ส่งไม้ต่อ “มาลีนนท์” ใครจะเป็นคนต่อไป ?

Byพันตา (Panta) บทวิเคราะห์

นับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ในโอกาสวันที่ 26 มี.ค.63 วันขึ้นปีที่ 51 ของกลุ่มช่อง 3 สถานีโทรทัศน์เอกชนรายที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อ ประชุม มาลีนนท์” น้องชายคนเล็กของตระกูล มาลีนนท์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหาร เนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ  แต่การจากไปครั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในด้านนโยบายการดำเนินงานและเป็นการส่งไม้ต่อให้กับครอบครัว มาลีนนท์” คนต่อไป

อาณาจักรช่อง 3 ก่อตั้งขึ้นโดย วิชัย มาลีนนท์” ในปี 2510 ก่อร่างสร้างตัวด้วยความอุตสาหะ บางช่วง ซวนเซ แต่สุดท้ายก็เติบโตอย่างต่อเนื่องจนเป็นช่องอันดับ 2 ของประชากรรวมและเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มคนกรุง และคนเมืองในยุคทีวีแอนะล็อก  จาก “เจ้าสัววิชัย” ที่สร้างรากฐานให้ช่อง 3 เติบใหญ่เป็นที่ยอมรับ สานต่อด้วยทายาทรุ่นลูก ทั้ง 8 คน เจนเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูล มาลีนนท์” ได้แก่ ประสาร มาลีนนท์ ประวิทย์ มาลีนนท์ ประชา มาลีนนท์ รัตนา มาลีนนท์ นิภา มาลีนนท์ อัมพร มาลีนนท์ ประชุม มาลีนนท์ และรัชนี นิพัทธกุศล

ด้วยรูปแบบของครอบครัวเชื้อสายจีน ลูกชายคือกำลังหลักในการบริหารธุรกิจ เจ้าสัววิชัย” วางแนวทาง ให้ลูกๆ เข้ามาช่วยในการบริหารบริษัท ตามความถนัดของแต่ละคน ประสาร” เหมือนพ่อ เป็นพี่ใหญ่ของครอบครัว ช่วยดูแลภาพรวมธุรกิจ เป็นพี่ ที่น้องๆให้ความเคารพ  โดยมีประวิทย์ “ ที่เจ้าสัววิชัย” วางอนาคต ให้ลาออกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาดูแลงานด้านการตลาด ประชา” ดูแลด้านการผลิต และ ประชุม” น้องเล็ก มาทีหลังสุด ช่วยดูแลเรื่องเทคโนโลยี

ในกลุ่มลูกผู้ชาย “ประชา” คือหนึ่งใน “ลูกรัก” ของ “เจ้าสัววิชัย” เสมือนเป็น “ลูกที่นำโชค” สร้างความโชคดี ให้กับธุรกิจของตระกูลต่อเนื่อง มีการต่อสัญญาสัมปทานอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563  ด้วยอุปนิสัยความเป็นคนที่กว้างขวางของ“ประชา” แต่ด้วยความสนใจด้านการเมือง “ประชา” จึงก้าวออกจากงานธุรกิจ หันไปมุ่งหน้าทางการเมืองอย่างเต็มที่  จนต้องหนีคดีต้องโทษมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ “ประวิทย์” รับหน้าที่หลักในการบริหารเป็นด่านหน้า

ในขณะที่ลูกชาย แต่ละคนมีบทบาทอย่างชัดเจน แต่ลูกสาวทั้ง 4 คนนั้น แม้จะไม่ค่อยออกสื่อ แต่ทุกคน ล้วนมีบทบาทสำคัญ เป็นคนเบื้องหลังที่สำคัญของตระกูลเช่นกัน

“รัตนา มาลีนนท์” ลูกสาวตนโต รับหน้าที่ดูแลด้านการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเดินหน้าธุรกิจ “รัชนี นิพัทธกุศล” ลูกสาวคนเล็ก รับผิดชอบงานด้านการตลาด การขายโฆษณา และ “อัมพร มาลีนนท์” ลูกสาวคนที่ 3 ที่เริ่มต้นในสายงานการผลิตรายการ จากเดิมที่ช่วย “ประชา มาลีนนท์” ก็ก้าวเข้ามาดูแลงานด้านการผลิตเต็มตัว ทำให้ละครของช่อง 3 ครองใจคนเมืองในยุคแอนะล็อก

ส่วน “นิภา มาลีนนท์ “ มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท  แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาบริหารธุรกิจโดยตรง แต่ “นิภา” เปรียบเสมือน “แม่บ้าน” ของตระกูล “มาลีนนท์” ผู้ดูแลทุกอย่างในครอบครัว รวมถึงการดูแล “เจ้าสัววิชัย” ในช่วงที่ป่วยหนักด้วย กลุ่มลูกสาว “มาลีนนท์” เป็น “Gen 2” ที่เข้าใจและเติบโตกับธุรกิจนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น

