ลือสะพัด แกรมมี่ขอซื้อคืนหุ้นช่อง GMM25 ทั้งหมดจากกลุ่มช้าง

รายการข่าว เกาะติดจอ

ข่าวดังเมื่อ 3 ปีก่อน คือการที่กลุ่มครอบครัว “สิริวัฒนภักดี” หรือกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หรือกลุ่มช้าง เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในทีวีดิจิทัลช่อง GMM25 จากกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ตั้งแต่ปี 2560 แต่ล่าสุดมีข่าวว่า จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กำลังจะเข้ามาซื้อหุ้นคืนทั้งหมดจากกลุ่มช้าง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มครอบครัว“สิริวัฒนภักดี” และ อากู๋ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แห่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กำลังเจรจาดีลซื้อขายหุ้นคืนครั้งนี้ โดยยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการซื้อขายครั้งนี้ แต่จะเป็นรูปแบบที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะกลับมาถือหุ้นใหญ่เพียงรายเดียวในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง อีกครั้ง

แหล่งข่าวจากวงการทีวีเปิดเผยว่า “ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจากันมาได้พักใหญ่แล้ว แต่ยังไม่จบเพราะยังมีรายละเอียดที่จะต้องคุยอีกมาก ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มช้างจะถอนตัวจากช่อง GMM25 แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในธุรกิจทีวีดิจิทัล โดยเป็นหุ้นใหญ่ในช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มช้าง ให้น้ำหนักทุ่มการลงทุนในช่องอมรินทร์ทีวีมากกว่า อีกทั้งอันดับช่องอมรินทร์ทีวี มีการเติบโตสูงจากรายการข่าว ในขณะที่ช่อง GMM25 เป็นช่องวาไรตี้ มีฐานผู้ชมกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน แม้ว่าจะพยายามขยายฐานผู้ชมในกลุ่มคนหัวเมืองและคนสูงอายุมากขึ้น จากการจัดละครพื้นถิ่นอีสาน รวมทั้งละครรสแซ่บลงผังรายการ บางเรื่องได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่หลายเรื่องก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ ความโดดเด่นของช่อง GMM25 เป็นกลุ่มซีรีส์วาย ซึ่งกลุ่มที่นิยมซีรีส์แนวนี้ก็มักจะนิยมรับชมทางสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อโทรทัศน์ ทำให้เรตติ้งช่อง GMM 25 ไม่โดดเด่นขึ้นมาอย่างเด่นชัดและยั่งยืนเสียที

ข้อมูลเรตติ้งเดือนล่าสุด ก.ค.63 ช่องอมรินทร์ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความโดดเด่นของรายการข่าว ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ที่เป็นอันดับที่สูงสุดของช่องตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ทีวีดิจิทัล ในขณะที่ช่อง GMM25 อยู่ในอันดับที่ 12 ไม่ได้เติบโตขึ้น ซึ่งช่อง GMM25 เคยทำอันดับได้สูงสุดอันดับ 10 เมื่อเดือนเม.ย.63

ระยะเวลา 3 ปีของการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของกลุ่มช้างในช่อง GMM25 ทำให้ยอดการขาดทุนของบริษัทลดลง จนในปี 2562 มีผลประกอบการขาดทุน 350 ล้านบาท ค่อยๆลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยขาดทุนสูงสุดถึง 650 ล้านบาทในปี 2558

ปี 62 กลุ่ม GMM25 โชว์รายได้ 823 ลบ. ขาดทุนลดลงเหลือ 350 ลบ.

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ซึ่งเป็นเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง GMM25 ในหมวดหมู่ช่องวาไรตี้ SD เป็น หนึ่งในสองช่องใบอนุญาตที่กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ประมูลมา โดยที่ช่อง One นั้น กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขายหุ้นครึ่งหนึ่งให้กับกลุ่มครอบครัวปราสาททองโอสถ

ที่ผ่านมากลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังคงเป็นฝ่ายคุมการบริหารทั้งช่อง One และช่อง GMM25 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้งกลุ่มปราสาททองโอสถและกลุ่มช้างเป็นเพียงบอร์ดบริหาร

อย่างไรก็ตามมีข่าวว่า ในการบริหารงานช่อง GMM25 เริ่มมีปัญหาระหว่างสองกลุ่มผู้ถือหุ้น ที่มีความเห็นแตกต่างกัน จนเป็นที่มาของการที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ขอซื้อหุ้นคืน เพื่อจะได้มาบริหารทิศทางคอนเทนต์ของทั้ง 2 ช่องให้สอดคล้องกัน

ข้อมูลการเข้ามาซื้อหุ้นของกลุ่มช้างในช่อง GMM25 เริ่มเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าได้ขายหุ้น 50% ที่ถืออยู่ใน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ) ซึ่งเป็นเจ้าของใบอนุญาตช่อง GMM25 ในมูลค่า 1,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท อเดลฟอส จำกัด โดยต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2560 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มเติม ถึงโครงสร้างสัดส่วนการถือหุ้นหลังจากมีผู้ถือหุ้นรายใหม่ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัดว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และบริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด และ บริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด เป็นผู้เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนบริษัทละ 24.99% โดยที่บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด เป็นบริษัทที่มีนายฐาปณ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้น 100% และบริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด เป็นบริษัทที่มีนายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้น 100% ทั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทที่บริษัท อเดลฟอส จำกัด กำหนดให้เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัดแทน

หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทอีก แต่ยังเป็นการถือหุ้นจากทั้งสองฝ่ายรายละ 50% เสมอมา

สำหรับข้อมูลล่าสุดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์วันที่ 23 เม.ย.63 พบว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล มีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้น 100% โดยที่ข้อมูลวันที่ 29 มิ.ย.63 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ถือหุ้นโดย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัท สิริดำรงธรรม ฝ่ายละ 50% และข้อมูลวันที่ 30 เม.ย.63 บริษัท สิริดำรงธรรม มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากครอบครัว “สิริวัฒนภักดี” ในนามบริษัท สิริภักดีธรรม และบริษัท อเดลฟอส (ตามภาพ) หากดูตามข้อมูลนี้พบว่า ยังเป็นการถือหุ้นของฝ่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และกลุ่มช้างเช่นเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ว่าแต่ว่าเบื้องหลังของข่าวที่สะพัดนี้ มีที่มาอย่างไร ใครใคร่ขาย ใครอยากซื้อ ทิศทางหลังการขายจะเป็นเช่นไร หากดีลจบ TV Digital Watch จะติดตามเรื่องราวเอามาเล่าให้ฟังกันต่อไป

Tagged