บทสรุปเรตติ้ง 25 ช่องทีวีดิจิทัล ปี 2562 ช่อง 7 ยืนหนึ่ง ส่วนช่อง 3SD ยังติดอันดับ 9

เรตติ้งประจำปี

ปี 2562 เป็นปีที่วงการทีวีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีม.44 จากคสช. มาช่วยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ออกจากธุรกิจไป โดยไม่ต้องรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมด แถมยังได้เงินชดเชยจากกสทช.ที่ออกจากธุรกิจไปอีกด้วย จาก 26 ช่องทีวีดิจิทัล (รวมทีวีรัฐสภา)เมื่อต้นปี 2562  มาในไตรมาสสามของปี ก็เหลือเพียง 19 ช่อง เท่านั้นที่ต้องต่อสู้ในสมรภูมิทีวีดิจิทัลกันต่อไป

สำหรับอันดับช่องที่วัดจากเรตติ้งนั้น ไม่รวมทีวีรัฐสภาที่ไม่เข้าระบบการวัดเรตติ้งโดยนีลเส็น จึงมีทั้งหมด 25 ช่อง แต่ 7 ช่องจากไป ได้แก่ ช่อง 3SD ช่อง 3Family ช่อง Spring 26 ช่องสปริงนิวส์ ช่อง Voice TV ช่อง Bright TV และช่อง MCOT Family ซึ่งภาพรวมในการวัดเรตติ้งจนกว่าจะยุติการออนแอร์ หรือออกจากระบบเรตติ้ง ดังนั้นเรตติ้งเฉลี่ยของทั้ง 7 ช่องนี้ ได้วัดจนถึงวันที่ออกจากระบบการวัด

ช่อง 7 แชมป์เรตติ้งอันดับ 1 ยังไร้เทียมทาน

ช่อง 7 ยังยืนหนึ่งห่างจากคู่แข่งทุกช่อง ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 1.862 เพิ่มขึ้นจากเรตติ้งปี 2561 ที่อยู่ที่ 1.827 เล็กน้อย เพราะปี 2562 คอนเทนต์ละครช่อง 7 ได้รับความนิยมสูงขึ้น มีละครที่ตอนจบได้เรตติ้งเกิน 10 ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ “ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์” “สารวัตรใหญ่” และ “มธุรสโลกันตร์” อีกทั้งยังเป็นปีที่ช่อง 7 พยายามบุกเข้าหากลุ่มคนเมืองมากขึ้นจากการอนุมัติละครเจาะกลุ่มคนเมืองหลายเรื่อง

ช่อง 3 เป็นปีที่ยังคงเผชิญหน้าการท้าทายจากคู่แข่ง ทั้งจากช่อง Mono และ ช่อง One ที่มีผลงานละครเย็นที่ดี ทำให้เรตติ้งบางช่วงเวลาโดยเฉพาะเย็นและไพรม์ไทม์สูงกว่าช่อง 3 เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3 ปี 2562 อยู่ที่ 1.166 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 1.331 มีเรตติ้งลดลงทุกปีนับตั้งแต่ยุคทีวีดิจิทัล และลดลงมากกว่าปี 2561 เทียบกับปี 2562 เนื่องจากในปี 2561 มีละคร “บุพเพสันนิวาส” สร้างชื่อเสียงมากที่สุดของปี

แม้ปี 2562 ช่อง 3 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารใหม่ หลังจากเริ่มขาดทุนมาต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และทิศทางความนิยมของช่องยังไม่ขยับขึ้น อีกทั้งยังเกิดปัญหาวุ่นวายภายใน ที่บรรดาช่องคู่แข่งเฝ้าจับตามอง หวังจะช่วงชิงอันดับ 2 กันถ้วนหน้า

ช่อง Mono ที่เด่นเรื่องภาพยนตร์ และซีรีส์ต่างประเทศ ยังเป็นช่องที่เติบโตต่อเนื่องในทุกปี แม้ว่าปี 2562 เรตติ้งจะขยับขึ้น แต่ไม่มากนัก จาก 0.853 เป็น 0.855  ช่อง Mono พยายามรุกเข้าสู่รายการข่าว โดยเฉพาะข่าวเช้า แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ คงต้องใช้เวลา เพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นเข้าสู่สมรภูมิข่าวเท่านั้น

ในขณะที่ช่องเวิร์คพอยท์ เคยเติบโตสูงสุดในปี 2560 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 1.001 จากความรุ่งเรืองของรายการ The Mask Singer หลังจากนั้นความนิยมลดลงมาทุกปี ในปี 2562 เรตติ้งก็ลดลงมาอยู่ที่ 0.702 จากปี 2561 ที่อยู่ที่ 0.810

