ส่องผลงานช่อง 7 ในรอบ 5 ปี ยุคทีวีดิจิทัล เผชิญหน้าคู่แข่ง เรตติ้งลด

รายได้ทีวีดิจิทัล เรตติ้งช่อง

ปี 2562 สถานการณ์ของช่อง 7 แชมป์เรตติ้ง ช่องใหญ่ยังคงต้องเผชิญหน้าการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากหลากหลายช่องทีวีดิจิทัล และกลุ่มช่องที่มาจากทีวีแอนะล็อคด้วยเช่นกัน ในช่วงเริ่มต้นครึ่งปีหลังของปี 2562 แม้ว่าจะมีละคร “ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์” ของช่อง 7 เป็นรายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดในปีนี้ ได้ 11.391ในตอนจบ และมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องอยู่ที่ 8.538 แต่ภาพรวมละครที่เป็นคอนเทนต์หลักของช่อง ต้องเจอคู่แข่งจากช่องใหม่ทุนหนา ที่หันมาทุ่มผลิตละครเพื่อหวังสร้างความนิยมของช่องให้เพิ่มขึ้น ทำให้มีผลต่อภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 7 ที่มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน

ในปีนี้ ช่อง 7 มีทีมผู้บริหารชุดใหม่ นำทีมโดย “ดร.จุ๋ม- เยาวลักณ์ พูลทอง” ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก “กฤตย์ รัตนรักษ์” ประธานกรรมการบริษัท และเจ้าของช่อง 7 มามีอำนาจเต็มในการบริหาร การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในคือนโยบายการผลิตละคร ที่เน้นเรื่องที่เจาะกลุ่มคนเมือง ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อหวังเสริมฐานผู้ชมคนเมือง นอกเหนือจากกลุ่มฐานผู้ชมในต่างจังหวัดที่เป็นฐานใหญ่ของช่อง 7 ซึ่งต้องรอดูผลที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นเช่นไร

อย่างไรก็ตาม ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.845 ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเรตติ้งเฉลี่ยครึ่งปีแรกของปี 2561 ที่ได้ 1.865

จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่อง 7 นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ดังนี้

ช่อง 7HD  : เรตติ้งอันดับ 1

จุดเด่น :ละครไทย , ละครพื้นบ้าน, รายการกีฬาของนักกีฬาไทย

 

 

ช่อง 7 ในฐานะเป็นช่องธุรกิจที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนเป็นช่องแรกของประเทศ ภายใต้สัมปทานจากกองทัพบกตั้งแต่ปี 2510 เป็นช่องที่มีศักยภาพสูง ทั้งจากเงินลงทุน และความคล่องตัวในการบริหารงานตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ช่อง 7 เป็นช่องที่มีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากที่สุด กลายเป็นช่องมหาชน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากการวัดเรตติ้งยาวนานต่อเนื่องมาหลายปี แม้ว่าจะมีบางช่วง ที่ถูกช่อง 3 นำหน้ามาบ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น

 

จุดเด่นของช่อง 7 ที่มีมาตั้งแต่ต้นคือ ละครไทยหลังข่าวภาคค่ำ ละครพื้นบ้าน และหลายรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ที่หลากหลาย และมีชุดละครเย็นมีความแข็งแกร่งที่สุด เพราะส่วนใหญ่มีเรตติ้งเกิน 10 มาโดยตลอด ที่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จผลงานละครภายในช่องได้ตลอดมา

 

ในปี 2556 ปีสุดท้ายของยุคทีวีแอนะล็อก เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 7 อยู่ที่ 3.833 อยู่ในอันดับ 1 แต่ก็มีแนวโน้มลดลงทุกปีหลังจากเกิดทีวีดิจิตอล โดยที่ปี 2557 เป็นปีที่ช่อง 7HD มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงมากที่สุด จากสถานการณ์คู่แข่งมาแรงหลายช่อง ในฐานะที่ช่อง 7HD เป็นช่องใหญ่ ทุกช่องต้องการแย่งชิงฐานผู้ชมทั้งสิ้น ตลาดละครของช่อง 7HD ที่นอกจากแข่งขันกับช่อง 3HD ที่เป็นคู่แข่งรายเดิมแล้ว ยังมีคู่แข่งรายใหม่จากช่อง 8 ที่จัดชุดละครตลาด จับตลาดคนดูคนต่างจังหวัด ด้วยละครแนวชาวบ้าน การชิงดีชิงเด่น และสงครามความรัก  และกลยุทธ์การจัดภาพยนตร์ชื่อดังจากต่างประเทศลงผังรายการของช่อง Mono 29  ดึงฐานผู้ชมจากกลุ่มช่องใหญ่ในยุคแอนะล็อก รวมถึงช่อง 7HD ไปได้ในระดับหนึ่ง

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 7HD ในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 3.194  และลดลงเรื่อยมาทุกปี จนมาอยู่ที่ 1.827 ในปี 2561 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยช่องลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเรตติ้งของปี 2556 ในยุคแอนะล็อก

 

