จอร์ชรู้ยัง “กกน.ชาย” ยอดขายอันดับ 1 ทาง Hello Shops ช่องเวิร์คพอยท์

วิเคราะห์เจาะเรตติง

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการเติบโตของช่องทางคอนเทนต์ออนไลน์มีส่วนสำคัญทำให้มูลค่าโฆษณาในช่องทางทีวีได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทำให้กลายเป็นตลาดของธุรกิจ Home Shopping เข้ามามีบทบาทในทุกช่อง เสริมในช่วงเวลาโฆษณาที่ว่างอยู่ และเป็นรูปแบบของการหารายได้เพิ่มนอกเหนือจากรายได้จากค่าโฆษณา

เช่นเดียวกับช่องเวิร์คพอยท์ ที่ได้เริ่มโมเดลการหารายได้จากธุรกิจ Home Shopping มาหลายปี ที่เห็นได้ชัดเริ่มมาจากรายการ “Let me in Thailand ศัลยกรรมพลิกชีวิต” ตั้งแต่ปี 2559 จนเป็นที่มาของการขายสินค้าเสริมความงาม Let me in

จนกระทั่งปลายปี 2561 เวิร์คพอยท์เริ่มขยายธุรกิจ Home Shopping มาเป็น Hello Shops โดยจัดช่วงเวลาออกอากาศเพื่อขายสินค้าอย่างเป็นทางการช่วงละ 10 นาที ขายของเป็นจริงจัง โดยมีรายงานว่าปี 2561 เวิร์คพอยท์มีรายได้จากการสินค้าอยู่ที่ 169.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.10 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้ส่วนนี้เพียง 51.75 ล้านบาท

สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2562 เวิร์คพอยท์รายงานว่า มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 116.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 193.8% จาก 39.7 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้ถึง 600 ล้านบาทในปีนี้

สินค้าที่ขายในช่องทาง Home Shopping ของเวิร์คพอยท์แบ่งเป็น สินค้าของ Hello Shops 60% ผลิตภัณฑ์ความงาม 24% และอื่นๆ 16% รายการขายสินค้าของ Hello Shops จัดลง 7 ช่วงเวลาต่อวัน ช่วงละ 10 นาที สำหรับวันจันทร์-ศุกร์ และ 6 ช่วงเวลาต่อวันสำหรับเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงหลังเที่ยงคืน

แต่ 2 ช่วงที่ Hot ที่สุดคือ 09.30-09.40 และ 14.30-14.40 ของทุกวัน

ทั้งนี้สินค้าของ 1346 Hello Shops 60%  ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม สินค้า Home Living & Lifestyle 30% สินค้าแฟชั่น 40% และเครื่องครัว 30%

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจ Home Shopping แม้เป็นหนึ่งในทางเลือกในการหารายได้ ที่ไม่ได้มาจากค่าโฆษณา ก็ยังต้องมีภาระเรื่องการลงทุนสต็อคสินค้า การทำระบบ Inventory ทั้งหมด ในกรณีที่ทำระบบ Home Shopping เอง ซึ่งของเวิร์คพอยท์มีทั้งการทำ Inventory เอง และผ่าน Hello Shops ที่เวิร์คพอยท์ร่วมมือกับธุรกิจ Home Shopping ของกลุ่มบริษัท อินทัช

เวิร์คพอยท์ระบุไว้เพียงว่า มียอด Inventory ซึ่งเป็นรายการทีวีระหว่างผลิตกับสินค้าคงคลัง ในไตรมาสแรกของปี 2562 นี้อยู่ที่ 172 ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดถึงต้นทุนในการทำธุรกิจ Home Shopping นี้ว่าเป็นอย่างไร

ไม่ใช่กระทะ ไม่ใช่เครื่องครัว แต่เป็น “กางเกงในผู้ชาย” ขายดีอันดับ 1

เวิร์คพอยท์ได้สรุปไว้ว่า จากข้อมูลจนถึงเดือนมิ.ย.นี้ สินค้าที่ขายดีเป็นอันดับ 1 ได้แก่ กางเกงในผู้ชาย อันดับ 2 เป็นเครื่องครัว กระทะพร้อมหม้อ อันดับ 3  พัดลมไอเย็น อันดับ 4  ชุดบดอาหาร และอันดับ 5 เป็น ตู้เสื้อผ้า

ข้อมูลสินค้าขายดีช่องเวิร์คพอยท์ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากช่องอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะเครื่องสำอาง หรือเครื่องครัว แต่กลับเป็นสินค้าของผู้ชาย

เมื่อดูฐานผู้ชมช่องเวิร์คพอยท์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนผู้ชมช่องเวิร์คพอยท์ มีเรตติ้งสัดส่วนของผู้ชายใกล้เคียงกับผู้หญิงมาก 0.657 : 0.734 แตกต่างจากช่องอื่นที่ฐานคนดูส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ปกติแล้วพฤติกรรมการซื้อสินค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมความงามสารพัด และกลุ่มแม่บ้าน ที่เปิดทีวีเป็นเพื่อน มักจะซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ Home Shopping เสมอ แต่เมื่อช่องเวิร์คพอยท์ที่มีรายการหลักเป็นรายการวาไรตี้ มากกว่าคอนเทนต์ละคร จึงมีส่วนสำคัญทำให้สินค้าที่ขายช่องทาง Home Shopping มีความแตกต่างไปด้วย ซึ่งกรณีนี้ เป็นไปได้ทั้งในรูปแบบว่า ผู้ชายช็อปเอง หรือผู้หญิงเป็นฝ่ายช็อปให้ผู้ชาย

เพราะนอกเหนือจากสินค้า “กางเกงในผู้ชาย” แล้ว สินค้าขายดีอันดับรองลงมา ยังคงเป็นสินค้าของครอบครัวทั้งหมด ส่วนสินค้าของผู้หญิง “เสื้อชั้นใน” ติดอันดับ 6

พึ่งพาทีวีช็อปปิ้ง เรตติ้งลด

แม้ว่าการพึ่งพา Home Shopping จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของบรรดาทีวีดิจิทัลในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะรายได้จากค่าโฆษณาลดลง แต่ก็มีตัวอย่างของหลายช่องที่เมื่อพึ่งพาธุรกิจ Home Shopping มาก มีรายได้เพิ่มเติม แต่ต้องเผชิญหน้ากับความนิยมของช่องลดลง ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่กรณี สปริงนิวส์ จากช่องข่าว มาเน้นการหารายได้ด้วยธุรกิจ Shopping ทั้งอันดับช่อง และเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง ก็ลดลงอยู่ในอันดับสุดท้ายของกลุ่มทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2561 และช่อง 8 จากอันดับที่ 5 ลดลงมาอยู่ที่อันดับที่ 9 ในปัจจุบัน

ในขณะที่เวิร์คพอยท์อันดับช่องลดลงจากอันดับ 3 ที่เคยอยู่ตั้งแต่ปี 2558 มาอยู่ที่อันดับ 4 ในปี 2561 โดยมีคู่แข่งอย่างช่อง One ที่อยู่ในอันดับ 4 กำลังมาแรงจากคอนเทนต์ละคร ไล่จี้ตามมาติดๆ

งานนี้ คงเป็นบทพิสูจน์ “ฝีมือ” และการวางกลยุทธ์ของผู้บริหารทีวีแต่ละช่องแล้ว ช่วงภาวะขาลงจากรายได้โฆษณาเช่นนี้ จะตัดสินใจใช้กลยุทธ์ใดมาเป็นทางเลือกในการบริหารแต่ละช่อง

Tagged