แม้ว่าภาพภายนอก “เจ้าสัววิชัย” จะให้เครดิต “ลูกชาย” ในการมีบทบาทเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่ความเป็นจริง เขาเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมกับลูกทุกคน โดยแบ่งสินทรัพย์และมรดกให้กับลูกทั้ง 8 คนอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด รวมถึงหุ้นในบริษัท บีอีซี เวิลด์ ที่สร้างความมั่งคั่งต่อเนื่องมายัง Gen 3 รุ่นหลานของตระกูล “มาลีนนท์”

การเข้ามาดูแลธุรกิจต่อเนื่องยาวนานของ “ประวิทย์ ” ด้วยภาพลักษณ์ที่อ่อนน้อม อ่อนโยนและสานความสัมพันธ์กับคนทุกวงการ  ก่อเกิดการสั่งสมบารมีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่อง ทุกคนเรียกว่า  “นาย” ได้รับความเคารพ จากทั้งพนักงานและผู้ผลิตรายการภายนอก แต่ “ประวิทย์” ก็ต้องออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และเปิดทางให้ พี่ใหญ่ “ประสาร” รับตำแหน่งแทนเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2555

การเป็น “พี่ใหญ่” ที่ทุกฝ่ายให้ความนับถือ ช่วยสานต่อความสำเร็จทางธุรกิจต่อเนื่อง แถมยังได้ “ประวิทย์” เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจด้วย  ผนึกเป็นความแข็งแกร่งจนครอบครัว”มาลีนนท์”ตัดสินใจขยายธุรกิจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล จนได้ดำเนินการทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่อง

การจากไปของ “ประสาร” ในเดือนต.ค.2559 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบริหารใหญ่อีกครั้ง เมื่อถึงคิวน้องเล็ก “ประชุม” เข้ามาบริหาร ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของพี่น้องฝ่ายผู้หญิงทั้ง 4 คน ที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่น กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่  โดย “ประวิทย์” ลาออกจากตำแหน่งบริหารในบริษัท เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2559  ในขณะที่ “ประชุม” รับตำแหน่งผู้นำทัพอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2560  ตามมาด้วยการขายหุ้นในกลุ่มครอบครัว “ประวิทย์” ที่รวมถึงลูกๆของ “ประวิทย์” ทั้งหมดอีกด้วย

การถอนตัวของกลุ่มครอบครัว “ประวิทย์” เป็นไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเสียงลือว่า มีปัญหาระหว่างกลุ่มพี่น้อง Gen 2 “มาลีนนท์” เพราะ “อิทธิพล”ของ “ประวิทย์” ที่มีมาก เสมือนเป็นเจ้าของบริษัทเพียงคนเดียว และเล่าลือเกี่ยวกับการสนับสนุนทุนให้กับผู้ผลิตบางราย

อาณาจักรช่อง 3 ภายใต้ “ประชุม”

“ประชุม” มารับตำแหน่งบริหาร พร้อมกับแนวความคิดที่ว่า จะต้องหา “ผู้บริหารมืออาชีพ” เข้ามาช่วยในการบริหาร สร้างความเชื่อมั่นทำให้ Gen 2 ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย จะได้ถึงเวลาพักผ่อนเสียที ซึ่ง “ประชุม” ให้ความเชื่อมั่นว่า ผู้บริหารมืออาชีพที่คัดสรรมานั้น จะช่วยสร้างความเติบโตของกลุ่มช่อง 3 ได้อย่างต่อเนื่อง ในยุคดิจิทัลที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากในอุตสาหกรรมทีวีด้วยกันเองกว่า 20 ช่อง และคู่แข่งรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี เช่น คอนเทนต์ออนไลน์ หรือ OTT

“ประชุม” คาดหวังต่อทีมผู้บริหารอาชีพที่เขาเดินหน้านำเข้ามาอย่างมาก หวังจะเอาความสามารถของคนที่มีชื่อเสียงมาบริหารงาน แต่ปรากฏว่า ชื่อเสียงของผู้บริหาร ที่มาจากสาขาอาชีพอื่น ต้องมาพบเจอกับ ทิศทางการดำเนินงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างธุรกิจทีวีที่เป็นงานศิลปะ ความพึงพอใจของผู้ชม ยากที่จะกะเกณฑ์เป็นสมการสำเร็จรูป เปรียบเทียบกับธุรกิจที่แม้จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่แข่งขันกันเพียงไม่กี่ราย อย่างสายโทรคมนาคมที่ผู้บริหารใหม่มีประสบการณ์มา

