7 ช่องลาจาก ทำยังไงกับเลขช่องที่ว่างอยู่ (ตอนที่ 2)

เกาะติดจอ

โครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ร้องกสทช.ขอใช้เลขช่อง

ในระหว่างที่กสทช.ยืนยันว่า เลขช่องเดิมของบรรดาช่องทีวีดิจิทัล จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแล้ว การคงเลขช่องเดิมที่จากไปเอาไว้ในโครงข่าย ล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ จากการทำตามกฎ Must Carry ของกสทช. ที่ให้ทุกโครงข่าย ต้องนำทุกช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศด้วย

มีรายงานข่าวจากกสทช.เปิดเผยว่า PSI, ทรูวิชั่นส์ และผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ได้พยายามเรียกร้องขอให้กสทช.ยินยอมให้นำเลขช่องทีวีดิจิทัลที่ว่างไปแล้ว และกำลังจะว่างลงรวมทั้งหมด 9 ช่อง มาใช้ประโยชน์โดยการนำรายการช่องอื่นๆมาออกอากาศในช่องที่ว่างลงเหล่านั้น

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกิจการกระจายเสียง กสทช.ได้เริ่มตั้งทีมงานพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

บางส่วนมองว่า ผู้ประกอบการกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ล้วนมีต้นทุนในการคงเลขช่องเอาไว้ จึงเห็นว่าควรจะให้นำเลขช่องที่ว่างอยู่ไปลงช่องรายการอื่นๆบนโครงข่ายตัวเองได้ แต่อีกส่วนมองว่า อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการซื้อขายเลขช่องที่ว่างลงอีกครั้งในโครงข่ายทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2557 ที่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ กสทช.ก่อนที่กสทช.จะเข้ามาควบคุมด้วยการออกประกาศให้ทุกโครงข่ายและแพลทฟอร์มทีวี ต้องเรียงหมายเลขช่องด้วยชุดช่องทีวีดิจิทัลก่อนที่จะจัดช่องรายการในเครือข่ายตัวเอง เนื่องจากในช่วงนั้นแต่ละโครงข่าย มีข้อตกลงพิเศษกับบางช่อง ในการกำหนดเลขช่องลำดับต้นๆในเลขช่องในแต่ละกล่องตัวเอง

ดังนั้น หากมีการผ่อนผันเรื่องเลขช่องให้กับโครงข่ายก็จะต้องมีการแก้ไขกฏเกณฑ์ที่เคยกำหนดไว้

ปัจจุบันพฤติกรรมการรับชมทีวีของไทยจากรายงานสภาพตลาดกิจการทีวี ประจำปี 2561 ของกสทช.พบว่า การรับชมผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัลในสัดส่วนที่มากกว่าการรับชมผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี  โดยตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2561 พบกว่า TV Household Penetration สัดส่วนการเข้าถึงครัวเรือนไทยของช่องทางในการรับทีวี มีตัวเลขการรับชมผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัล 55.30% ผ่านโครงข่ายทีวีดาวเทียม 53.20% ผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวี 5.50% และผ่านโครงข่าย IPTV 0.80%

Tagged