กสทช. เตือน New 18 กรณี JKN พร้อมเข้มงวดรายการ Tie In สินค้า

กสทช. เกาะติดจอ

วันนี้ (10 มีนาคม 2564) พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เชิญบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด และบริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด เกี่ยวกับกรณีที่บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด จะดำเนินการเช่าช่วงเวลาออกอากาศของช่อง นิว 18 (NEW 18) โดยเช่าช่วงเวลาออกอากาศตลอดทั้งวัน

พลโท พีระพงษ์ กล่าวว่า ผลของการหารือพบว่า บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ ได้ให้บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด เช่าเวลาเพื่อดำเนินรายการร้อยละ 40 และการร่วมผลิตรายการ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ. 2556 โดยที่ผ่านมา ช่อง NEW 18 เป็นช่องรายการที่มีเนื้อหารายการสร้างสรรค์สังคม และปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 จึงได้กำชับให้ ช่อง NEW 18) คำนึงถึงการคัดสรรผู้ร่วมผลิตรายการที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน และดำรงตนให้เป็นสื่อที่มีจริยธรรมอย่างเคร่งครัด และตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ชมเป็นหลัก

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ในที่ประชุมพลโท พีระพงษ์ได้สอบถามที่มาของการให้ JKN เช่าช่วงเวลาในครั้งนี้ ซึ่งตัวแทนของบริษัทชี้แจงว่า ช่อง New18 ประสบปัญหาเรื่องรายได้จากสปอนเซอร์ นับตั้งแต่มีข่าวว่า กลุ่ม TOP News เข้ามาเจรจากับช่อง ทำให้สปอนเซอร์ถอนตัวไปหลายราย จึงจำเป็นต้องหาผู้เช่าช่วงเวลาเพื่อสร้างรายได้ให้กับสถานี ซึ่งพลโท พีระพงษ์ได้ย้ำว่า ควรจะต้องเลือกผู้ผลิตรายการที่มีคอนเทนต์ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ชม

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ กสทช.ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทุกราย เพื่อแจ้งว่าต่อไปนี้ กสทช.จะเข้มงวดจริงจังกับรายการที่มี Tie In สินค้า โดยเฉพาะรายการที่เชิญดาราที่เป็นกระแสมาเป็นแขกรับเชิญในรายการ แล้วมาขายสินค้าในรายการ ซึ่งกสทช.จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้นเพราะนับเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาการขายโฆษณา ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.ได้เรียกประชุมชีแจงนโยบายเรื่องนี้ กับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปแล้ว

ปัจจุบันบรรดาผู้ประกอบการทีวีต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ โดยเฉพาะประเภทรายการขายสินค้าประเภท Tie In ที่กลายเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการทีวีไปแล้ว เหตุเพราะรายได้จากโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คอนเทนต์หลักของหลายช่องกลายเป็นการขายสินค้า

ตามพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ม.23 ระบุว่า กิจการทีวีที่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งรวมถึงทีวีดิจิทัลฟรีทีวีทั้งหมด จะมีโฆษณาได้ไม่เกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมง แต่เมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้ว ต้องไม่เกิน 10 นาทีต่อชั่วโมง

ส่วนกิจการทีวีแบบบอกรับสมาชิกนั้น ม.28 ระบุว่า จะมีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง แต่เมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้ว ต้องไม่เกิน 5 นาทีต่อชั่วโมง

หากช่องไหนทำผิดกฏเหล่านี้จะมีโทษตามกฎหมาย ตั้งแต่การเตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาตและถอนใบอนุญาต

Tagged