กสทช.เล็งสร้างความเท่าเทียมตลาด OTT VS ทีวี ดันคอนเทนต์ไทยโต

What's new กสทช. รวมเรื่องเด่น

เตรียมพร้อมรองรับตลาดคอนเทนต์ออนไลน์โต  กสทช.จัดเสวนา “OTT in the New Digital Economy” ถกคนในวงการ นักวิชาการ ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ธุรกิจ OTT ให้เหมาะสมสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการทีวี และ OTT

 

ในการเสวนา เรื่อง “OTT in the New Digital Economy” จัดโดย สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม แต่ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเติบโตของ Internet ทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆเข้ามา ที่ทำให้เกิดบริการ OTT ( Over The Top) เป็นคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งไปไกลเกินกว่ากฎระเบียบการดูแลของ กสทช.แล้ว

 

ตัวอย่างของกฎหมายในยุโรป มีการกำกับดูแล internet แบบโทรคมนาคม แต่ สื่อ หรือ media คือเรื่องประโยชน์สาธารณะ ต้องกำกับแบบ media แต่การเกิดขึ้นของ OTT จึงมีทั้งบริการสื่อสารบนเครือข่ายโทรคมนาคม และการให้บริการสื่อ หรือคอนเทนต์ จึงเป็นปัญหาที่ตามมาว่าควรจะมีการกำกับดูแลอย่างไร ในกรณีของไทย กำลังอยู่ระหว่างการร่างพรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ที่เปิดทางให้มีการออกกฎเกณฑ์เรื่อง Convergence ได้ เพราะสมัยนี้จะพบว่า OTT เป็นบริการที่ใช้งานบนเครือข่ายโทรคมนคม แต่มีเนื้อหาเช่นเดียวกับวิทยุ และทีวี

 

“หน้าที่หลักที่สำคัญต่อไปของ กสทช.ก็คือ บริการ OTT จะใช้กฎกติกาอะไรมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต้องเข้าใจธุรกิจโดยภาพรวม และต้องดูจากตัวอย่างกติกาสากล ที่จะต้องทำให้อยู่ในระดับไหน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าผลเสีย เพราะแน่นอนว่า OTT ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งคอนเทนต์ที่ดี และไม่ดี” พ.อ.นที กล่าว

 

พ.อ.นทีกล่าวว่า แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฉบับที่ 2 ของกสทช. ระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช.จะพยายามลดการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกระจายเสียงที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ OTT แต่ก็มีกิจการทีวีดิจิทัลเดิม ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นกสทช.จึงต้องพยายามสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคกันของธุรกิจทีวีดั้งเดิมและ OTT ด้วย ที่ผ่านมา กสทช.ได้มีมาตการให้ความช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิทัล ด้วยการลดค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการลดต้นทุนการให้บริการให้ความเท่าเทียมกันให้มากขึ้น

 

ทั้งนี้พ.อ.นที ยอมรับว่า กสทช.ได้เคยมีความพยายามในการกำกับดูแล OTT มาแล้วเมื่อแต่ไม่สำเร็จ เพราะอำนาจทางกฎหมายไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม กิจการคอนเทนต์คือ กิจการที่มีพาวเวอร์ทางการเมืองสูง และมี Hidden อยู่ ดังนั้นการมองไปข้างหน้า เราจะต้องมองจุดแข็งของเรา โดยที่ กสทช.หรือรัฐ จะต้องกำหนด Policy เพื่อที่จะทำให้คอนเทนต์ของประเทศไทยแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศไหนจะเข้ามาในประเทศไทย ก็สมควรจะต้องซื้อคอนเทนต์ของประเทศไทยไปให้บริการด้วย

 จากข้อมูลการศึกษาพบว่า แนวโน้มคนรับคอนเทนต์ผ่านมือถือสมาร์ทโฟนมากขึ้น ผู้ชมรุ่นใหม่นิยมรับชมแบบ on demand มากกว่าการรับชมแบบตามผังรายการ อัตราการเข้าถึงบริการ OTT มีมากขึ้น อีกทั้งรายได้จากบริการ OTT ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

Tagged