“เงินหมดเมื่อไรก็แวะมา” กสทช.ช่วยแพลนบี หนุนลิขสิทธิ์โอลิมปิก 2020

กสทช.
Credit : Background Images of The moving grass surface at Sapporo Dome (This file is licensed under the Creative Commons Attribution 2.0 Generic license.)

หลังจากที่แพลนบี ร่วมกับเดนท์สุ เอเจนซี่จากประเทศญี่ปุ่น ออกตัวแรงในการเป็นตัวแทนบริหารลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก 2020 สำหรับทีวีในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยการประกาศว่าจะเดินหน้าขายลิขสิทธิ์จับมือกับ 4 ช่องทีวีดิจิทัลเพื่อเข้ามาถ่ายทอดสด แต่สุดท้ายก็ไม่ลงตัว ดีลไม่สำเร็จ จนแพลนบี และเดนท์สุ หันมาหาหน่วยงานภาครัฐ เป็นตัวช่วยสุดท้าย ซึ่งหวยก็มาตกกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า กกท. และกสทช.ได้เสนอเรื่องรอเข้าคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติให้ทั้งสองหน่วยงานจัดสรรวงเงิน หน่วยงานละไม่เกิน 240 ล้านบาท รวมเป็นไม่เกิน 480 ล้านบาท ในการให้การสนับสนุนการถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ทางทีวีดิจิทัล โดยที่คาดว่ากกท.จะมีเงินสนับสนุนบางส่วนจากเอกชน ส่วนกสทช.จะเป็นการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.

สาเหตุที่กสทช.ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากแพลนบี ได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือจากกสทช.จากกฎ Must Have  หรือหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ผู้ได้ลิขสิทธิ์มาจะต้องออกอากาศในทีวีดิจิทัล โดยกีฬาโอลิมปิกเป็นหนึ่งใน 7 ประเภทรายการกีฬา ที่ประกอบด้วย ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

อย่างไรก็ตามลิขสิทธิ์ที่แพลนบี และเดนท์สุได้มานั้น ครอบคลุมทั้งหมด 4 รายการได้แก่ โอลิมปิก 2020 โอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว โลซาน 2020 โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 และโอลิมปิกเยาวชน ดาการ์ 2022 ซึ่งลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่จะจัดในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2563 เป็นรายการที่มีมูลค่าสูงสุด เนื่องจากเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเฉพาะค่าลิขสิทธิ์ของ 4 รายการนี้ ไม่รวมค่าดำเนินการถ่ายทอด มีมูลค่าราว 15 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้มีรายงานข่าวด้วยว่าหากได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐจะมีการจัดการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกผ่านทางทุกช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งจะต้องมีการเจรจารายละเอียดกันอีกครั้ง

ครั้งนี้นับเป็นเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์โอลิมปิกที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการทีวีไทย เพราะที่ผ่านมามหกรรมกีฬาใหญ่ๆระดับโลก มักจะเป็นการร่วมกันของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หรือทีวีพูล ซึ่งคนไทยจะได้ดูกีฬาดีๆครบถ้วน ทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิก

จนมาเอเชียนเกมส์ 2018 ครั้งล่าสุด ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เกิดกับมหกรรมกีฬาเอเชียนเกม์ ที่เดนท์สุ จับมือ เวิร์คพอยท์ถ่ายทอดสด  และต่อมาขายช่วงต่อให้กับช่อง PPTV ถ่ายทอดร่วม แต่ครั้งนี้เวิร์คพอยท์ คงได้บทเรียนที่ล้ำค่ามาก จึงไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีร่วมกับเดนท์สุเหมือนเดิม

ประวัติศาสตร์หน้านี้ เลยต้องมาบันทึกไว้ว่า  เมื่อมีทีวีดิจิทัล คนไทยเกือบอดดูโอลิมปิก เมื่อแพลนบี ไปจับมือกับเดนท์สุ ในการเข้าไปบริหารจัดการลิขสิทธิ์โอลิมปิก หวังรายได้เชิงธุรกิจ แต่สุดท้าย หนทางไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด จนต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามในขั้นตอนสุดท้าย ด้วยการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ

นี่อาจจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการดำเนินงานด้านลิขสิทธิ์รายการกีฬา ที่อ้างคนดูเป็นตัวประกัน ใม่แน่ว่า เอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกครั้งต่อไป อาจจะมีคนหาญกล้า ไปตัดหน้าเอาลิขสิทธิ์มาก่อน แล้วค่อยมาขอเงินจากภาครัฐเหมือนกับ “ผู้ดำเนินการ” ในครั้งนี้

หากการเจรจาขอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ ต่อไปเมื่อใครทำธุรกิจรายการทีวี ที่มีคนดูเป็นตัวประกันเช่นนี้ ก็คงหันหน้ามาพึ่งหน่วยงานรัฐเช่นกัน การดำเนินงานในครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานใน “มาตรฐานใหม่” ของวงการทีวี หรือไม่อย่างไร ต้องติดตามภาคต่อไป

Tagged