ผลงานช่อง 3HD ในรอบ 5 ปีทีวีดิจิทัล เรตติ้งลด ปักหลักอันดับ 2

ผลงานทีวีดิจิทัลประจำปี ผลประกอบการ เรตติ้งช่อง

 

รายงานผลประกอบการล่าสุด ไตรมาสที่ 2/2562 บริษัท บีอีซี เวิลด์ ของกลุ่มช่อง 3 ยังพบว่าขาดทุน 103.6 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนเป็นไตรมาสที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ยังเป็นความกดดันมหาศาลต่อทีมผู้บริหารชุดใหม่ของกลุ่มช่อง 3 ที่นำทีมโดย “บี๋ อริยะ พนมยงค์” President คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาอย่างมาก

แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยอดการขาดทุนในไตรมาสก่อนหน้า ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 ที่ขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ 260 ล้านบาท และลดลงมาอยู่ที่ 128 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562 พบว่าเป็นการขาดทุนที่มีตัวเลขลดลง แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขการขาดทุนในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (2/2561) ที่ขาดทุน 28 ล้านบาทแล้ว ยังถือว่าเป็นตัวเลขการขาดทุนเพิ่มขึ้น 81 ล้านบาท หรือ ติดลบ 359% ซึ่งบีอีซี เวิลด์ชี้แจงว่า สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และตลาดโฆษณาในประเทศลดลง

ทำให้รายได้รวมของบริษัทในไตรมาส 2/2562 ลดลง 22.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จากรายได้ 2,709.5 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,092.3 ล้านบาท

ทั้งนี้มีรายงานจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า ผลประกอบการในครึ่งปีแรกยังไม่ดีเท่าที่ควร ที่น่าจะยังมีผลต่อเนื่องไปจนถึงประมาณเดือนส.ค.ของปีนี้ เหมือนกับเป็นการบอกใบ้ว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/2562 นี้ อาจจะยังมีตัวเลขการขาดทุนต่อเนื่องไปบ้าง แต่ต้องรอดูผลจากการปิด 2 ช่องทีวีดิจิทัลทั้งช่อง 3SD และ 3Family ในสิ้นเดือนก.ย.นี้ด้วย

แม้ว่าตอนนี้ จะยังไม่เห็นเค้าลาง ภาพที่ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จ นับเป็น Big Challeange ของทีมผู้บริหารชุดใหม่ เต็มไปด้วยอุปสรรค ที่ต้องมองให้ออก และเข้าใจธุรกิจทีวีในอนาคต สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นตอนนี้ คือการวาง Strategy  ถ้า “ก้าวแรก” วาง strategy ผิด ก็มีหวังร่วงทั้งกระดาน แต่ถ้าเดินมาได้ถูกทาง ก็มี “เฮ” กันเลยทีเดียว

เส้นทาง 5 ปี ทีวีดิจิทัลของช่อง 3HD

จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่อง 3HD นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ดังนี้

 

 

ช่อง 3HD : ช่องคนเมือง เรตติ้งอันดับ 2  

จุดเด่น : ละครคนเมือง ดาราดังในสังกัด

 

 

ช่อง 3 ช่องฟรีทีวีภาคธุรกิจอันดับ 2 ของไทย มีจุดเริ่มต้นจากการบริหารธุรกิจในกลุ่มครอบครัว “มาลีนนท์” นำโดย “วิชัย มาลีนนท์” ส่งต่อการบริหารงานมายังรุ่นลูก ที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันช่อง 3 ให้กลายเป็นหนึ่งในช่องมหาชน ที่มีอิทธิพลต่อผู้ชมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมือง

 

ช่อง 3 เป็นช่องฟรีทีวีที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน ภายใต้สัมปทานจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2513 อย่างไรก็ดีด้วยอุปสรรคในช่วงปี 2550 ที่ต้องเปลี่ยนระบบการออกอากาศจากระบบ VHF เป็น UHF เป็นเหตุให้บางพื้นที่ในต่างจังหวัด ไม่สามารถรับชมสัญญาณช่อง 3 ได้ มีผลทำให้ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ของช่อง 3 เป็นกลุ่มคนเมืองมากกว่าคนในชนบท

 

ในขณะเดียวกัน กลยุทธ์การผลิตเนื้อหารายการของช่อง 3 ก็สอดรับกับฐานผู้ชมของช่อง จุดเด่นของเนื้อหารายการช่อง 3 คือการผลิตละครไทย และรายการวาไรตี้ที่สอดรับกับนักแสดงในสังกัดของช่อง โดยกลยุทธ์การสร้างฐานนักแสดงในสังกัด เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการจะสร้างความสนใจให้กับผู้ชมให้เข้ามารับชมรายการของช่อง ซึ่งช่อง 3 เป็นอีกหนึ่งช่อง ที่สร้างสังกัดนักแสดง ที่รวมถึงโรงเรียนการแสดงในอดีต และกิจกรรมสนับสนุน สร้างนักแสดงชื่อเสียงโด่งดังมากมายหลายคน ที่กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าหลากหลายมากกว่านักแสดงสังกัดช่องอื่น

