By พันตา
ช่วงที่ธุรกิจทีวีดิจิทัล กำลังเผชิญหน้าสถานการณ์ภาวะโลกตกต่ำ เศรษฐกิจไทยลูกค้าบอกไม่ค่อยอยากใช้เงิน หรือเลือกใช้เงินในขอบเขตที่จำกัด เพราะไม่มั่นใจในกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้รายได้จากการขายนาทีโฆษณาลดลงทั้งระบบ จนบางคนไปโทษว่าสาเหตุมาจาก Technology disrupt หรือ Digital disrupt จนทำให้ช่องทีวีดิจิทัล หลายช่อง หันไปหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจ TV Shopping ที่หลายช่อง กระโจนเข้าใส่ โดยหวังจะมีรายได้ก้อนโตจากธุรกิจนี้มาทดแทน
แกรมมี่เดินหน้าลุยธุรกิจ Home Shopping ทุ่ม 70 ล้านถือหุ้น 100% ใน O Shopping
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ชี้แจงในเอกสารประกอบผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของปี 2562 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไว้ว่า ในไตรมาสที่ 3 บริษัทได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จากบริษัท ซีเจ อีเอ็นเอ็ม จำนวน 2,646,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 26.45 บาท ส่งผลให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง เพิ่มจาก 51% เป็นร้อยละ 100%
จากข้อมูลดังกล่าวนั้น มูลค่าที่ กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ใช้ในการเพิ่มทุนทั้งหมดเป็นจำนวน 69,986,700 บาท และได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้เข้ามาถือหุ้นอย่างเป็นทางการ 100% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง ก็เลยใคร่รู้ว่าทำไม ซีเจ จึงล่าถอยหากธุรกิจนี้ทิศทางดี
ผลประกอบการของบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซี เจ โอ ช็อปปิ้ง จำกัด
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้งนี้ธุรกิจ TV Home Shopping นี้ กลุ่มแกรมมี่ได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท ซีเจ อีเอ็นเอ็ม ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องธุรกิจ Home Shopping มาตั้งแต่ปี 2555 สำหรับรายได้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – 2561 มีรายได้เติบโตทุกปี จาก 1,143.85 ล้านบาท ในปี 2557 มาอยู่ที่ 2,307.70 ล้านบาท ในปี 2561
หากดูแค่รายได้ ดูเหมือนธุรกิจ Home Shopping รุ่งเรืองมาก มียอดขายเติบโตสูง แต่เมื่อดูตัวเลขผลกำไร ขาดทุน จะเห็นว่า บริษัทเริ่มมาทำกำไรในปี 2560 จำนวน 8.58 ล้านบาท และเพิ่มมาเป็น 20.80 ล้านบาทในปี 2561 เรียกได้ว่า “รายได้หลักพันล้าน แต่กำไรหลักสิบล้านเท่านั้น”
สำหรับไตรมาส 3/ 2562 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีรายได้จาก TV Home Shopping อยู่ที่ 387 ล้านบาท ลดลง 33.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้สาเหตุว่า มาจากการแข่งขันในธุรกิจนี้สูงขึ้น
ผลประกอบการบริษัท อาร์ เอส ไตรมาส 3 ปี 2562
อาร์เอส รายได้ธุรกิจขายสินค้าลดลง 3.7%
สำหรับบริษัท อาร์เอส ผู้บริหารทีวีดิจิทัลช่อง 8 แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 / 2562 ไว้ว่า ภาพรวมมีรายได้อยู่ที่ 886.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.3 ล้านบาท หรือ 5.9% และมีกำไรอยู่ที่ 92.4 ล้านบาท ลดลง 14.2 ล้านบาท หรือ 13.4 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 โดยอาร์เอสระบุว่า เป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจพาณิชย์ ขายสินค้าลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้า รวมถึงธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะทีวิดิจิทัลลดลง แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเพราะมีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต
ทั้งนี้ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ MPC เป็นการโฆษณาและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเองและของพันธมิตรผ่านช่องทางสื่อของบริษัททั้ง ช่อง8 ทีวีดาวเทียม และวิทยุรวมถึงสื่อโทรทัศน์ช่องอื่นที่เป็นพันธมิตรช่องทางออนไลน์และ ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ โดยมีรายได้อยู่ที่ 442.5 ล้านบาท ลดลง 17 ล้านบาท หรือ 3.7% โดยที่รายได้ส่วนนี้คิดเป็นกลุ่มรายได้หลัก 49.9% ของรายได้รวมทั้งหมด
