เรตติ้งเฉลี่ย 11 เดือนทีวีดิจิทัล ปี 2561 ช่องใหญ่ลด ช่องใหม่เพิ่ม

เรตติ้งทีวี เรตติ้งประจำปี

 

เตรียมรับศักราชใหม่ ปี 2562 ทีวีดิจิทัลกำลังรอคอยการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างมีความหวัง ด้วยมาตรการชดเชยจากการยอมสละย่านคลื่น 700MHz เพื่อนำไปประมูลบริการ 5G

 

สำหรับผลงาน 11 เดือนของ 25 ช่องทีวีดิจิทัลในปี 2561 ในแง่เรตติ้ง มีเพียง 10 ช่องที่มีเรตติ้งเฉลี่ยดีขึ้น ในขณะที่ส่วนใหญ่จำนวน 15 ช่องมีเรตติ้งเฉลี่ยลดลง ช่องที่มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงมากที่สุด 2 ช่องแรกคือ ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ ส่วนช่องที่มีเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ โมโน และ ไทยรัฐทีวี

 

2 ช่องใหญ่ ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลง แสดงให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันวงการทีวี ที่มีหลากหลายช่อง ต่างแข่งขันการนำเสนอคอนเทนต์หลากหลาย ดึงผู้ชมออกจากช่องใหญ่ไปได้มาก ทำให้ช่อง 7 ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงถึง 0.295  ส่วนช่อง 3 มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงเพียง 0.003 เพราะปีนี้มีอิทธิพลจากละคร “บุพเพสันนิวาส” เข้ามาพยุงเรตติ้งของทั้งช่องตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกจนถึงกลางปี ไม่เช่นนั้นก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเรตติ้งลดลงแรงเช่นเดียวกับช่อง 7

 

เวิร์คพอยท์ในฐานะช่องที่มาแรงที่สุดในปี 2560 แต่ในรอบ 11 เดือนของปีนี้แผ่วลง แม้ว่าได้การถ่ายทอดสดรายการกีฬาหลายรายการทั้งเอเชี่ยนเกมส์ และวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกเข้ามาช่วย แต่เรตติ้งเฉลี่ยทั้งช่องลดลงถึง 0.206  ซึ่งล่าสุดเวิร์คพอยท์เตรียมลุยคอนเทนต์ใหม่ๆในปีหน้าไว้มากมาย ที่ระบุว่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากรายการร้องเพลงที่มีอยู่เต็มช่อง

 

โมโน ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ชมที่ไม่สนใจละครไทย หรือวาไรตี้ ได้ฐานผู้ชมหลักในกลุ่มต่างจังหวัด เป็นช่องที่มีเรตติ้งสูงโดดเด่นที่สุดในรอบ 11 เดือนนี้ ส่วนไทยรัฐทีวี ความโดดเด่นเรื่องการรายงานข่าว “13 หมูป่าติดถ้ำหลวง” คือภาพจำของไทยรัฐทีวีในสายตาผู้ชม ทำเรตติ้งโตสูงสุดในอันดับ 2 รองจากโมโน

 

ช่อง 8 ของอาร์เอส และช่องวัน ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 2 ค่ายเพลงชั้นนำของเมืองไทย ก็ตามกันมาเป็นคู่แข่งกันสูสีในวงการทีวีดิจิทัล ไฮไลท์ของช่อง 8 คือซีรี่ส์อินเดีย ส่วนช่องวันคือละครไทย แม้ช่องวันจะมาแรงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เมื่อช่อง 8 จัดละครไทยลงผังบ้าง ก็ยังทำให้ภาพรวม 11 เดือน ช่อง 8 ยังคงมีเรตติ้งเฉลี่ยสูงกว่าช่องวันเล็กน้อย

 

คู่ของไทยรัฐทีวีและอมรินทร์ ยังคงเป็นคู่ต่อกรสำคัญ ที่ชูธงรายการข่าวเช่นเดียวกัน แต่เป็นไทยรัฐที่พลิกมาแซงอมรินทร์ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 7 เมื่อเทียบกับปี 2560  ที่อยู่ในอันดับ 9 ในขณะที่อมรินทร์ทีวีก็ทำเรตติ้งเฉลี่ยดีขึ้นเช่นกัน แต่อันดับลดจาก 7 ในปี 2560 มาอยู่อันดับ 8 ปีนี้

 

ช่อง 3SD และช่อง 9 เรตติ้งเฉลี่ยดีขึ้นจากปีก่อน จากกลยุทธ์ของละครรีรัน และซีรี่ส์ของช่อง 3SD ส่วนช่อง 9 ได้จากรายการข่าว ที่เป็นรายการสำคัญของช่อง เช่นเดียวกับกลุ่มช่องข่าว ทั้งไทยพีบีเอสและเนชั่นทีวี ล้วนได้เรตติ้งสูงขึ้นด้วยช่วงสถานการณ์ข่าวหมูป่าเช่นเดียวกัน ในขณะที่วอยซ์ทีวี เรตติ้งเร่งสปีดในช่วงครึ่งหลังของปี จากรายการงานข่าวความเคลื่อนไหวการเลือกตั้ง

 

ช่องนาว26 และพีพีทีวี เรตติ้งเฉลี่ยทรงตัว จากรายการกีฬาเป็นหลัก โดยที่ช่องนาวมีการถ่ายทอดสดมวยไทยพยุงเรตติ้งช่องไว้ได้ ในขณะที่พีพีทีวีได้ฟุตบอลลีกต่างประเทศ ทั้งนี้พีพีทีวียังเป็นช่องในหมวด HD ที่มีเรตติ้งน้อยที่สุด แต่เชื่อว่าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปีหน้าหลังจากการดึงหลายรายการหลักจากช่องใหญ่มาได้

 

2 ช่องในหมวด SD ทั้งจีเอ็มเอ็ม25 และทรูโฟร์ยู มีเรตติ้งเฉลี่ยไล่เลี่ยกัน แต่ทรูโฟร์ยูได้เปรียบตรงที่มีคอนเทนต์รายการถ่ายทอดสดกีฬาเข้ามาช่วยสร้างเรตติ้งให้ช่องไว้ได้ ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม25 ยังคงความเป็นช่องสมัยใหม่ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มากกว่า

 

ส่วนช่องในหมวดช่องข่าวอื่นๆ และช่องเด็ก เรตติ้งเฉลี่ยลดลงกันคนละเล็กคนละน้อย ท่ามกลางความอ่อนแรงของวงการทีวี แต่ก็ยังฮึดสู้กันต่อไป

Tagged