The sum of all fears ในวงการทีวีดิจิทัล

เกาะติดจอ

The Sum of All Fears ในวงการทีวีดิจิทัล

ภาพยนตร์ “The sum of all fears หรือ วิกฤตนิวเคลียร์ถล่มโลก” เป็นภาพยนตร์ฮอลีวู๊ดแนวระทึกขวัญ-สายลับ ออกฉายเมื่อปี 2545 ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Sum of All Fears ของ Tom Clancy เนื้อเรื่องเกี่ยวกับแผนของนีโอนาซีชาวออสเตรียที่จะกระตุ้นให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียเพื่อที่จะได้สถาปนารัฐฟาสซิสต์ขึ้นในยุโรป ที่แสดงให้เห็นอานุภาพ”ความกลัว”ของเหล่าชาติพี่เบิ้ม จนเกือบจะกลายเป็นสงครามโลก

บทสรุปที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เมื่อ”ความกลัว”เข้าครอบงำ ความขัดแย้ง มักจะเกิด ต่างคนต่างกลัว มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม อันเป็นต้นตอของความเสื่อมถอย โบราณจึงบอกไว้ว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม”

ทีวีดิจิทัลก็เช่นกัน ที่ถูก”ความกลัว”ผลักให้มาถึงจุดที่รัฐต้องออก ม44 ในเร็ววันนี้

เริ่มตั้งแต่ ”ความกลัว” ของทีมผู้จัดการประมูลของกสทช. ที่กลัวว่าหากมีจำนวนช่องทีวีมาประมูลไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ราคาแข่งขันสูงเกินไป จะไม่มีเงินมาสร้างคอนเทนต์ดีๆ จึงสำรวจตลาด ที่มีทีวีดาวเทียมในตลาดหลายร้อยช่อง และวิเคราะห์ศักยภาพผู้ลงทุน จนสรุปออกมาที่ 24 ช่อง 4 หมวด ทั้ง 7 ช่องHD, 7ช่องวาไรตี้, 7 ช่องข่าว และ 3 ช่องเด็กและครอบครัว เพื่อสนองความต้องการของตลาดให้อย่างทั่วถึง

“ความกลัว” ต่อมาคือ อาการกลัวตกขบวนของเจ้าของสื่อทั้งหลายที่กระโดดสู่การประมูล ที่กระหน่ำกดจนราคาขึ้นไปสูงปรี๊ด ด้วยความหวังอันสดใสว่า มูลค่าตลาดโฆษณามหาศาลรออยู่ภายภาคหน้า จะสามารถแบ่งเค้กกันเอง แย่งชิงมาจากเจ้าตลาดรายเดิมได้ไม่ยากเย็น

สองอาการความกลัว ผสมโรงกัน ผลที่ได้ไม่ได้เป็นไปตามที่แต่ละคนคาดหวัง วงเงินประมูลสูงลิ่ว 50,862 ล้านบาท พร้อมภาพฝันของเจ้าของใบอนุญาตใหม่ ที่จะเดินไปบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบไว้พร้อม เกิดมีทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่ต่างจะต้องแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงเค้กรายได้ชิ้นโตเข้ามาครอบครอง

“ความกลัว”ของการแข่งขันทางธุรกิจ

สถานการณ์ต่อมาคือ ความกลัวคู่แข่งด้วยกันเอง ในช่วงปีแรก มีการแบ่งกลุ่มชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการรายเดิม และรายใหม่ที่เข้ามารวมตัวกัน

เมื่อเจ้าของทีวีหน้าเก่ายังคงจับมือกันเหนียวแน่นในกลุ่มทีวีพูล รายใหม่ที่เกิดขึ้นจึงหันไปรวมตัวกันเอง ตั้งสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อร่วมมือกันในการเรียกร้องผลประโยชน์ร่วมกัน ท่ามกลางมิตรใหม่ทั้งหมด ก็ยังแฝงไว้ด้วยความระแวง และต้องแข่งขันกันเองในสงครามดิจิทัลทีวียกแรก ที่ต่างฝ่ายต่างต้องทุ่มเทกำลังเงินเต็มที่เพื่อสร้างแบรนด์ และคอนเทนต์ที่โดนใจ ดึงดูดผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย

“ความกลัว”จากเกมขั้วอำนาจภายในกสทช.

