รวยไม่แคร์ใคร: ช่อง 7 ปี 61 ยืนหนึ่ง กำไร 1.6 พันลบ.!

ผลประกอบการ

ในขณะที่ทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ กำลังประสบปัญหารายได้ลด ต้นทุนสูง ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เหตุมาจากรายได้จากค่าโฆษณาลดลง มีการแข่งขันกันสูงจากทีวีดิจิทัลที่มีอยู่มากช่องมากเกินไป จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการให้ความช่วยเหลือด้วยคำสั่งคสช.4/2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 พร้อมๆกับการแห่ขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.ถึง 7 ช่อง

แต่ดูเหมือนไม่มีปัญหาสำหรับช่อง 7 เมื่อล่าสุด ผลประกอบการปี 2561 ของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือช่อง 7 ที่ได้แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่า มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่  5,750.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้รวม 5.723.92 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 1,633.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.67% จากปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,516.86 ล้านบาท

ในรายละเอียดงบการเงินของบริษัท มีรายได้หลักอยู่ที่ 4,691.54 ล้านบาท ต้นทุนขาย 2,425.67 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 1,430.1 ล้านบาท  และมีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 2,425.67 ล้านบาท

นอกจากนี้มีหนี้สินรวม 2,183.31 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 36,794.64 ล้านบาท

 ในปี 2561 เป็นปีที่ช่อง 7 ยังคงเป็นแชมป์เรตติ้ง ได้เรตติ้งเฉลี่ย 1.827 นำโด่งทุกช่อง แม้ว่าจะมีบางเดือนของปี 2561 ที่ตกเป็นรองช่อง 3 ไปจากผลกระทบของละคร “บุพเพสันนิวาส” บ้าง ในขณะที่ช่อง 3 ได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.331

อย่างไรก็ตามหากเทียบในแง่เรตติ้ง ปี 2561 และ 2560 จะพบว่าช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ยตกลงมาก จาก 2.114 ในปี 2560 ส่วนช่อง 3 ปี 2560 มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.348

ในขณะที่บีอีซี เวิลด์ ของกลุ่มช่อง 3 รายงานตลาดหลักทรัพย์ว่า ผลประกอบการปี 2561 มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 10,375 ล้านบาท แต่ขาดทุน 330 ล้านบาท เป็นปีแรกของบีอีซี เวิลด์ที่ขาดทุน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 11,226 ล้านบาท และกำไร 61 ล้านบาท ซึ่งสภาพขาดทุนยังคงต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2562 ที่บีอีซี เวิลด์ขาดทุน 128 ล้านบาท

นอกจากนี้เวิร์คพอยท์ ก็เป็นอีกช่องหนึ่งมีรายได้และกำไรลดลง โดยในปี 2561 มีรายได้ 3,594.28 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 รายได้รวม 3,852.50 ล้านบาท ในขณะที่กำไรปี 2561 อยู่ที่ 345.30 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ที่มีกำไรอยู่ที่ 904.09 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ เวิร์คพอยท์มีกำไรอยู่ที่  74.52 ล้านบาท ลดลง 55% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561

อย่างไรก็ตามความแตกต่างของช่อง 7 และช่อง 3 ในฐานะช่องใหญ่ที่ครองตลาดมานานตั้งแต่ยุคแอนะล็อก คือ ช่อง 7 ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจากรัฐมาเพียง 1 ใบ เท่านั้น จึงไม่มีภาระหนักในการบริหารช่องหลายช่อง และมีเวลาในการบริหารช่องเดียวและพัฒนาช่องทางออนไลน์เต็มที่ ในขณะที่ช่อง 3 ทุ่มประมูลใบอนุญาตมาถึง 3 ช่อง จนต้องขอคืนรัฐถึง 2 ช่อง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เจ็บต่อเนื่องแต่เบาๆ ช่อง 7 รายได้ กำไร ปี 60 ยังลดลง

Tagged