ธุรกิจทีวี มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน ยุคทีวีดิจิทัล นอกจากที่มีมากกว่า 20 กว่าช่องแล้ว ยังมีเรื่อง “Disruptive Technology” เข้ามาเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน การหวังพึ่งผู้บริหารคนนอกอย่างเต็มที่ ทำให้การดำเนินงานต้องพบกับปัญหา ประสบการณ์ของผู้บริหารที่เลือกเข้ามา ไม่สามารถเอาหลักวิทยาศาสตร์ มาแก้ปัญหาและวางทิศทางของธุรกิจทีวีดิจิทัลได้  งานวิทยาศาสตร์กับงานศิลปะ ทักษะการบริหารแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ระยะเวลาเพียง 1 ปีผ่านไป ผู้บริหารคนดังที่ชื่อเสียงดีในหลายแวดวง ต้องลงจากตำแหน่ง  “ประชุม” ต้องสลับกลับมารับบทแม่ทัพ เพียงระยะเวลาไม่นาน กลุ่มบริหารที่มากับผู้บริหารทีมแรกก็ต้องทยอยจากไป  เมื่อผลประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่อง จนต้องพบกับคำว่า “ขาดทุน” แต่การณ์กลับไม่เป็นข้อเตือนใจ  เมื่อ “ประชุม” ได้นำผู้บริหารคนนอกชุดที่ 2 เข้ามา พร้อมกับให้อำนาจในการบริหารเต็มที่  โดยคาดหวังว่าชื่อเสียงของทีมใหม่นี้ จะเข้ามาแก้ปัญหาภายใน และสร้างรายได้ใหม่จากการ go digital

ทีมผู้บริหารใหม่ ประกาศกลยุทธ์วางเป้าหมายรายได้ของกลุ่มช่อง 3 ใหม่สวยหรู ว่าจะสร้างรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากรายได้โฆษณาที่เป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ ช่องทางรายได้ใหม่ประกอบไปด้วย รายได้จากคอนเทนต์ออนไลน์ ขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ การบริหารศิลปิน และกิจกรรมต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงขึ้น จากรายได้ส่วนนี้ 17% จะดันให้เป็น 35% ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2566 โดยรายได้โฆษณาที่มีสัดส่วนถึง 83% จะลงมาอยู่ที่ 65%

รายได้จากโฆษณาทีวี เป็นเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจทีวี แม้ว่าจะมีปัญหาจากคู่แข่งธุรกิจดิจิทัล แต่รายได้จากโฆษณายังเป็นรายได้หลักที่สำคัญ ในขณะที่รายได้จากช่องทางออนไลน์ ดิจิทัล ยังมีอัตราไม่สูงนัก เวลาผ่านไป ทีมบริหารที่เข้ามาเสริมทัพ เป็นทัพใหม่ที่ใหญ่โตกว่าเก่ามาก กลับมองว่าออนไลน์เป็นโอกาส มากเกินไป  จนเหมือนจะละเลยการขายโฆษณาที่เป็นรายได้ธุรกิจหลัก

ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากวงการเอเจนซี่ให้ข้อคิดอีกมุมหนึ่งว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก จากทีมขายโฆษณาของ ช่อง 3 เพราะมีการลดแลกแจกแถมสูงมาก จากการเปลี่ยนแปลงทีมขายของช่อง 3 ที่มากับผู้บริหารใหม่ทั้ง 2 ชุด  ล้วนมาจากทีวีช่องเล็ก ประเมินค่าการขายของช่อง 3 ผิดเป้า ยอดขายหล่นลงมากโดยเฉพาะปีล่าสุด 2562 ซึ่งสำหรับเอเจนซี่แล้ว นาทีโฆษณาของแถมที่ได้มาเป็นของพรีเมียม ที่เอเจนซี่นำไปสร้างรายได้ จนไม่จำเป็นต้องมาซื้อนาทีโฆษณาในหลายช่วงเวลาของช่อง 3 เพราะตบตีจนได้ของที่ต้องการไปเพียงพอแล้ว จนเหมือนว่าช่อง 3 จะทิ้งโอกาสของตนเองในการหารายได้ไป

จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อผลประกอบการของช่อง 3 จะพบว่ารายได้จากการขายโฆษณาลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่ผ่านมา รายได้ค่าโฆษณา ลดลงจากปี 2561 ถึง 22% จาก 8,643 ล้านบาท มาอยู่ที่ 6,743 ล้านบาท เป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในยุคทีวีดิจิทัลเลยทีเดียว