ในขณะที่ผู้ประกอบการทุ่มเทกำลังในการสร้างคอนเทนต์ ผู้ควบคุมกฎอย่างกสทช. ที่วางโรดแมปของเส้นทางทีวีดิจิทัลเอาไว้ ก็ต้องเสียเวลาออกนอกเส้นทางจากปัญหาเรื่อง”อำนาจ”

“หัวใจ”ของการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อคมาสู่ดิจิทัล ก็คือ “คูปอง” ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คนดูทีวีทั้งหมดสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้โดยอัตโนมัติ ด้วยกลไกกฎระเบียบที่วางไว้ ราคาคูปองที่กำหนดไว้เบื้องต้น 1,200 บาทต่อกล่องเพื่อแจกให้ครอบครัวทั่วประเทศได้รับชมทีวีอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด ใครเคยดูแบบไหน เพียงแค่อัพเกรดกล่องให้เป็นดิจิทัล ก็รับชมได้แบบเดิม สำหรับผู้ชมทีวีทั่วไทยที่ดูผ่านกล่องดาวเทียมและเคเบิลถึง 70% ของประชากร ก็จะรับชมทีวีดิจิทัลได้ทันที ภายใต้เงื่อนไขของกฎ Must Carry ที่บังคับให้ทุกกล่องต้องออกอากาศทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องไปด้วย โดยไม่ต้องรอการขยายเครือข่ายผ่านระบบภาคพื้นดินที่บรรดาผู้ประกอบการโครงข่าย (MUX) ต้องใช้เวลา

แต่ก็กลายเป็น”จุดอ่อน” ที่โดนตีตกด้วยแรงหนุนของทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และกลุ่ม NGO ในปัจจัยเรื่อง”ราคา” ที่มีบรรดาผู้ประกอบการกล่องทีวี ที่มีส่วนได้เสียผลประโยชน์มหาศาล เข้ามาร่วมวงสงครามแห่ง ”ความกลัว” บวกกับพลังจากอีกขั้วอำนาจในกสทช.ที่ต้องการประลองกำลังกันเอง ทำให้รูปแบบของ”คูปอง” แลกกล่องทีวีดิจิทัลล่มอย่างไม่เป็นท่า ลดมูลค่าลงเหลือ 690 บาท แลกเฉพาะกล่องดิจิทัลที่รับชมได้กับเสาอากาศภาคพื้นดินเท่านั้น โครงการ”คูปอง”จึงเป็นโครงการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทิ้งเงินหลายพันล้านไป กับการแลกกล่อง ที่ผู้แลกไปไม่ได้ใช้ เพราะไม่เข้ากับระบบที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. พบว่า จำนวนคูปองดิจิทัลทีวีทั้งหมดที่สำนักงาน กสทช. แจกออกไปตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 17,555,958 ใบ ยอดคูปองที่ประชาชนนำมาแลกทั้งหมดจนถึงวันที่ 19 ธ.ค. 2560 มีจำนวน 9,836,038 ใบ คิดเป็นแค่ 56.03% คิดเป็นยอดเงินทั้งหมด 6,786,866,220 บาท

บทสรุปของปัญหา”คูปอง” ก็คือ การชิงดีชิงเด่นกันเองภายใน จนปล่อยให้ผู้ที่ไม่เข้าใจปัญหาทั้งระบบมาจัดการจนยากเกินเยียวยา

“ความกลัว” ระดับชาติ

สภาพปัญหาระดับชาติ จนมีคสช.เข้ามาจัดระเบียบในประเทศ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมทีวีดิจิทัล ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐในการสื่อสารถึงประชาชน ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ทั้งหมดที่เคยทำรายได้จากค่าโฆษณา จึงกลายเป็นเวลาของรัฐในทุกๆวัน กลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหมด ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ จนบรรดาผู้ประกอบการต้องรวมกันกดดันรัฐบาลหลายต่อหลายครั้งเพื่อขอความช่วยเหลือ

