By พันตา
การระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบกับผู้คนทั่วโลก ทั้งเรื่องของชีวิต การทำงานธุรกิจทุกสาขา มาตรการที่เกิดขึ้นเพื่อสกัดโควิด 19 สำหรับประเทศไทยเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ Social distancing และอยู่บ้าน เพื่อชาติ
มาตรการที่เราต้องร่วมกันทำเพื่อชาติ ก็ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปในวงกว้างเช่นกัน รวมทั้งแวดวงทีวีนั้น ก็ต้องรับศึกหนักกันไม่น้อย ตั้งแต่การถ่ายทอดสดรายการกีฬาทั้งหมด เลื่อนออกไป ต่อเนื่องมาจนถึงกองถ่ายรายการและกองถ่ายละครที่มีขนาดใหญ่มีคนมาร่วมจำนวนมาก ก็ต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว เป็นการป้องกันและสกัดไวรัส ตามแนวทาง Social distancing
ช่อง 7 ประกาศนำละครรีรัน “ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์” ละครที่ทำเรตติ้งสูงสุดของปี 2562 มี “เวียร์ ศุกลวัฒน์” แสดงนำ มาออนแอร์ต่อจาก “สะใภ้อิมพอร์ต” เนื่องจากละคร “พรหมพิศวาส” ที่มีคิวออกอากาศต่อถ่ายทำไม่ทัน ช่อง 7 จึงต้องใช้การรีรัน โดยเริ่มตั้งแต่จันทร์ที่ 30 มี.ค.นี้
ช่อง One นำละคร “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ละครดังของช่องในปี 2562 ผลงานสร้างชื่อ “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก” มาออนแอร์ในช่วงเวลา 21.30 น. เริ่ม 30 มี.ค.นี้เช่นกัน
ช่อง 8 ละคร “ปอบผีเจ้า” ประกาศหยุดถ่ายทำ ช่อง 8 จึงจัดละคร “มณีนาคา” และ “สางนางพราย” สองเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงของช่องมาออนแอร์ใน 2 ช่วงเวลา เริ่ม 30 มี.ค.เหมือนกัน
สำหรับช่องอื่นที่ผลิตละคร แม้ตอนนี้จะยังไม่มีประกาศออกมา แต่คาดว่าอีกไม่นานจะประสบปัญหาเดียวถ้วนหน้า เพราะผลิตละครไม่ทันเวลา ทำงานได้ไม่เต็มสูบ
ด้านรายการวาไรตี้ ก่อนหน้านี้มีรายการ “ Idol Paradise” รายการคัดเลือกนักแสดงรุ่นเล็กของช่อง 3 ที่ประกาศหยุดการถ่ายทำและเลื่อนกำหนดการออกอากาศไป ตามมาด้วย “The Brothers” รายการเฟ้นหานักแสดงชายหน้าใหม่ ก็ประกาศเลื่อนตามมา
การผลิตรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ขนาดใหญ่ก็มีผลกระทบแทบทั้งหมด เพราะทุกรายการเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่จำเป็นต้องหยุดกองกันหมด ผู้คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องหยุดทำงาน ขาดรายได้ และคนทำงานบางกลุ่มได้เงินเป็นรายวัน รวมทั้งผู้รับจ้างชมรายการด้วยเช่นกัน ผู้ผลิตหลายรายเริ่มประสบปัญหาขาดรายได้ การหาโฆษณาก็ยากลำบากขึ้น แม้จำนวนคนดูอาจจะมากขึ้นจากนโยบาย Work from Home
จากข้อมูลของนีลเส็น ช่วงระหว่างวันที่ 18-26 มี.ค.63 พบว่า จำนวนผู้ชมทีวีดิจิทัล หลังจากการประกาศของทางการให้ผู้คนอยู่บ้านเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงวันทำงาน ที่ปกติยอดผู้ชมจะน้อยกว่าช่วงวันหยุด แต่ล่าสุดตัวเลขตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.63 ซึ่งเป็นวันที่กรุงเทพมหานครประกาศปิดสถานที่เสี่ยงเป็นต้นมา ตัวเลขผู้ชมก็สูงกว่ายอดคนดูในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม จำนวนคนดูที่เพิ่มขึ้นนี้ ไม่ได้การันตีว่าเม็ดเงินโฆษณาจะเพิ่มขึ้น หลายบริษัทอาจต้องตัดใจทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
ช่องทีวีดิจิทัลทุกช่อง จึงต้องเร่งจัดทำแผนสำรองสำหรับผังการออกอากาศ เพื่อรองรับผลกระทบของ โควิด 19
นอกจากปัญหาข้างต้น อุปสรรคอีกอย่างของช่องทีวีดิจิทัล ก็คือ ช่องทางคอนเทนต์ทางออนไลน์ ที่มีระบบบอกรับสมาชิกมากมาย ต่างพร้อมนำเสนอคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้ชม อยู่ที่ว่าใครจะนำเสนอคอนเทนต์ได้น่าสนใจ ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า ตั้งแต่ปี 2557 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องเผชิญมรสุมระลอกแล้ว ระลอกเล่าครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่โหดร้ายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะถูกจำกัดวงการแพร่กระจาย จนชีวิตผู้คนจะกลับมาสู่ สภาพปกติได้เมื่อไหร่
ทุกก้าวจากนี้จึงไม่ง่าย การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีและการประคับประคองคู่ค้าทางธุรกิจ จึงมีความละเอียดอ่อน วิสัยทัศน์ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารต้องระดมมาใช้ ขอส่งแรงใจและความหวังให้วิกฤตของประเทศและวงการทีวีครั้งนี้ ผ่านไปในเร็ววัน