นอกจากนี้ จากแนวทางทีมบริหารใหม่ได้ประกาศไว้ว่า มุ่งหารายได้ที่ไม่ได้มาจากค่าโฆษณา โดยเฉพาะรายการได้จากออนไลน์ และการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ แต่กลับพบว่า ในปี 2562 รายได้ในส่วนนี้ กลับลดลงเช่นกัน โดยลดลง 8.4% จาก 1,040 ล้านบาทในปี 2561 มาอยู่ที่ 953 ล้านบาท

การดำเนินธุรกิจกลุ่มช่อง 3  โดยทีมใหม่ที่ภาพดูทันสมัย ดูจะมุ่งลดค่าใช้จ่ายมากกว่าการหารายได้  ในมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แล้ว มีความเห็นว่า สิ่งเดียวที่เห็นเป็นรูปธรรมในยุคนี้ กลับเป็นนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของทั้งองค์กร โดยการลดจำนวนพนักงาน มีการประกาศลดในหลายระลอก ตั้งแต่การนำคนเก่าออก การลดคนจากการลดช่อง การปรับทีมข่าว และกำลังจะมีการลดพนักงานอีกอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างที่การลดพนักงานเก่าเป็นไปอย่างเข้มข้น  แต่เบื้องหลังกลับเกิดการสวนทางกันอย่างรุนแรง  เมื่อทีมบริหารใหม่ ทยอยเพิ่มทีมงานใหม่ของตัวเองอย่างต่อเนื่องร่วม 100 คน เข้ามาสวมงานของทีมเดิมเกือบครบทุกส่วน  ด้วยอัตราค่าจ้างและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน  ทำให้เกิดปัญหาความต่างภายในองค์กร  #ทีมใหม่ #ทีมเก่า ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  เกิดกระแสที่คนช่อง 3 เดิมต้องรู้สึกด้อยค่า ทั้งที่พาช่อง 3 มาจนอยู่แถวหน้า

โดยภาพรวมในช่วง 3 ปีของกลุ่มช่อง 3 ยุค “ประชุม” เป็นผู้นำ ที่พึ่งพาทีมงานผู้บริหารที่คัดสรรจากภายนอกองค์กร กลับกลายเป็นว่า เป็นยุคที่กลุ่มช่อง 3 มีผลประกอบการลดลงมากที่สุด จนดูเหมือนยังไม่เห็นช่องทางฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน ดูได้จากปี 2562 ที่ได้เงินชดเชยจากการคืนในอนุญาตทีวี 2 ช่อง จำนวน 820 ล้านบาท จาก กสทช. แต่กลุ่มช่อง 3 ก็ยังขาดทุนถึง 397 ล้านบาท

จนกระทั่ง “ประชุม” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งบริหารไป ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ ในวันเริ่มต้นปีที่ 51 ของกลุ่มช่อง 3   

คนทั่วไปจึงจับตาว่า ผู้รับไม้ต่อของตระกูล “มาลีนนท์” จะเป็นใคร ซึ่งคาดว่าคงหนีไม่พ้น  “มาลีนนท์” ทีมผู้หญิง  Gen 2 ทั้ง 4 คน ที่ต้องกลับมาผนึกกำลังกันอีกครั้ง ในการกลับมากู้สถานการณ์ของกลุ่มช่อง 3

คาดว่า ต่อจากนี้ไป จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และบริหารกันอีกครั้ง เป็นบทพิสูจน์ให้รู้ว่า การบริหารงานโทรทัศน์ไม่ใช่ของง่าย  ชื่อเสียงเดิมและภาพลักษณ์ภายนอก เอามาตัดสินฝีมือการบริหารธุรกิจทีวีดิจิทัลไม่ได้ หลายคนคงจำได้ว่า เจ้าแม่วงการทีวีแอนะล็อก “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ที่ภาพลักษณ์ภายนอกดูเป็นอาจารย์ใหญ่ นำพาความยิ่งใหญ่ให้ช่อง 7 ได้มากมายเพียงไร  

หรือจะถึงเวลาที่ “ครอบครัวมาลีนนท์” จะต้องกัดฟันทิ้งความสบาย เอาความสามารถและประสบการณ์กลับมาบริหารงานอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ดังสำนวนไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

เป้าหมายแรกคงต้องผ่าตัดใหญ่งานหารายได้หลักที่มาจากนาทีโฆษณา เพื่อจะเอารายได้ก้อนใหญ่เป็นกอบเป็นกำกลับคืนมา หลังจากละเลยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี 

อ่านเพิ่มเติม ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง  “ภาพดี ทีเหลว” กลุ่มช่อง 3 ปี 62 ขาดทุนหนักกว่าเดิม

https://www.tvdigitalwatch.com/performance-ch3-year2562/

Tagged