“ประชุม มาลีนนท์” ลาขาดช่อง 3 ขายหุ้นหมด ; 3 พี่สาวซื้อหุ้น กว่า 300 ลบ.

รายการข่าว เกาะติดจอ

“ประชุม มาลีนนท์” น้องเล็กของตระกูลมาลีนนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 ปิดฉากบทบาทในการบริหารบริษัทของครอบครัวไปแล้ว เมื่อประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหารทุกตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 หลังครบรอบ 50 ปีกลุ่มช่อง 3 แต่ล่าสุดก็มีข่าวว่า “ประชุม” ได้ลาขาดธุรกิจนี้จริงจังด้วยการขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด ซึ่งจากรายงานข่าวว่า เป็นการขายให้กับพี่สาว 3 คน รัตนา-อัมพร และ นิภา

 รายงานข่าวจากวงการทีวี เปิดเผยกับ TV Digital Watch ว่า ก้าวของการขยับครั้งใหม่ในตระกูลมาลีนนท์ ใน Generation ที่ 2 (GEN 2 ) พี่น้องชายหญิง 8 คน ลูกของ “วิชัย มาลีนนท์”  ที่เคยถือหุ้น บริษัท บีอีซี เวิลด์ ( BEC) ทั้ง 8 คน จนมาถึงวันนี้ เหลือเพียงครอบครัวของ 6 คนเท่านั้น ที่ยังถือหุ้นอยู่ ได้แก่ 2 ครอบครัวฝ่ายชาย “ประสาร” – “ประชา”  และ 4 พี่น้องผู้หญิง “รัตนา-อัมพร-นิภา” และ รัชนี นิพัทธกุศล (มาลีนนท์)

หลังจากที่ครอบครัว “ประวิทย์” ขายหุ้น BEC ออกหมด ในช่วงต้นปี 2561 แล้ว คราวนี้เป็นรอบของครอบครัว “ประชุม” ที่ได้ทยอยขายหุ้นออกไป ตั้งแต่ “ประชุม” ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งบริหารเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

ครอบครัว “ประชุม” รวมลูก 3 คน จิรวัฒน์ ปราลี และ นบชุลี ถือหุ้น รวมกันกว่า 4% ตั้งแต่ “ประชุม” มารับตำแหน่งบริหารเมื่อวันที่ 21 มี.ค.60 แต่รายงานการถือหุ้นที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด 7 ก.ค.63 ไม่ปรากฏรายชื่อลูกทั้ง 3 คนของ “ประชุม” ในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป พร้อมๆกับมีการรายงาน ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 ถึงการซื้อหุ้นของ 3 สาว รัตนา-อัมพร-นิภา มาลีนนท์ รวมกันทั้งหมด 8 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.80 บาท รวมเป็นเงิน 105.6 ล้านบาท

-รัตนา ซื้อ 8 ล้านหุ้น รวม 38.4 ล้านบาท

-อัมพร ซื้อ 7 ล้านหุ้น รวม 33.6 ล้านบาท

-นิภา ซื้อ 7 ล้านหุ้น รวม 33.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อลูก 3 คนของ “ประชุม” จะหายไปจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งอาจจะตกเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่ถือน้อยกว่า 0.5% ที่จะไม่มีการรายงานในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังปรากฏชื่อ “ประชุม” เป็นผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 40 ล้านหุ้น หรือ 2% ในรายงานการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ BEC ในวันที่ 7 ก.ค.63

 

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า วันที่ 8 ก.ค.มีความเคลื่อนไหวการซื้อหุ้น BEC จาก 3 พี่น้องหญิง “มาลีนนท์” ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร BEC ซื้อหุ้นรวมกัน 3 คน 40 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 5.20 บาท เป็นวงเงินรวม 207.98 ล้านบาท  โดยมีรายละเอียดระบุว่า

-รัตนา ซื้อ 12.666,600 หุ้น รวม 65.86 ล้านบาท

-อัมพร ซื้อ 13,666.700หุ้น รวม 71.06 ล้านบาท

-นิภา ซื้อ 13,666,700 หุ้น รวม 71.06 ล้านบาท

แต่ไม่มีรายงานการขายหุ้นจากกรรมการบริหารรายใด

ซึ่งน่าสังเกตว่า จำนวนการซื้อหุ้นรวม 40 ล้านหุ้น ของทั้ง 3 คน เป็นตัวเลขมูลค่าหุ้นเท่ากับที่“ประชุม มาลีนนท์” ถืออยู่ จากข้อมูลที่รายงานการถือหุ้นของบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ BEC ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้แหล่งข่าวคอนเฟิร์มว่า “ประชุม” ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับพี่สาวทั้ง 3 คนเรียบร้อยแล้ว รวมมูลค่าการซื้อหุ้นของ 3 สาวมาลีนนท์ 2 รอบจากครอบครัว “ประชุม” เป็นมูลค่ารวม 313.58 ล้านบาท

