ส่องผลงานช่อง Mono ในรอบ 5 ปีทีวีดิจิทัล เติบโตต่อเนื่อง

รายได้ทีวีดิจิทัล เรตติ้งช่อง

แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2562 ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจและรายได้จากค่าโฆษณาที่ลดลง เป็นปัญหาใหญ่กับหลายช่อง แต่สำหรับช่อง Mono ที่อาศัยความแตกต่างจากคอนเทนต์ไม่เหมือนใคร ด้วยการลงผังด้วยหนังและซีรีส์ต่างประเทศ กลับได้รับความนิยมสม่ำเสมอ จนทำให้ภาพรวมรายได้จากค่าโฆษณาของช่องยังเติบโต เมื่อเทียบกับช่องอื่นๆ

จากข้อมูลผลประกอบการของโมโนที่แจ้งไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์ล่าสุด ในไตรมาส 2 ของปีนี้ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มีผลประกอบการขาดทุน 95.21 ล้านบาท จากที่เคยกำไร 13.66 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้บริษัทต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท โดยการปิดนิตยสาร เกม และหยุดการผลิตภาพยนตร์ในนามค่าย T Moment

โมโนแจ้งว่า มีรายได้ของไตรมาสที่ 2 นี้ รวมอยู่ที่ 613.74 ล้านบาท ลดลง 82.59 ล้านบาท หรือ ลดลง 11.86% จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ที่มีรายได้ 696.33 ล้านบาท โดยกลุ่มรายได้ที่ลดลงหนักมากมาจากกลุ่มบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างไรก็ตามธุรกิจทีวีดิจิทัลช่องโมโน มีรายงานว่า มีการเติบโต 8.23% โดยมีรายได้จากค่าโฆษณาทางทีวีในไตรมาสนี้อยู่ที่ 528.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 488.13 ล้านบาท

ผลประกอบการโมโน เทคโนโลยี ไตรมาส 2 / 2562

จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่อง Mono นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ดังนี้

Mono 29 : สร้างเรตติ้ง ด้วยจุดแข็งที่แตกต่าง

จุดเด่น : ภาพยนตร์ & ซีรีส์ ต่างประเทศ

 

 

บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ของกลุ่มธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB ได้ใช้ประสบการณ์จากการทำเว็บไซต์เอ็มไทย  (MThai) เว็บด้านบันเทิงชื่อดังของไทย ทำให้ได้เรียนรู้พฤติกรรมจากช่องทางออนไลน์ และยังมีประสบการณ์จากการทำช่องทีวีดาวเทียม ช่อง ZaaNetwork และ Allure ที่เป็นเนื้อหาที่เจาะกลุ่มเพศชาย มาสู่การเป็นผู้ให้บริการทีวีดิจิตอล

 

ในช่วงปีแรก ช่อง Mono 29 มีการลงทุนทำสตูดิโอ จัดรายการสด ประเภทข่าว ลงผังรายการ และยังมีเนื้อหารายการเด็กและบันเทิง โดยเน้นรายการบันเทิงเป็นหลักมากกว่า 50%  มีภาพยนตร์และซีรีส์เข้าเสริมผัง เจาะตลาดผู้ชมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยี ตั้งแต่เจนเนอเรชั่น X  เป็นต้นไป เรตติ้งเฉลี่ยปีแรก 2557 อยู่ที่ 0.059 สามารถเปิดตัวได้ดีในอันดับ 9

 

ช่อง Mono 29 วางกลยุทธ์ไว้ตั้งแต่ในปีแรกว่า จะเป็นช่องที่จัดภาพยนตร์ดังต่างประเทศให้รับชมทางทีวีดิจิตอลให้มากที่สุด โดยช่วงเวลานั้น การรับชมภาพยนตร์ต่างประเทศย้อนหลัง จะต้องพึ่งพาบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ Pay TV และ DVD เป็นส่วนใหญ่ เป็นความแตกต่างที่ยังไม่มีช่องทีวีดิจิตอลช่องใดทำมาก่อน เนื่องจากต้นทุนภาพยนตร์ต่างประเทศค่อนข้างราคาแพง

 

ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ช่องเป็น “ฟรีทีวีที่มีหนังดี ซีรีส์ดังมากที่สุด” ทำให้ในปี 2558  เรตติ้งช่อง Mono 29 ขึ้นมาอยู่ในช่องอันดับ 5 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.301 เป็นช่องที่เติบโตมากที่สุดอันดับ 2 ในปี 2558 รองจากช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี

 

ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561 ด้วยพลังของภาพยนตร์ต่างประเทศ ช่อง Mono 29 จึงเป็นช่องที่เติบโตสูงที่สุดในช่วง 3 ปีแรกติดต่อกัน ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.301 ในปี 2558 อันดับ 5  เรตติ้งเฉลี่ย 0.536 ปี 2559 ในอันดับ  4  และเรตติ้งเฉลี่ย  0.702 ในปี 2560 ในอันดับ 4  

 

ในปี 2561 ช่อง Mono 29 สามารถยกระดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.853 เป็นช่องที่เติบโตมากที่สุดในบรรดาทีวีดิจิตอลช่องใหม่

 

 