ในขณะที่ธุรกิจสื่อ ที่รวมถึงทีวีดิจิทัลและวิทยุของอาร์เอสลดลง 9.9% มีรายได้อยู่ที่ 270.5 ล้านบาท จากการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาทีวีลดลงทั้งอุตสาหกรรม
ผลประกอบการบริษัท ทีวี ไดเร็ค ไตรมาส 3 ปี 2562
ทีวี ไดเร็ค ไตรมาส 3 กำไร 18.8 ล้านบาท
ทีวี ไดเร็ค เป็นรายใหญ่ในวงการ Home Shopping ของไทย มีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 3/ 62 อยู่ที่ 1,096.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.34% แม้จะมีกำไร แต่กำไรลดลงถึง 44.71% โดยมีกำไรอยู่ที่ 18.80 ล้านบาทเท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจาก มีค่าใช้จ่ายสูงจากการขาย และการทำโปรโมชั่น
ส่วนช่องเวิร์คพอยท์ ที่ดูเหมือนว่าจะพยายามมุ่งเน้นการหารายได้อื่นๆ เพื่อทดแทนธุรกิจทีวี ที่กำลังได้รับผลกระทบมาก ทั้งจากรายได้โฆษณาที่มีผลจากเรตติ้งของช่องลดลง และไม่มีรายการใหม่ที่สร้างกระแสความนิยมได้ในช่วงนี้ ก็มีรายงานว่า รายได้ของธุรกิจ TV Shopping ของไตรมาส 3 นี้อยู่ที่ 61.55 ล้านบาท สูงกว่ารายได้ของไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 21.71 ล้านบาท แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงตัวเลขรายได้จากยอดขาย ไม่ได้มีรายงานเรื่องผลกำไร หรือขาดทุนจากธุรกิจนี้
โดยภาพรวมของธุรกิจทีวี ช้อปปิ้ง ดูแล้ว สวยหรู ทำให้หลายช่องคาดหวังว่าจะมียอดรายได้ดึงดูดน่าสนใจ จนอาจเป็นอนาคตใหม่ แต่ธุรกิจนี้ มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน ทั้งเรื่องการทำโปรโมชั่น การตลาด จ้างพรีเซ็นเตอร์ และที่สำคัญได้แก่ เรื่องการสต็อคสินค้า ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขกำไรอันน้อยนิดจากธุรกิจตามที่กล่าวมา
แม้ว่าตัวเลขมูลค่ายอดขายน่าดึงดูดให้แต่ละช่องอยากจะกระโจนเข้ามา แต่ตัวอย่างของหลายๆช่อง ที่จัดให้มีช่วงเวลาทีวีช็อปปิ้งลงผัง เรตติ้งอันดับความนิยมก็พังทลาย นอกจากช่อง 8 ที่หล่นจากที่ 5 มาต่ำสุดถึงอันดับ 9 มาแล้ว จนต้องหาพาร์ทเนอร์ เพิ่มช่องทางขายสินค้า ทั้งไทยรัฐทีวี และล่าสุดที่ไปเช่าเวลาของช่องเวิร์คพอยท์เพื่อขายสินค้า
อีกทั้งช่องเวิร์คพอยท์เองที่จัดรายการทีวี ช้อปปิ้งลงผังช่วงก่อนหกโมงเย็น ก่อนเข้าเคารพธงชาติ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายการ “ไมค์หมดหนี้” ที่เคยเป็นรายการเรียกเรตติ้งสูงสุดประจำวันของช่อง และเคยเป็นที่ 1 ในช่วงเวลาที่ออกอากาศเมื่อเทียบกับทุกช่อง แต่มาวันนี้เมื่อขุดกับดักให้กับตัวเอง เรตติ้งลดก่อนหกโมง
“ไมค์หมดหนี้” ก็ต้องตะกายขึ้นจากกับดักที่ผู้บริหารขุดไว้ให้ตนเองเดินสะดุด “ไมค์หมดหนี้” เรตติ้งหายไปจากช่วงที่เคยได้สูงสุดเกือบครึ่งของที่เคยได้ ปล่อยให้คู่แข่งดาหน้ากันแซงขึ้นไปเป็นแถวหน้าแทน
รายการขายสินค้า เมื่อมีมากกันในหลายช่อง ตลอดทั้งวัน ก็เลยกลายเป็นเหมือนยาขม ผู้ชมระอาหันหน้าหนี จึงมีผลต่อเรตติ้งโดยรวมของรายการที่ออกอากาศลดลงต่อเนื่อง เมื่อเรตติ้งตกก็จะมีผลต่อรายได้โฆษณาที่ยังเป็นกระเพาะใหญ่ของช่องชั้นนำ มิหนำซ้ำ เมื่อคนดูลดลง ทีวี ช้อปปิ้งเอง โอกาสขายได้ก็ลดลงไปด้วยเป็นเงาตามตัว
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารทีวีจึงเป็นสิ่งสำคัญ จะนำพาช่องตัวเองไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ด้วยความรุ่งเรือง หรือจะพาช่องตัวเองลงบ่อกับดัก ฝังตัวเอง ความรุ่งเรืองก็จะกลายเป็นความรุ่งริ่ง
“แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” คือ ภาษิตไทย ที่เตือนใจคนมาแล้วหลายยุคหลายสมัย คนไทยทั่วไปต่างก็เข้าใจความหมายกันดี คนทีวีไม่ต้องกลัวพระเจ้า หรือฟ้าดินลงโทษ แต่ควรจะกลัว “คนดู” ลงโทษ เพราะบทลงโทษนั้นพบเห็นเป็นที่ประจักษ์กันมาหลายช่อง หลายยุค หลายสมัยแล้ว นะจ๊ะ ขอบอก