 

ในเบื้องต้น การที่ช่อง 3 เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลถึง 3 ใบ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของตลาดทีวี การมีหลายช่อง ก็เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและการวางกลยุทธ์ อีกทั้งในตอนที่เริ่มเปิดให้บริการทีวีดิจิตอลนั้น ยังได้แยกการออกอากาศของช่อง 3 แอนะล็อก และช่อง 3HD แยกออกจากกัน เพื่อให้มีช่องให้บริการทั้งหมด 4 ช่อง แต่จะยังคงให้น้ำหนักกับช่อง 3 แอนะล็อก ซึ่งได้โปรโมทในชื่อใหม่ว่า ช่อง 3 ออริจินัล

 

ผังการออกอากาศในช่อง 3HD ช่วงแรก ยังคงเป็นการนำรายการของช่อง 3 แอนะล็อกมาจัดลงผังช่องในกลุ่มช่องดิจิตอลทั้ง 3 ช่อง ในขณะที่ช่องแอนะล็อกอื่นๆ เป็นการออกคู่ขนานในช่องดิจิตอลใหม่ทั้งหมด จนเมื่อมีกรณีพิพาทกับกสทช.เรื่องการออกอากาศคู่ขนาน ในปี 2557 และมีบทสรุปทำให้ช่อง 3HD มาออกอากาศคู่ขนานผังรายการเดียวกันทั้งหมดกับช่อง 3 แอนะล็อก

 

 

ในภาพรวมของช่อง 3 ปี 2556 ก่อนมีทีวีดิจิตอล เรตติ้งเฉลี่ยช่องอยู่ที่ 2.798  แต่เมื่อเกิดการแข่งขันจากคู่แข่งช่องใหม่ เรตติ้งช่องลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2557 เทียบกับปี 2558 เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3HD ลดลงมากที่สุด จาก 2.445 มาอยู่ที่ 1.941 และในปี 2560 เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.348 แต่ปี 2561 ลดลงไม่มาก เพราะมีละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างปรากฏการณ์ของช่อง เป็นรายการในยุคทีวีดิจิตอลจนถึงปี 2561 ที่ได้เรตติ้งสูงสุด โดยได้เรตติ้งตอนจบที่ 18.633

 

พื้นที่กรุงเทพฯและปริมาณฑลเป็นพื้นที่หลักของช่อง 3HD ที่มีฐานผู้ชมหนาแน่นมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกช่อง ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ภาคกลาง ที่รวมถึงภาคตะวันตก และตะวันออก เป็นอีกภาคที่ ช่อง 3HD มีฐานผู้ชมของช่องสูงพอสมควร แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เป็น 2 ภาคที่ช่อง 3HD มีฐานผู้ชมน้อยที่สุด กลุ่มผู้หญิงยังคงเป็นสัดส่วนผู้ชมสูงกว่ากลุ่มผู้ชาย ด้วยลักษณะรายการบันเทิงที่ดึงความสนใจกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และกลุ่มช่วงอายุผู้ชม เป็นคนวัย 35 ปีขึ้นไปมากที่สุด

 

คู่แข่งที่มาแรง สามารถช่วงชิงเรตติ้งช่อง 3HD ในส่วนพื้นที่ในเมืองที่ชัดเจนมากในช่วง 2 ปีแรกได้แก่ ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี และช่อง Mono 29  ด้วยประเภทรายการวาไรตี้และภาพยนตร์ต่างประเทศ และในปีถัดมา 2559  เป็น ช่อง One ที่นำเสนอละครเจาะตลาดคนเมือง จนในปี 2560 รายการ “ The Mask Singer” ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ได้รับความนิยมสูง ชนะละครทุกช่อง มีผลทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3 ลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ 1.348  โดยที่ช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี มีเรตติ้งอยู่ในอันดับ 3 ที่ใกล้กันมากขึ้นด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 1.001

 

อีกทั้งช่อง 3HD ยังได้รับผลกระทบของรายการข่าวเช้า จากกรณีคดีความของ สรยุทธ์ สุทัศนจินดา ในการผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว”ในนามบริษัท ไร่ส้ม จำกัด กับช่อง 9 อสมท. ที่มีการส่งฟ้องศาล ในปลายปี 2557 และเริ่มส่งผลต่อเรตติ้งรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ที่เป็นรายการข่าวหลัก ของบริษัท บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของกลุ่มช่อง 3 โดยเป็นรายการที่สร้างรายได้ให้กับช่อง 3 มาอย่างยาวนาน จนเรตติ้งรายการลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบกับผลประกอบการของช่องโดยรวมทั้งหมดด้วย

 

เรตติ้งเฉลี่ย รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ปี 2557-2561

 

