วนช่องทรูโฟร์ยู เพิ่งเกิดขึ้นในยุคทีวีดิจิทัล แต่ได้พยายามขยายสู่ตลาดต่างประเทศก่อนช่องอื่นในยุคทีวีดิจิทัล แม้ว่าความนิยมของละครแต่ละเรื่องในประเทศไทยจะไม่ดีนัก แต่ก็ได้รับความนิยมในต่างประเทศ จากละครรีเมค จากซีรีส์เกาหลี ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัท เฮโล โปรดักชั่น เช่นเรื่อง Princess Hours

โดยสรุปแล้ว คอนเทนต์ละครไทย เป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจ มีศักยภาพดึงดูดความสนใจของผู้ชมทั้งอาเซียนและจีน  เนื่องจากมีวัฒธรรมที่ใกล้ชิดกัน เข้าใจ และซึมซาบอารมณ์ละครที่สื่อออกมาได้ อยู่ที่รูปแบบการขายลิขสิทธิ์ และการวางพล็อตเรื่องที่เข้ากับความนิยมในแต่ละประเทศ ซึ่งผู้ผลิตละครแต่ละช่องต้องศึกษาแนวโน้มความนิยมของแต่ละประเทศที่จะส่งออกละคร ให้สามารถออกอากาศได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ

เมื่อตลาดละครไทยเพียงแค่ในประเทศ ไม่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ ตลาดต่างประเทศจึงกลายเป็น     “ขุมทอง” แหล่งใหม่ของละครไทยไปแล้ว  แต่การหวังรวยด้วยเงินก้อนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผลิตให้เสร็จล่วงหน้าไม่ต่อกว่า 3 เดือน  เงินช่างหอมหวาน แต่การทำงานให้ผ่านกติกา โดยเฉพาะเซ็นเซอร์จีนนั้นก็ช่างยากเย็น แสนเข็ญจริงหนอ

 

Tagged