จากข้อมูลการซื้อหุ้นเพิ่มของทั้ง 3 คน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัตนา เพิ่มจาก 9.38% เป็น 10.016% ส่วนอัมพร และนิภา ขยับจากถือหุ้นคนละ 6.81% เป็นคนละ 7.49% รวม 3 พี่น้องถือหุ้นในสัดส่วน 24.99% และหากรวมกับหุ้นของครอบครัวรัชนีอีก 5.88% จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 30.87% เป็นกลุ่ม 4 สาว “มาลีนนท์” ที่คุมบังเหียนอาณาจักรช่อง 3 ในปัจจุบัน

ช่อง 3 ยุคของ “นายหญิง” มาลีนนท์

กว่า 3 ปีที่ “พี่น้องมาลีนนท์” ยกอำนาจการบริหารให้กับกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพ 2 ชุด ตั้งแต่ “ประชุม” เข้ามารับตำแหน่ง CEO วันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ราคาหุ้นอยู่ที่ 15.90 บาท ต่อหุ้น มูลค่าบริษัทรวม 31,800 ล้านบาท จนกระทั่งวันที่ 26 มี.ค.2563 ประชุม มาลีนนท์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหาร ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.30 บาท มูลค่าบริษัทเหลืออยู่เพียง 6,600 ล้านบาทเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน จากบทเรียน 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการดึง “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” อดีตลูกหม้อกลับมารับตำแหน่งบริหารอีกครั้ง ที่ไม่ได้ใหญ่เช่นเดิม “สุรินทร์” มารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ ด้านธุรกิจทีวี รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจทีวีเท่านั้น ไม่รวมธุรกิจอื่นๆใน BEC  แต่ก็เป็นโอกาสทองในการพิสูจน์ฝีมือของ “สุรินทร์” อีกครั้ง หลังจากที่เขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่หวังไว้ในช่อง PPTV

BEC มีโครงสร้างธุรกิจ 6 ด้าน ที่นอกเหนือจากรายได้จากธุรกิจทีวีแล้ว ยังมี ธุรกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่ ธุรกิจสื่อใหม่ ธุรกิจการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ธุรกิจการจัดการแสดงและการขายบัตร ธุรกิจวิทยุ และธุรกิจต่อเนื่องและสนับสนุน

นอกจากนี้บรรดาผู้บริหารทั้งหมด ยังต้องทำงานผ่านคณะกรรมการบริหาร ที่มีทั้งหมด 9 คน แต่มี 5 สาว “มาลีนนท์” ตั้งแต่ 3 สาว Gen2  “รัตนา –อัมพร- รัชนี”  และอีก 2 สาว Gen3  -เทรซี่ แอนน์ (ลูกสาวประชา) และ ปิ่นกมล (ลูกสาวประสาร) เป็นทีมใหญ่ที่ช่วยกำหนดทิศทางการทำงานในบริษัท

ในขณะที่ตัวแทนของตระกูลมาลีนนท์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ BEC ถือหุ้นรวมกัน 39.3% ( ณ. 7 ก.ค.63) เข้ามาเป็นบอร์ดบริษัทจำนวน 5 คน และกรรมการภายนอกรวมประธานบอร์ดอีก 6 คน

นอกเหนือตระกูลมาลีนนท์แล้ว ตระกูล “จุฬางกูร” เป็นอีกหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BEC โดยข้อมูล ณ. วันที่ 7 ก.ค.3 ครอบครัว “จุฬางกูร” ที่ประกอบไปด้วย “ทวีฉัตร-ณัฐพล-หทัยรัตน์” ถือหุ้นรวมกัน 19.63% อย่างไรก็ตามการเข้ามาถือหุ้นของ “จุฬางกูร” นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการเข้ามาถือหุ้นลงทุนไม่ได้มีเจตนาเข้ามาบริหารงานแต่อย่างใด

ด้วยโครงสร้างการบริหารที่วางขึ้นมาใหม่นี้ อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร จึงตกอยู่ในมือของกลุ่ม “นายหญิง” มาลีนนท์ ทั้งหมด

ในอดีต ช่อง 3 ยุครุ่งเรืองสุดขีด หุ้น BEC ในเดือนก.พ.2566 มีมูลค่าหุ้นสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ราคา 79.5 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์สูงถึง 159,000 ล้านบาท และมาถึงจุดต่ำสุด ในวันที่ 24 มี.ค. 2563 มีมูลค่าหุ้น 3.04 บาท คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่เพียง 6,08ล้านบาท ราคาล่าสุด ในวันที่ 7 ก.ค.63 ที่ปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น7 มีมูลค่าหุ้นอยู่ที่ 5.10 บาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ 10,200 ล้านบาท ซึ่งยังห่างไกลจากอดีตอันรุ่งเรือง

กลุ่มช่อง 3 ในยุคที่ “นายหญิง” มาลีนนท์ จากผู้เคยอยู่เบื้องหลังมานาน กลับเข้ามานำทัพอีกครั้ง จะนำเรือลำใหญ่ฝ่าฟันกระแสวิกฤตเศรษฐกิจ และ Techonology Disruption ไปได้สำเร็จหรือไม่ จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง

 [post-views] 

Tagged