สำรวจเรตติ้งความนิยม รายการดังย้ายช่อง พีพีทีวี

วาไรตี้ วิเคราะห์เจาะเรตติง เรตติ้งช่อง

ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ รายการดังย้ายช่อง จากช่องใหญ่ ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 มารวมตัวอยู่ที่พีพีทีวี ช่องเศรษฐี ที่ประกาศทุ่มครั้งใหญ่ในการดึงคอนเทนต์บันเทิงดัง ที่ได้รับความนิยมสูง เข้ามาเสริมผัง เพื่อหวังสร้างเรตติ้งช่องให้เข้าสู่กลุ่มท็อปเท็นโดยเร็วนั้น มาดูผลตอบรับในแง่เรตติ้งของแต่ละรายการที่ออกอากาศไปแล้วบ้าง

จุดแข็งของพีพีทีวีที่ชัดเจนมากคือรายการถ่ายทอดสดกีฬา ส่วนใหญ่เป็นฟุตบอลลีกต่างประเทศ ลีกใหญ่ๆทั้งหมดในยุโรป ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมชาวไทยมาก โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีก แต่ในปีนี้พีพีทีวีเพิ่มเติมด้วยการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลของนักกีฬาไทยเข้ามาเสริมด้วย ล่าสุดคือ การแข่งขันฟุตบอล U23 ชิงแชมป์เอเชีย ดังนั้นรายการบันเทิงที่ย้ายมาอยู่พีพีทีวี จึงเป็นการสร้างฐานผู้ชมผู้หญิงให้กับช่องเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมที่เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่

สำหรับรายการดัง 4 รายการที่ย้ายช่องมาพีพีทีวี มีตั้งแต่ The Voice , กิ๊ก ดู๋ และ รายการตลก “ก่อนบ่ายคลายเครียด”

The Voice เปิดตลาดรายการภาคบันเทิง

The Voice  ย้ายมาจากช่อง 3 โดยที่พีพีทีวีประกาศทุ่มทุนกว่า 500 ล้านบาท สำหรับค่าลิขสิทธิ์, ค่าผลิตรายการ The Voice, The Voice Senior และ The Voice Kids เป็นเวลา 3 ปี

The Voice 2018 เริ่มต้นเป็นรายการแรก ออกอากาศเดือนพ.ย. 2561 ได้เรตติ้งเฉลี่ย 0.775 โดยมีตอนที่เรตติ้งสูงสุด ได้ไป 0.969 ในรอบ Blind Audition  และเรตติ้งต่ำสุด 0.575 ในตอนแรก เรตติ้งรายการมีการแกว่งตัวขึ้นลง เป็นช่วงๆ แต่ยังไม่สามารถทำเรตติ้งเกิน 1 ได้

เรตติ้งรายการ The Voice ซีซัน 6 ที่ครั้งยังอยู่กับช่อง 3 นั้น ได้เรตติ้งเฉลี่ย 3.283 แต่จะนำมาเทียบกันไม่ได้ เพราะฐานผู้ชมช่อง 3 ในฐานะช่องใหญ่ ออกอากาศมายาวนานมีผู้ชมความนิยมมากกว่าอยู่แล้ว แต่สำหรับพีพีทีวี การเปิดตัว The Voice  แม้เรตติ้งไม่สูงมาก แต่ก็เป็นรายการบันเทิงที่มีเรตติ้งสูงสุดของช่องในช่วงเปิดตัว

อย่างไรก็ตาม หลังจบ The Voice  ต่อด้วย The Voice Senior ของกลุ่มผู้สูงวัยเกิน 60 ปี ออกอากาศเป็นซีซันแรกของไทย ได้เห็นความน่ารักของบรรดาผู้สูงวัย ที่มีดนตรีและเพลงสร้างความสุขให้ชีวิตในบั้นปลาย อารมณ์ของรายการเน้นความอบอุ่น และความประทับใจ แทนที่การแข่งขันเหมือน The Voice ปกติ เรตติ้งจึงไม่แรงมาก