เนื่องจากพื้นฐานเนื้อหารายการของช่อง Mono 29 เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศ แนวแอคชั่น บู๊ ข้อมูลแยกฐานผู้ชมช่อง Mono 29 จึงสะท้อนให้เห็นว่า ฐานผู้ชมช่องเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง กลุ่มอายุ 35-39 ปี และกลุ่มอายุ 40-44 ปี เป็นต้นไป ทั้งนี้ช่อง Mono 29 มีความชัดเจนเรื่องกลุ่มของอายุผู้ชมตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งแตกต่างจากช่องอื่นๆ ที่ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ 2 อันดับแรกอยู่ที่กลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป

 

ส่วนกลุ่มผู้ชมแยกตามพื้นที่พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ทีมีผู้รับชมมากที่สุดมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด โดยในแต่ละภาคมีฐานผู้ชมใกล้เคียงกัน โดยตั้งแต่ปี 2558 มีฐานผู้ชมภาคใต้มากที่สุดในกลุ่มต่างจังหวัด

จากข้อมูลของสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ (สำนักงาน กสทช.) พบว่าในช่วงปี 2558-2560  สัดส่วนรายการของช่องโมโนมากกว่า 60% เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มา มีรายการที่ผลิตเองในสัดส่วนกว่า 20% และอีกกว่า 10% เป็นรายการที่ให้เช่าเวลาออกอากาศ ซึ่งเป็นทีวีดิจิตอลช่องที่มีสัดส่วนการซื้อรายการลิขสิทธิ์สูงที่สุดช่องหนึ่ง

 

สัดส่วนเนื้อหารายการในผังรายการ เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2561 ที่สัดส่วนที่มาของเนื้อหารายการเป็นการซื้อลิขสิทฺธิ์สูงถึง 82.99%  ตามมาด้วยการให้เช่าเวลาออกอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 15.87% ลดสัดส่วนการผลิตรายการลงเหลือเพียงแค่ 1.14% เท่านั้น

 

กลยุทธ์การจัดภาพยนตร์ลงผังรายการของช่อง Mono 29   นั้น มีช่วง Premuim Blockbuster ที่จัดภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ของฮอลลีวูด หรือภาพยนตร์เอเชียชื่อดังมาออกอากาศ ส่วนใหญ่แล้วพบว่า ภาพยนตร์แนวแอคชั่น แฟนตาซี จะเป็นแนวที่ถูกใจ ดึงดูดผู้ชม สร้างเรตติ้งได้สูงมากกว่าภาพยนตร์แนวรัก โรแมนติค

 

อย่างไรก็ตามช่อง Mono 29   ไม่ได้มีแต่เพียงแค่ภาพยนตร์ต่างประเทศ  แต่เคยผลิตละครมาแล้ว หลายเรื่อง ตั้งแต่ปี 2557 เปิดตัวด้วยละครแนวครอบครัว “อรุณสวัสดิ์”  แล้วเปลี่ยนแนวเป็นการผลิตละครบู๊ แอคชั่น และละครผี สยองขวัญ อีกหลายเรื่อง แต่ยังไม่มีละครเรื่องไหนโดดเด่นมากเป็นพิเศษ

 

นอกจากนี้ยังมีรายการถ่ายทอดสดกีฬา ที่เริ่มด้วยรายการถ่ายทอดสดมวยไทย ท็อปคิงส์ และเป็นช่องเดียวที่เจาะลึกกีฬาบาสเกตบอล ตามนโยบายของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ให้ความสนใจกีฬาบาสเกตบอล โดยให้การสนับสนุนทีมบาสเกตบอลของไทย มีการซื้อลิขสิทธิ์อาเซียน บาสเกตบอลลีก รวมถึงบาสเกตบอล NBA จากสหรัฐอเมริกา มาออกอากาศด้วย

 

ในแง่รายได้ของช่อง Mono 29  ที่รายงานต่อสำนักงานกสทช.ตั้งแต่ออกอากาศทีวีดิจิตอลนั้น พบว่ารายได้สะท้อนความนิยมและเรตติ้งช่องที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เริ่มต้นจากรายได้ในปี 2557 ที่มีเพียง 113 ล้านบาท มาในปี 2558 มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นเกินกว่าเท่าตัว มาอยู่ที่ 628 ล้านบาท และ 1,003 ล้านบาท และ 1,566 ล้านบาท ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ และในปี 2561 รายได้ของช่อง Mono 29 มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1,818 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เรตติ้งเฉลี่ยของช่องที่ได้ขึ้นจากอันดับ 4 ในปี 2560 มาอยู่ในอันดับ 3 ในปี 2561 ตามหลังช่อง 7 HD และช่อง 3 HD

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลรายได้ในแต่ละปี ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลในการคำนวณหักค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของ กสทช. จึงยังไม่มีข้อมูลกำไร ขาดทุน

 

โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายด้านการผลิตและซื้อรายการของช่อง Mono 29 มีค่อนข้างสูง จากภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศ และลิขสิทธิ์กีฬาที่มีราคาแพง เป็นช่องที่สร้างความแตกต่างได้จากช่องอื่นๆอย่างชัดเจน ช่วยเปิดตลาดประสบการณ์ใหม่ การรับชมภาพยนตร์ต่างประเทศให้ทั่วถึงทุกพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมในต่างจังหวัด 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf

Tagged