กลุ่มของเนื้อหารายการที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ชัดเจน คือกลุ่มเนื้อหารายการประเภทละคร ที่เป็นจุดขายของช่อง 7HD จากการมีคู่แข่งหลายช่องมากขึ้น เรตติ้งลดลงชัดเจน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในปี 2560-2561 ไม่มีละครเรื่องใดของช่อง ทำเรตติ้งได้เกิน 10

 

อย่างไรก็ตาม ละครพื้นบ้าน ที่จัดลงผังรายการในช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ยังคงเป็นเนื้อหารายการที่เป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของช่อง 7HD เป็นรายการที่มีฐานผู้ชมในกลุ่มเด็กเล็กมากที่สุดในรอบ 5 ปีแรกของทีวีดิจิตอล โดยที่ยังไม่มีรายการใดจากช่องอื่นเข้ามาแข่งขันในระดับใกล้เคียงกันได้

 

รายการกีฬา เป็นอีกหนึ่งเนื้อหารายการที่สำคัญ ที่ช่อง 7HD ได้ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยในหลายกิจกรรมการแข่งขัน เนื่องจากกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของคนไทย โดยทุกครั้งที่มีการแข่งขันในระดับประเทศจะได้รับความสนใจสูง มีฐานผู้ชมแน่น ทั้งในและนอกสนาม โดยเฉพาะเรตติ้งทางทีวี ในการแข่งขันบางรายการมีเรตติ้งเฉลี่ยสูงกว่าละคร  อย่างไรก็ตาม บรรดาช่องทีวีดิจิตอลใหม่ๆ ได้เริ่มเข้ามาเจาะตลาดเนื้อหารายการประเภทกีฬาด้วยเช่นกัน เช่นช่อง True4U ช่องไทยรัฐทีวี และช่อง PPTV

 

จากข้อมูลเรตติ้งของช่อง 7HD ในช่วง 5 ปี แสดงให้เห็นฐานผู้ชมช่อง 7HD ที่ค่อยๆลดลงในแต่ละปีในทุกกลุ่มอายุ ทั้งนี้จะเห็นว่ากลุ่มผู้ชมทีวีหลักของช่อง 7HD เป็นกลุ่มเด็กอายุ 4-14 ปี และกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งในกลุ่มเด็กมีตัวเลขลดลงมากที่สุด เช่นในกลุ่มอายุ 6-9 ปี ในปี 2557 มีเรตติ้งเฉลี่ยในกลุ่มนี้ 3.466 ลดลงมาอยู่ที่ 1.822 ในปี 2561

 

นอกจากนี้ฐานผู้ชมอันแข็งแกร่งในต่างจังหวัดของช่อง 7HD ลดลงในทุกภาคเช่นกัน แต่ภาคใต้ก็ยังเป็นภาคที่รับชมช่อง 7 มากที่สุด จากเรตติ้งเฉลี่ย 3.854 ในปี 2557 มาอยู่ที่ 2.167 ในปี 2561 และพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังเป็นพื้นที่ที่ช่อง 7HD มีเรตติ้งเฉลี่ยของฐานผู้ชมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภาคในต่างจังหวัด จากเรตติ้ง 2.425 ในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 1.638 ในปี 2561

 

ในภาพรวมรอบ 5 ปี เรตติ้งเฉลี่ยช่อง 7HD ลดลงจาก 3.194 ในปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ 1.827 ในปี 2561 เท่านั้น เป็นการลดจากทุกช่วงอายุผู้ชมในทุกกลุ่ม และทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตามแม้เรตติ้งเฉลี่ยจะลดลง แต่จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ช่อง 7HD เป็นช่องเดียวในกลุ่มช่องทีวีดิจิตอล ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยของช่องเกินกว่า 1 ในกลุ่มผู้ชมทุกช่วงอายุ

 

จากข้อมูลประเภทของรายการที่ออกอากาศทางช่อง 7HD ตั้งแต่ปี 2558 ตามรายงานที่แจ้งไว้กับสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ (สำนักงาน กสทช.)  จะพบว่า ในแต่ละปี ช่อง 7HD ให้สัดส่วน “รายการที่ผลิตเอง” มากที่สุด จากทุกประเภทรายการที่ออกอากาศในแต่ละปี ซึ่งรายการที่ผลิตเอง (ประกอบด้วยละคร ทั้งละครช่วงเย็น ละครหลังข่าวภาคค่ำ ละครเช้าวันหยุด และซิทคอม) เป็นเนื้อหารายการสำคัญของช่อง 7HD  โดยในปี 2558 มีสัดส่วนอยู่ที่ 41.44% และปี 2561 อยู่ที่ 33.11%

 

 “การให้เช่าเวลาออกอากาศ” เป็นประเภทรายการที่มีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เนื่องจากเป็นนโยบายของช่อง 7HD ที่ต้องการได้รายได้ที่แน่นอนจากเวลาที่ออกอากาศ โดยเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ผลิตรายการเข้ามาเช่าเวลารายการออกอากาศ

 