คสช ได้ใช้ม.44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลครั้งแรก 20 ธ.ค.2559 รัฐบาลออกคำสั่งม.44 โดยให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลออกไปใน 2 ส่วนคือ ส่วนราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในปีที่ 4 ให้ยืดออกไปจ่าย 2 ปี ส่วนวงเงินประมูลส่วนเกินที่ต้องจ่ายปีที่ 4 -6 ให้ยืดออกไปเป็น 6 ปี โดยทั้งหมดที่ยืดออกไปต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี หลังรัฐออกมาตรการ มีเพียง 5 รายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคือ ช่อง7, เวิร์คพอยท์,สปริงนิวส์ และ 2 ช่องในกลุ่มทรูได้แก่ ทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น และอีก 2 ช่องของไทยทีวีของ”เจ๊ติ๋ม” ที่มีการฟ้องร้องกสทช.ในศาลปกครอง

นอกจากนี้ม.44 ครั้งนั้นยังให้กสทช.รับภาระจ่ายค่าเช่าโครงข่าย( MUX) ในวงเงิน 2,500 ล้านบาทเป็นเวลา 3 ปี

ดูเหมือนว่า มาตรการครั้งแรกจะยังไม่คงเพียงพอต่อบรรดาผู้ประกอบการ จึงยังคงเรียกร้องต่อไป จนล่าสุดมีการชงเรื่องเสนอให้พักการจ่ายเงินค่าประมูลเป็นเวลา 3 ปี แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.5% และกสทช.จะช่วยจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย(MUX) ไม่เกิน 50% ให้อีก 2 ปี

หากไม่มีคำสั่งม.44 ออกมาเพื่อยืดระยะเวลาการจ่ายเงินอีกตามสัญญาแล้ว ในงวดที่ 5 เดือนพ.ค.นี้ ทุกช่องจะต้องจ่ายตามงวดที่ระบุไว้เดิมรวมทั้งหมด 24 ช่อง เป็นเงิน 5,131 ล้านบาท (ไม่รวม VAT ) วงเงินยังคิดรวม 2 ช่องของไทยทีวี เนื่องจากคดีความที่ศาลปกครองยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ แม้ว่าล่าสุดศาลปกครองตัดสินให้”เจ๊ติ๋ม”ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป แต่กสทช.ก็อยู่ระหว่างยื่นอุทรณ์ในชั้นศาลปกครองสูงสุด

ชัยชนะของ”เจ๊ติ๋ม” ที่ศาลปกครองกลาง ต่อความหวังของบางช่องทีวีดิจิทัลที่อยากจะขอยกเลิกใบอนุญาต ที่หวังจะใช้บรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อทิ้งใบอนุญาตที่ถือครองไว้มากจนเกินความจำเป็น และบางช่องที่กำลังรวมกิจการกัน เพื่อหยุดภาวะขาดทุนสะสม บรรเทา”ความกลัว”ในสภาพที่ไปต่อไม่ไหวลงได้

ม.44 ยาบรรเทา”ความกลัว”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครการรันตีได้ว่า คำสั่งม.44 ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะออกมานี้ จะเป็นมาตรการดับ”ความกลัว”ทั้งหมดลงได้เบ็ดเสร็จ ที่ช่วยให้บรรดาช่องทีวีดิจิทัลค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาจากปากเหวได้หรือไม่

เมื่อรีโมทอยู่ในมือผู้ชม คอนเทนต์ที่แข็งแรง โดนใจผู้ชมเท่านั้น ที่จะทำให้ทุกคน”รอด”ได้อย่างแท้จริง

ม.44 เสมือนยาบรรเทา”ความกลัว” แต่เมล็ดพันธุ์”ความกลัว” ยังคงฝังรากลึกในวงการทีวีดิจิทัล

บางที วิธีออกจากวงจร”ความกลัว” ก็เพียงมี”ความกล้า”ยอมรับความจริง

ในทุก”ความกล้า” และเผชิญ”ความกลัว” สำหรับธุรกิจ ต้องยอมรับความเสี่ยง ที่จะมีกำไร หรือเจ๊ง เป็นเดิมพัน

Tagged