เดินหน้าร่างประกาศเรียงช่องทีวีดิจิทัลฉบับใหม่ รองรับเลขช่อง 11-36 ในทุกเครือข่าย

กสทช. เกาะติดจอ

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2563 สำนักงานกสทช.ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 2 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่ และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์  หรือ การจัดเรียงหมายเลขช่องทีวีดิจิทัล  

เนื่องจากกสทช.มีแนวคิดจะแก้ไขหลักเกณฑ์เดิม ให้กลุ่มช่องสาธารณะย้ายจากกลุ่มช่องหมายเลข 1-12 มาเริ่มต้นที่ช่องหมายเลข 11 เป็นต้นไป และออกอากาศเรียงเลขช่องใหม่ให้เหมือนกันทั้งระบบภาคพื้นดิน และการรับชมผ่านกล่องทีวีดาวเทียมและกล่องเคเบิลทีวี

แผนการทั้งหมดนี้เป็นเตรียมการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับกรณีที่กสทช.โดนฟ้องจากผู้ประกอบการทีวีจำนวน 19 คดี เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีบางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะให้ประกาศเรียงหมายเลขช่องมาใช้บังคับกับกล่องรับชมทีวีในระบบอื่น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินในเร็วๆนี้

ในการจัดทำ Focus Group ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เข้าร่วมด้วย โดยกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นำโดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และสมาชิกเช่น นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นายถกลเกียรติ วีรวรรณ จากช่อง One

ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยืนยันว่า กสทช.ควรจะต้องรีบเร่งร่างประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ รองรับการตัดสินคดีของศาล เพื่อให้มีการเรียงช่องของกลุ่มทีวีดิจิทัลตั้งแต่หมายเลข 11-36 อยู่ในรูปแบบเดียวกันทุกเครือข่ายกล่องดาวเทียมและเคเบิลทีวี ในขณะที่กลุ่มทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีต้องการให้ปล่อยอิสระในการเรียงหมายเลขช่อง

อย่างไรก็ตาม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานบอร์ดกสทช. ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า กสทช.จะเร่งหารือและนำข้อสรุปเสนอเข้าพิจารณาในบอร์ดกสทช.อีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการตัดสินของศาลปกครองโดยเร็วที่สุด และคาดว่าประกาศฉบับใหม่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะมีผลบังคับใช้

สำหรับร่างแผนการทำหลักเกณฑ์จัดเรียงหมายเลขช่องฉบับใหม่นี้ เบื้องต้นกสทช.กำหนดไว้ว่า ช่อง 5 จะย้ายจากช่อง 1 มาอยู่ที่ช่อง 11 ช่อง NBT จะย้ายจากช่อง 2 เป็นช่อง 12 ช่องไทยพีบีเอส หรือช่อง 3 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 13 ในขณะที่ช่องรัฐสภา หรือ ช่อง 10 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 14 และเตรียมช่องที่ว่างจากกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่เลิกกิจการและคืนใบอนุญาตไปแล้ว อีก 7 ช่อง ได้แก่ช่องหมายเลข 15 17 19 20 21 26 28 สำรองไว้สำหรับช่องสาธารณะ หรือ ช่องทีวีชุมชุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด ทั้งการรับชมในระบบเครือข่ายทีวีดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน และการรับชมผ่านเครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี

ส่วนช่องทีวีธุรกิจทั้งหมด 15 ช่อง จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยจะยังคงใช้หมายเลขเดิมทุกช่อง และรับชมในหมายเลขเดิมได้ทุกช่องทาง

ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอใหม่นี้ กสทช.จะกันช่อง 1-10 เอาไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเครือข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี จัดเรียงสำหรับช่องรายการอื่นๆในแต่ละเครือข่าย  แต่มีข้อสังเกตุจากการจัดทำ Focus Groupว่า ไม่ควรนำช่องทีวีดิจิทัลมาหรือช่องที่เคยคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเผยแพร่ซ้ำในตำแหน่งดังกล่าว แต่ให้เป็นช่องในกลุ่มทีวีบอกรับสมาชิกมาออนแอร์ได้”

นอกจากนี้ยังยกเลิกการเรียงช่องตามหมวดหมู่ ที่ประกาศเดิมระบุให้ทุกเครือข่ายต้องเรียงช่องตามหมวดหมู่ตั้งแต่หมายเลข 37 เป็นต้นไป เป็นการเปิดทางให้นำช่องมาจัดวางได้โดยอิสระ

ทั้งนี้กสทช.ได้จัดเคยทำ Focus Group ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
https://www.tvdigitalwatch.com/nbtc-4-7-2563/

Tagged