ทั้งนี้ตามประกาศของกสทช. มีเงื่อนไขระบุไว้ว่า สัดส่วนการให้เช่าเวลาของแต่ละช่องทีวีดิจิตอล จะได้ไม่เกิน 40% ของรายการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการให้เช่าเวลา เริ่มลดลง และมีสัดส่วนของ “การจ้างผลิต” เข้ามาเสริม โดยเริ่มมาตั้งแตปี 2559 ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างผลิต 3.11% และในปี 2560 อยู่ที่ 6.73% แสดงให้เห็นว่ารูปแบบเดิมของการให้เช่าเวลา อาจจะเริ่มไม่เหมาะกับสถานการณ์การแข่งขันสูง และผู้ผลิตรายการเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น จนหลายรายรับภาระค่าเช่าเวลาที่ราคาแพงไม่ไหว จนต้องจากไป เช่นกรณีรายการเกมโชว์ชื่อดัง “กิ๊ก ดู๋” ที่อยู่คู่ช่อง 7 มากกว่า 8 ปี ต้องย้ายช่องไปอยู่ช่อง PPTV ที่เสนอรูปแบบของการจ้างผลิตรายการ โดยที่ผู้ผลิตรายการไม่ต้องแบกรับภาระทั้งการจ่ายค่าเช่า และการหารายได้จากค่าโฆษณาเอง

 

นอกจากนี้ สัดส่วนรายการที่ต้องซื้อเนื้อหารายการหรือ นำรายการของผู้อื่นมาออกอากาศ หรือประเภทการซื้อลิขสิทธิ์รายการนั้น มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2561 มีสัดส่วนถึง 34.68% สูงที่สุด โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายการต่างประเทศ เช่นซีรีส์ และภาพยนตร์

 

เนื่องจากช่อง 7 เป็นช่องดั้งเดิม ออกอากาศมาตั้งแต่ยุคแอนะล็อก มีรายการที่ได้รับความนิยมเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมมาอย่างยาวนาน ชื่อเสียงของช่อง เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้ชมให้คงอยู่กับช่อง ดังนั้น

การสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้า (Brand Royalty) จึงเป็นปัจจัยสำคัญของช่อง 7 โดยเฉพาะการมีดาราที่ดึงดูดในสังกัดจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงแฟนละครไว้ที่ช่อง 7 แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดาราที่มีชื่อเสียงในสังกัดช่อง 7 เริ่มลาออก เพื่อเป็นดาราอิสระมากขึ้น จนช่อง 7 ต้องใช้กลยุทธ์สร้าง และผลักดันดาราหน้าใหม่ให้เร็วขึ้น ด้วยการจัดรายการประกวดคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ในหลากหลายรายการแข่งขันของช่อง ที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี เช่น ไทยซุปเปอร์โมเดล และมิสทีน ไทยแลนด์ หรือสมาร์ทบอย เป็นต้น

 

 

ในแง่รายได้จากธุรกิจทีวีของช่อง 7HD นั้น เนื่องจากในช่วงปี 2557- 2560 มีการแบ่งรายได้เป็นธุรกิจทีวีดิจิตอล และทีวีแอนะล็อก ทำให้รายได้ในส่วนของทีวีดิจิตอลมีเพียงแค่ 212 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายโครงข่ายดิจิตอลที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแผนการขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX ) ในปีแรกมีเพียงแค่ 50% เท่านั้น และค่อยๆขยายเพิ่มเป็น 80%  90% และ 95% จนครบในปี 2560  ทั้งนี้รายได้ของช่อง 7HD ในปี 2561 มีรายได้อยู่ที่  4,594 ล้านบาท นับเป็นช่องทีวีดิจิตอลที่ทำรายได้สูงที่สุด

 

นอกจากภาพรวม 5 ปีแรกของช่อง 7HD ที่ต้องเผชิญหน้ากับช่องใหม่ๆ จนเรตติ้งความนิยมทยอยลดลงแล้ว ช่วงปีต่อๆไปจากนี้ สถานการณ์ของผู้นำอันดับ 1 จึงอยู่ในสถานะที่ต้องรักษาความนิยม และชื่อเสียงช่องต่อไป ด้วยการใช้ทุกกลยุทธ์ของความได้เปรียบที่มีจากเดิมให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่

 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf

 

นอกจากนี้ ข้อมูลผลประกอบการของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ จำกัด ซึ่งรวมผลประกอบการของกิจการทีวีแอนะล็อค และทีวีดิจิทัล ที่ได้รายงานผลประกอบการไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น พบว่า กลุ่มช่อง 7 มีกำไรจากการประกอบกิจการทุกปี ไม่เคยพบกับคำว่าขาดทุนเลย เพียงแต่รายได้และกำไรลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่มีธุรกิจทีวีดิจิทัลเข้ามาในประเทศไทย โดยที่ปี 2557 มีรายได้รวมอยู่ที่ 10.428.40 ล้านบาท กำไร 5,510.87 ล้านบาท และในปี 2561 มีรายได้ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลืออยู่เพียง 5,750.07 ล้านบาท และมีกำไรลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2557 โดยมีกำไรอยู่ที่ 1,633.28 ล้านบาท

 

ผลประกอบการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) รวมทั้งแอนะล็อคและทีวีดิจิทัล ในรอบ 5 ปี ( 2557-2561)

Tagged