ศึกยกใหม่ AIS vs True รับ การถ่ายทอดสด “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” ช่องทางออนไลน์

รายการข่าว

ศึกของ 2 ยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคม AIS และ True ในเรื่องการถ่ายทอดลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการกีฬาในช่องทาง AIS Play และ AIS Play Box  กลับมาปะทุอีกครั้ง ต้อนรับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร​ลีกเทศกาลใหม่ ที่กำลังจะเริ่มต้นเตะกันนัดแรก 10 ส.ค.นี้

ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก  3 ฤดูกาลใหม่นี้ ทรูวิชั่นส์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวีดิจิทัลให้กับช่องพีพีทีวี จำนวน 30 แมตช์ในฤดูกาลแรกนี้ พร้อมกับระบุว่า ทั้ง 30 แมตช์ทางพีพีทีวี จะ “จอดำ”ในทุกกล่องรับสัญญาณทีวี และทุกแอปพลิเคชันการดูทีวีออนไลน์ จนทำให้ ค่าย AIS ที่มีบริการ AIS Play และ AIS Play Box ต้องวิ่งหากสทช.เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แมตช์แรกจะเริ่มขึ้น

มีรายงานข่าวว่า AIS ได้ส่งหนังสือหารือกสทช.ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอยกเว้นไม่ออกอากาศ 30 แมตช์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ตามช่องทางออนไลน์ของ AIS ทั้งหมด เพื่อป้องกัน “ความเสี่ยง”ที่จะถูกฟ้องร้องตามพรบ.ลิขสิทธิ์ ทั้งๆที่ AIS เป็นผู้ให้บริการใบอนุญาตของกสทช. ที่ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry ของกสทช.ที่ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีในทุกบริการ จะต้องออกอากาศทุกรายการที่ออนแอร์บนทีวีดิจิทัล

ปัญหาเรื่องการออกอากาศรายการถ่ายทอดสดระหว่าง AIS และทรู เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2561 กรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แข่งที่รัสเซีย ที่ทรูวิชั่นส์เป็นผู้ได้สิทธิ และห้ามไม่ให้ ทุกกล่องรับสัญญาณและแอปพลิเคชั่นออนแอร์การถ่ายทอดสดดังกล่าว แต่ AIS ยืนยันการออนแอร์ทางช่องทาง AIS Play และ AIS Play Box ตามกฎ Must Carry ของกสทช. ที่มีคำสั่งของกสทช.ให้ออกอากาศได้ จนค่ายทรูไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จนมีการออกคำสั่งฉุกเฉินให้ AIS งดออนแอร์ทั้งหมด ต่อมาคดีนี้มีการไกล่เกลี่ยกัน และถอนคดีออกไป

แต่ในเดือนนี้ ปัญหาแบบเดียวกันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้ AIS พึ่งพากสทช.ในการตัดสิน ซึ่งล่าสุดอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านกิจการกระจายเสียง ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีมติยืนยันว่า AIS จะต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry โดยการออนแอร์ทุกรายการของทุกช่องทีวีดิจิทัลที่ส่งสัญญานมา เท่ากับว่าให้ AIS ออนแอร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้ เหมือนกรณีบอลโลก

มีการคาดการว่า สถานการณ์จะซ้ำรอยเดิม โดยที่ AIS จะออนแอร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปก่อน และทรูจะไปฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินไม่ให้ AIS ออกอากาศรายการนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาเรื่องสิทธิ์ในการออกอากาศรายการกีฬาที่คนไทยสนใจทางช่องทางออนไลน์ มักจะเกิดปัญหาขึ้นทุกครั้งหากว่า ลิขสิทธิ์ตกอยู่ในมือของ AIS และ True ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้คู่แข่งได้ออนแอร์ด้วย ส่วนกรณีการถ่ายทอดสดบอลพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลที่ผ่านมานั้น ลิขสิทธิ์เป็นของ BeIN บริษัทต่างชาติ ซึ่ง AIS ได้ใช้สิทธิ์ออนแอร์ตามกฎ Must Carry ของกสทช.

อย่างไรก็ตามได้เคยเกิดเหตุการณ์กรณีคล้ายกันเช่นนี้กับรายการ The Voice เสียงจริงตัวจริง ทางช่องพีพีทีวี ที่ได้เคยทำเรื่องถึงกสทช.ขอให้ AIS ระงับการออกอากาศ แต่กสทช.ยืนยันให้ AIS ออนแอร์ตามประกาศ Must Carry

ทั้ง AIS และทรู คือคู่แข่งรายสำคัญในวงการโทรคมนาคม AIS คือผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเบอร์ 1 รายใหญ่ที่สุดของไทยมีฐานลูกค้า 41.49 ล้านราย และมีลูกค้าบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจำนวน 795,000 ราย ในขณะที่ทรู มูฟ เฮช มีลูกค้า 29.6 ล้านราย และบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจำนวน 3.5 ล้านราย จากตัวเลขไตรมาส 1 ของปี 2562 ที่ทั้งคู่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า

แต่ในภาคกิจการทีวี ทรู อยู่กับธุรกิจนี้มาก่อน ตั้งแต่กิจการเคเบิลทีวี UTV ต่อมาเป็น UBC และกลายเป็นทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการเพย์ทีวีที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีคอนเทนต์แบบ exclusive และมีฐานลูกค้ารวมทั้งระบบสมาชิก และประเภทใช้งานกล่องจำนวนประมาณ 4 ล้านราย อีกทั้งยังมีบริการ TrueID คอนเทนต์ทีวีออนไลน์และ  ทีวีดิจิทัลอีก 2 ช่อง คือทรูโฟร์ยู และช่องข่าวทีเอ็นเอ็น

ค่ายเอไอเอส เพิ่งจะขยับเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจทีวีอย่างชัดเจนเมื่อปี 2559 หลังจากเห็นแนวโน้มของการให้บริการข้อมูลบนมือถือเพิ่มสูงขึ้น จากคอนเทนต์ทีวี คลิป วิดิโอ ที่มีผลทำให้รายได้ให้บริการบนเครือข่ายเพิ่มสูงขึ้น  จากคนที่เริ่มดูทีวีบนมือถือมากกว่าจอทีวีที่บ้าน จึงเริ่มเปิดบริการ AIS Play และ AIS Play Box โดยเข้าไปทำสัญญา exclusive คอนเทนต์ดังๆหลายรายการ ที่ฮือฮามากที่สุดในปี 2560 คือการคว้าลิขสิทธิ์  HBO ช่องหนังดังฮอลลีวู๊ด จากค่ายทรู มาอยู่ในสังกัด AIS Play  เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเอไอเอสก็เริ่มขยับหาคอนเทนต์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

ตัวเลขล่าสุดผู้ใช้บริการบนแอพพลิเคชั่นมือถือ AIS Play และ TrueID มียอดการดาวน์โหลดรายละมากกว่า 5 ล้านรายแล้ว

Tagged