ช่อง One ช่องไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี เรตติ้งดีขึ้นทั้ง 3 ช่อง และยังคงอยู่ในอันดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ช่อง One มีจุดเด่นที่รายการเย็น ค่ำ และไพรม์ไทม์บางช่วง แต่รายการระหว่างวันยังต้องเฟ้นหาคอนเทนต์มาลง ส่วนไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี ที่นอกจากจะแข่งกันเรื่องคอนเทนต์ข่าวแล้ว ยังเริ่มไล่ตามกันทั้งการถ่ายทอดสดวันหวยออก และรายการกีฬา ที่ปี 2563 อมรินทร์ประกาศแล้วว่า จะเริ่มลุยคอนเทนต์กีฬามากขึ้น ประเดิมด้วยการถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลหญิง ชิงตั๋วใบสุดท้ายไปโอลิมปิคในเดือนม.ค. 2563

https://www.tvdigitalwatch.com/25rating-year2562

ช่อง 8 จากอันดับ 5 ปี 2561 มาสู่อันดับ 8 ปี 2562

ช่อง 8 เคยเติบโตสูงสุดในอันดับ 4 ในปี 2558 และรักษาสถานะอันดับ 5 มาได้ 3 ปีติดกันในปี 2559- 2561 แต่ในปี 2562 ภาพรวมหล่นมาอยู่ในอันดับ 8 เรตติ้งเฉลี่ย 0.310 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 0.530 ในปีนี้ช่อง 8 ได้พยายามไต่อันดับใหม่อีกครั้ง มีการเปลี่ยนผู้บริหารช่อง และการให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ละครไทย รสแซ่บ ซิกเนเจอร์ของช่อง จากบางช่วงเดือนที่เรตติ้งลดลงไปอยู่ในอันดับ 9 ก็เริ่มกระเตื้องขึ้นมา จนรักษาภาพรวมเรตติ้งอันดับ 8 ของปี 2562 ได้

ช่อง 3SD แม้จากไปยังติดอันดับ 9

ในกลุ่มช่อง TOP 10 แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าช่อง 3SD ของกลุ่มช่อง 3 จะออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ย.2562 แต่ยังคงติดอันดับ 9 ได้ แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ช่อง 3SD ที่ส่วนใหญ่เป็นละครรีรัน จากคลังละครขนาดใหญ่ของช่อง 3 มีพลังสร้างความนิยมให้เห็นได้อย่างชัดเจน หากช่อง 3SD ยังออกอากาศอยู่ ก็อาจจะอยู่ในอันดับ 8 เช่นเดียวกับปี 2561

ในจำนวน 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.ช่อง 3SD จึงเป็นช่องที่โดดเด่นมากที่สุด ตามมาด้วย ช่อง Voice TV ช่องข่าวการเมืองเข้ม ที่แม้ออกจากระบบการวัดเรตติ้งตั้งแต่เดือนก.ค. 2562 แต่ภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้น จากอันดับ 21 เรตติ้งเฉลี่ย 0.031 ในปี 2561 มาอยู่ที่อันดับ 17 เรตติ้งเฉลี่ย 0.043 ในปี 2542

ศึกชิงอันดับ 10 จบทั้งปีที่ PPTV

การช่วงชิงอันดับ 10 ของเนชั่นทีวี ช่อง 9 และ PPTV มีมาต่อเนื่องทั้งปี แต่การยุติการออนแอร์ของ 7 ช่อง ตำแหน่งในกลุ่ม TOP10 จึงต้องช่วงชิงกันอย่างหนัก ช่อง 9 ได้รายการ แม็กซ์มวยไทยมาแรงช่วงครึ่งปีหลัง ส่วน PPTV ก็มีรายการฟุตบอลลีกต่างประเทศ และรายการบันเทิงย้ายช่อง The Voice มาจากช่อง 3 และ “กิ๊ก ดู๋ “มาจากช่อง 7 เป็นตัวชูโรง แต่มามีปัญหาตอนปลายปีเมื่อ มีปัญหาไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้ เรตติ้งจึงลดลงตั้งแต่เดือนต.ค. อีกทั้งละครไทย ที่เริ่มลงผังในกลางปี 2562 ยังไม่มีผลงานเด่นนัก แต่ภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีช่วยประคองเรตติ้งเฉลี่ยช่อง PPTV ให้ติดอยู่ในอันดับ 10 ขยับจากอันดับ 12 ในปี 2561

เนชั่นทีวี มาแรงด้วยข่าวการเมืองเช่นกัน จากปี 2561 อันดับ 15 เรตติ้งเฉลี่ย 0.121 มาอยู่ในอันดับ 11 เรตติ้งเฉลี่ย 0.192

สำหรับกลุ่มช่องอันดับต่ำกว่าอันดับ 10  ช่อง GMM25 เป็นอีกช่องที่เริ่มแสดงทิศทางเติบโต ขยับจากอันดับ 14 มาอยู่ที่อันดับ 13 เติบโตด้วยคอนเทนต์ละคร ในขณะที่ช่อง True4U มีผลงานที่ลดลง จากอันดับ 13 ในปี 2560-61 หล่นมาอยู่ในอันดับ 15 จากความนิยมรายการฟุตบอลไทยลีกที่ลดลง True4U ได้พยายามหันมาเน้นการเป็นช่องวาไรตี้ รีเมคซีรีส์เกาหลี แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ ซีรีส์ “ Voice สัมผัสเสียงมรณะ” แม้เรตติ้งไม่เปรี้ยง แต่สร้างกระแสในโลกออนไลน์ได้สูงมาก

ปี 2563 แม้จะเหลือช่องภาคธุรกิจเพียง 15 ช่อง และช่องภาครัฐอีก 4 ช่อง แต่สถานการณ์การแข่งขันไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย คู่แข่งมีมากขึ้นจากช่องทางออนไลน์ ต้องแย่งชิงเค้กรายได้โฆษณา และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น หวังว่าปีนี้ผู้ชมจะได้รับชมคอนเทนต์ที่ดี ที่สร้างความบันเทิง สาระ และความสุขให้กับผู้ชมต่อไป

Tagged