เรียงช่องทีวีดิจิทัล ส่อเค้าวุ่น ศาลปกครองให้ย้าย เลขช่องทีวีรัฐสภาจากกล่องเคเบิลทีวี

กสทช. เกาะติดจอ

กสทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลปกครองกลางสรุปให้ย้ายทีวีรัฐสภาออกจากหมายเลข 10 จากระบบเคเบิลทีวี ตามที่สมาคมการค้าผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวี 20 รายร้องศาล

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 18/2558 เมื่อวันที่ มิถุนายน 2558 ที่กำหนดแนวปฏิบัติในการเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป สำหรับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบเคเบิลทีวี และมติในการประชุมครั้งที่ 21/2558 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ที่ให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์นำช่องรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาไปออกอากาศไว้ในหมายเลขลำดับการให้บริการ 10 เนื่องจากเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีมติ

(รายละเอียด คำพิพากษา https://bit.ly/30jBaBi)


ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน หลังจากได้รับคำสั่งศาลปกครองให้เพิกถอนมติบอร์ดกสทช.กรณีให้ผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิ้ล นำช่องรัฐสภาไปจัดเรียงไว้ที่หมายเลขช่อง 10  เพื่อให้ช่องทีวีรัฐสภา อยู่หมายเลขเดียวกันทุกโครงข่าย ดังนั้นระหว่างนี้ ทีวีรัฐสภาจะยังคงอยู่ที่หมายเลข 10 เช่นเดิมไปจนกว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

 

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องการเรียงช่องทีวีดิจิทัลนั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้าจะมีทีวีดิจิทัล ในวันที่ 25 พ.ย.2556 กสทช.เคยมีประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ที่ให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และแบบบอกรับสมาชิก สามารถเลือกจัดช่องรายการในช่อง 1-10 ได้เอง  ทำให้ระยะแรกหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลในโครงข่ายทีวีดิจิทัลกับโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่ตรงกัน เพราะในระบบดาวเทียมและเคเบิลจะต้องบวก 10 ทุกช่อง เช่นช่อง 9 อสมท ในเครือข่ายทีวีดิจิทัลอยู่หมายเลข 30 แต่เครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลอยู่หมายเลข 40 จนทำให้กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์จัดลำดับบริการโทรทัศน์ใหม่ ในวันที่ 23 ก.ย. 2558 ที่ระบุให้กันเลข 1-36 ไว้สำหรับกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด เพื่อที่จะให้ผู้ชมทีวี ได้จดจำหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลเป็นหมายเลขเดียวกันในทุกระบบ ทำให้การรับชมทีวีดิจิทัลของคนไทย เหมือนกันทุกโครงข่าย ไม่ว่าจะดูผ่านกล่องดาวเทียม  กล่องเคเบิล และกล่องดิจิทัล ป้องกันมิให้ประชาชนสับสน

 

ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบแอนะล็อค ประสบปัญหาเรื่องการใช้เงินลงทุนในการจัดเรียงช่องใหม่ จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนต่อศาลปกครองตั้งแต่ปี 2560  ซึ่งมีการฟ้องร้องจากหลายกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมด้วย ในหลายคดี และมีหนึ่งคดีที่ศาลปกครองกลางได้ตัดสิน ให้เพิกถอนประกาศ กสทช.เรื่องจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัล โดยที่กสทช. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้ไต่สวนเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสิน คาดว่าจะมีคำสั่งภายในเดือนพ.ย.นี้

 

ในขณะเดียวกัน กสทช.ได้เตรียมการรองรับการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ด้วยการจัดทำร่างประกาศจัดเรียงช่องฉบับใหม่ซึ่งผ่านบอร์ด กสทช.มาแล้ว และมีกำหนดการการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ วันที่ 3 พ.ย.นี้ 

 

รายละเอียดในร่างฉบับใหม่นี้ กสทช. กำหนดไว้ว่า ช่อง 5 จะย้ายจากช่อง 1 มาอยู่ที่ช่อง 11 ช่อง NBT จะย้ายจากช่อง 2 เป็นช่อง 12 ช่องไทยพีบีเอส หรือช่อง 3 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 13 ในขณะที่ช่องรัฐสภา หรือ ช่อง 10 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 14 และเตรียมช่องที่ว่างจากกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่เลิกกิจการและคืนใบอนุญาตไปแล้ว อีก 7 ช่อง ได้แก่ช่องหมายเลข 15 17 19 20 21 26 28 สำรองไว้สำหรับช่องสาธารณะ หรือ ช่องทีวีชุมชุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด ทั้งการรับชมในระบบเครือข่ายทีวีดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน และการรับชมผ่านเครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี

 

โดยที่กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจทั้ง 15 ช่องจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยจะอยู่ในหมายเลขเดิมต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม การร่างประกาศฉบับใหม่นี้เป็นการเตรียมพร้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองในกรณีที่จะตัดสินให้ยกเลิกประกาศฉบับเก่าเท่านั้น หากว่ามีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น ก็จะขึ้นอยู่กับกสทช.ว่าจะเลือกที่จะใช้ประกาศเรียงช่องฉบับใดต่อไป

 

หากศาลปกครองตัดสินมีมติให้ยกเลิกประกาศเรียงช่องฉบับเดิม คาดว่ากสทช.จะรีบดำเนินการนำร่างประกาศฉบับมาใหม่มาบังคับใช้แทนประกาศเดิม แต่หากศาลปกครองสูงสุดสรุปให้ประกาศเรียงช่องเดิมมีผลบังคับใช้ดังเดิม เกมทั้งหมดอาจจะพลิก เพราะกลายเป็นว่าผู้ประกอบการเครือข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีอาจจะหันมาสนับสนุนให้กสทช.พิจารณานำร่างประกาศที่เพิ่งผ่านบอร์ดกสทช.มาให้ใช้บังคับแทน

 

รูปแบบการกำหนดหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลของไทยจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบใด หลังการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในเร็วๆนี้ คงเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

 

Tagged