จากข้อมูลเรตติ้งความนิยมรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ทางช่อง 3 HD จะเห็นว่ามีเรตติ้งลดลงตั้งแต่ปลายปี 2557  เนื่องจากเรื่องคดีความของ “สรยุทธ์” จากเรตติ้งเฉลี่ย 2.852 ในปี 2557 ลดลงมากในปี 2558 และ 2559 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยของรายการ 2.139 และ 1.545 ตามลำดับ โดย “สรยุทธ์” ออกจากการเป็นผู้เล่าข่าวหลักของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2559

 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชมที่เหนียวแน่นของรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เป็นฐานผู้ชมในกลุ่มพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นกลุ่มที่เรตติ้งลดลงมากที่สุดเช่นกัน

 

รูปแบบรายการในช่อง 3HD  มีสัดส่วนรายการซื้อเนื้อหารายการหรือ นำรายการของผู้อื่นมาออกอากาศ หรือเป็นประเภทรายการซื้อลิขสิทธิ์ที่สูงกว่าประเภทอื่น อย่างไรก็ตามเนื่องจากแต่ละช่องมีรูปแบบของการซื้อลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้รวมถึงการซื้อรายการต่างประเทศเพียงอย่างเดียว รายการที่ผลิตในประเทศบางรายการก็จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้เช่นกัน ที่อาจจะอยู่ในรูปการแบ่งผลประโยชน์แบบ Time Sharing หรือ Revenue Sharing ระหว่างผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และเจ้าของช่อง โดยสัดส่วนรายการในกลุ่มนี้สูงกว่าทุกประเภท โดยในปี 2558 มีสัดส่วนอยู่ที่ 51.56% เคยสูงสุดในปี 2560 ถึง 58.53% ส่วนรายการที่ช่องผลิตเอง และการให้เช่าเวลาออกอากาศ มีสัดส่วนรองลงมา

 

 

ในส่วนของรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัลของช่อง 3HD ที่แจ้งรายได้ไว้กับ กสทช.นั้น ในปี 2557 แจ้งไว้ที่ 434 ล้านบาท จากการทำผังรายการใหม่แยกตัวจากช่อง 3 แอนะล็อกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 แล้วเริ่มมาออกอากาศคู่ขนาน ผังรายการเดียวกันกับช่อง 3 แอนะล็อกในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป โดยที่ในปีถัดมา มีการรายงานรายได้คงที่ไว้ที่ปีละ 1,800 ล้านบาทจนถึงปี 2561 เนื่องจากยังคงรายได้หลักไว้ที่ช่อง 3 แอนะล็อกที่ยังมีสัมปทานกับ อสมท ที่มีกำหนดสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 25 มีนาคม 2563

 

ปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลง “ผู้นำ” ของกลุ่มช่อง 3 “ประชุม มาลีนนท์” น้องชายคนเล็กของตระกูล “มาลีนนท์” เข้ามาบริหาร พร้อมกับนโยบายการนำ “ผู้บริหารมืออาชีพ” เข้ามาบริหาร ในระหว่างที่อุตสาหกรรมทีวีกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันรุนแรง จนทำให้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มช่อง 3 รายงานผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรก ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 โดยขาดทุน 335 ล้านบาท

 

 

แต่ปี 2561 ช่อง 3HD ได้ละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่สร้างปรากฏการณ์ กลายเป็นละครแห่งชาติ และเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดตั้งแต่ยุคทีวีดิจิตอล ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่อง 13.384 ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 3HD ในปี 2561 อยู่ที่ 1.331 ยังคงประคองตัวไม่ลดลงไปดังเช่นช่อง 7HD แต่โดยภาพรวมนับจากปี 2556 – 2561 สถานการณ์เรตติ้ง ที่แสดงถึงความนิยมช่อง ก็ลดลงไปกว่า 50% เช่นเดียวกับช่อง 7HD

 

แม้ว่าในปี 2561 เรตติ้งเฉลี่ยช่องจะลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับปี 2560  แต่ผลประกอบการของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ทั้งปีในปี 2561 ประสบภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรก ที่ 330 ล้านบาท ทำให้เห็นสถานการณ์แนวโน้มรายได้ลดอย่างชัดเจนจากธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กลุ่มช่อง 3 มีถึง 3 ช่อง

 

ในปี 2562 กลุ่มช่อง 3 ยังคงเชื่อมั่นกับระบบ “ผู้บริหารมืออาชีพ” ด้วยการดึง “อริยะ พนมยงค์” ผู้บริหารจากบริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ( President) เริ่มงานครั้งแรกในวันที่ 18 เมษายน 2562 เป็นความพยายามของ “ประชุม มาลีนนท์” ในการให้ทีมผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาบริหารแทนกลุ่มครอบครัว “มาลีนนท์”

 

บทสรุปของช่อง 3HD หลังจาก 5 ปีของทีวีดิจิตอลผ่านไป ช่อง 3HD ยังคงต้องสู้กับศึกหนัก ทั้งจากคู่แข่งภายนอกและภายใน ที่ต้องปรับกลยุทธ์รับการแข่งขัน และสู้กับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป

 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf

Tagged