ผลวิจัยชี้ อีก 10 ปี 50% ของคนไทย ยังคงดูทีวี แต่เป็นกลุ่มคนสูงอายุ

กสทช.

เผยผลวิจัยอีก 10 ปี 50% ของคนไทย ยังคงดูทีวี แต่เป็นกลุ่มคนสูงอายุ ในขณะที่ช่องทางออนไลน์ เป็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ สาเหตุหลักจากการลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ทีวีไม่ตาย แค่ไม่เหมือนเดิม โฆษณาต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ถูก ขายคนแก่ยังต้องใช้สื่อทีวี กลุ่มคนรุ่นใหม่ชีวิตติดใช้ออนไลน์ โอกาสเปิดกว้างของคนผลิตคอนเทนต์ เมื่อคนยึดติดรายการเดิมๆน้อยลงเรื่อยๆ

สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย ในปี 2562 โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ใน 5 ภูมิภาคตามเกณฑ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งพื้นที่จังหวัดที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้มีจำนวน 26 จังหวัด

จากผลการศึกษา ในภาพรวมพบว่า ในบรรดาสื่อทุกประเภท คนไทยมีการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว (รวมถึงการรับชมทีวี และช่องทางออนไลน์) มากที่สุด โดยมีผู้รับชมร้อยละ 85.9 รองลงมา ได้แก่ การบริโภคสื่อกลางแจ้ง (ป้ายโฆษณาต่างๆ) ซึ่งมีผู้พบเห็นสื่อประเภทดังกล่าวร้อยละ 84.3  สำหรับสื่อทางเสียง (วิทยุ) และสื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีผู้บริโภคร้อยละ 55.6 และร้อยละ 51.5 ตามลำดับ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่มีผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยมีผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพียงร้อยละ 33.7 เท่านั้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่สำคัญ (Key Findings) สามารถสรุป ได้ดังนี้

  1. พฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุโดยกลุ่ม
    ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) ยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก อาทิ การรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ การอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า (กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด) มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคสื่อออนไลน์ สำหรับกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ (ช่วงอายุ
    42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนอเรชัน (Generation Divide) และช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ทั้งนี้ พฤติกรรม
    ที่แตกต่างกันดังกล่าวโดยสรุปมีดังนี้
  • การรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านช่องทางดั้งเดิม ได้แก่ ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม มีแนวโน้มลดลงตามกลุ่มเจเนอเรชันที่มีอายุน้อยลง ในทางตรงข้าม การรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้น สัดส่วนผู้ชมจะเพิ่มมากขึ้นตามกลุ่มอายุที่น้อยลง ซึ่งแสดงให้
    เห็นว่า คนรุ่นใหม่รับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุ
  • รูปแบบการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหว ระหว่างการรับชมสดตามตารางออกอากาศกับการรับชมย้อนหลังและ/หรือรับชมตามความต้องการ (On-demand) แนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มรับชมตามตารางออกอากาศค่อนข้างมาก และสัดส่วนการรับชมจะลดลงตามกลุ่มเจเนอเรชันที่มีอายุน้อยลง สำหรับการรับชมย้อนหลังและ/หรือตามความต้องการผ่านช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนผู้รับชมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้มีอายุน้อย นอกจากนี้ สัดส่วนผู้รับชมทั้งสองรูปแบบยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีอายุน้อยมีรูปแบบทางเลือกในการบริโภคสื่อที่หลากหลายกว่า
  • การฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง และการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ เป็นประเภทสื่อที่เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มเจเนอเรชันได้ชัดเจนมากที่สุด โดยกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ มีสัดส่วนผู้ฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง และรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์น้อยมาก ขณะที่กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด มีการบริโภคสื่อทั้งสองประเภทในสัดส่วนที่สูงมาก
  • ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หันไปบริโภคหนังสือพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์มากกว่า โดยกลุ่มเจเนอเรชันแซดและวาย มีสัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์เท่านั้น (ไม่อ่านในรูปแบบกระดาษ) ถึงร้อยละ 43.9 และ 31.5 ตามลำดับ ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุ (กลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. และเบบี้บูมเมอร์) มีสัดส่วนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษเท่านั้นสูงถึงร้อยละ 75.0 และ 65.3 ตามลำดับ 
  • ผู้สูงอายุจะติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าว (ทั้งผ่านหนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และเว็บไซต์ ของสำนักข่าวต่างๆ) มากที่สุด และสัดส่วนของการติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงตามช่วงวัยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย นิยมติดตามข้อมูลข่าวสารจากการแชร์ของเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด รองลงมาคือติดตามจากบัญชีผู้ใช้ของนักข่าวบนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม
  • ปัจจัยด้านอายุส่งผลต่ออิทธิพลของสื่อที่มีต่อการตัดสินใจ โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนของ
    ผู้ที่ระบุว่าไม่มีสื่อโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสูงกว่ากลุ่มเจเนอเรชันอื่นๆ มาก และสัดส่วนการไม่มีสื่อโฆษณาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีแนวโน้มลดลงตามกลุ่มเจเนอเรชันที่มีอายุน้อยลง อย่างไรก็ดี โฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัยมากที่สุด ขณะที่โฆษณาในสื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
  1. ในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่บริโภคเป็นประจำ ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ (Loyalty) ของผู้บริโภคในสื่อประเภทต่างๆ ลดน้อยลง
  2. จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ พบว่า ปัจจัยด้านรายได้และระดับการศึกษา
    มีผลต่อความแตกต่างของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ
     โดยรายได้เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการเข้าถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (ในที่พักอาศัย) ครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มเชื่อถือโฆษณาจากสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่เชื่อถือโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์น้อยลง นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้สูงมีสัดส่วนการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ตสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง
    มีแนวโน้มรับชมรายการย้อนหลัง/ตามความต้องการ (On-demand) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
  3. สื่อหนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อที่สะท้อนสถานการณ์ Digital Disruption มากที่สุด โดยผู้บริโภคหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจเนอเรชันวาย และแซด ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างเห็นได้ชัด
  4. ถึงแม้ว่าประชากรอายุน้อยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่ประชากรสูงวัยยังคงบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
    โดยใช้ 
    Cohort Study พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก ประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ กล่าวคือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรมีแนวโน้มรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ และประมาณร้อยละ 40.0 ของประชากรจะยังอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษอยู่

Tagged