เปิดตัวด้วยเรตติ้ง 0.523 แต่ 2 ตอนถัดมา เรตติ้งรายการลดลงมาอยู่ที่ 0.415 โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยของทั้ง 3 ตอนแรกอยู่ที่ 0.452 แน่นอนว่ากลุ่มอายุผู้ชม ที่รับชมมากที่สุด คือวัย 50 ปีขึ้นไป ด้วยเรตติ้ง  0.720 และเป็นกลุ่มผู้ชมในกรุงเทพ 0.858 ส่วนต่างจังหวัดอยู่ที่ 0.384

กิ๊ก ดู๋ ขยายฐานแมส

“กิ๊ก ดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน” เป็นรายการดังจากช่อง 7 ที่มีข่าวดราม่าหลังย้ายช่อง เมื่อมาเปิดตัวต้นปี 2562

เปิดตัวได้แรง 0.827 เป็นหนึ่งในกลุ่มรายการบันเทิง ที่จับตลาดผู้ชมภาพรวมขยายฐานช่องไปต่างจังหวัด ตามกลุ่มผู้ชมเดิมที่อยู่ในต่างจังหวัด ด้วยการเลือกแขกรับเชิญตลาดแมส ลูกทุ่งเป็นส่วนใหญ่

เรตติ้งรายการได้ไปสูงสุดอยู่ที่ 1.192 ในตอนที่ 5 มี “บ่าว วี”เป็นแขกรับเชิญ หลังจากนั้นเรตติ้งรายการก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ อยู่ในระดับ 0.7-0.8  โดยตอนล่าสุด 26  มี.ค. มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.403 เท่านั้น จากการเลื่อนเวลาออกอากาศชั่วคราว มาอยู่หลังจากการถ่ายทอดสดฟุตบอล ในเวลา 22.25 -24.06 น.

 

“ก่อนบ่ายคลายเครียด” ยังต้องเครียด

รายการตลก ที่อยู่คู่ผังรายการช่อง 3 มากกว่า 20 ปี ต้องถึงคราวจากบ้านเดิมไปซบพีพีทีวี ได้เริ่มออกอากาศในเดือนมี.ค.นี้ ออกอากาศในเวลาเดิมทุกวันจันทร์-ศุกร์

เรตติ้งรายการเมื่อครั้งยังอยู่ช่อง 3 ในปี 2561 อยู่ในระดับ 0.6-0.9 เนื่องจากเป็นรายการภาคกลางวัน ไม่ได้มีผู้ชมหนาแน่นเท่ากับช่วงเย็นและไพรม์ไทม์ แต่ก็เป็นรายการหลักของช่อง 3 คู่ผังมาโดยตลอด

แต่เมื่อย้ายมาอยู่ช่องพีพีทีวี “ก่อนบ่ายคลายเครียด” เปิดตัวด้วยเรตติ้งเพียง 0.100 เท่านั้น เคยทำเรตติ้งไปได้สูงสุด 0.179 และต่ำสุดอยู่ที่ 0.067 ส่วนเรตติ้งเฉลี่ยตั้งแต่ออกอากาศมาจนถึงวันที่ 26 มี.ค.นั้นอยู่ที่  0.132 เท่านั้น เมื่อเทียบกับเรตติ้งเฉลี่ยช่องประจำเดือน ก.พ.2562  ที่ได้ เรตติ้งเฉลี่ย 0.233 แล้ว ยังต่ำกว่าเรตติ้งช่อง ถือว่าไม่น่าพอใจนัก

โดยสรุป การ “ดูด”รายการดัง ไม่ได้การันตีเรตติ้ง เพิ่มความนิยมของช่องขึ้นได้ทั้งหมดแบบสูงลิ่ว  จากตัวอย่างมีเพียง The Voice และ “กิ๊ก ดู๋” ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้สูงกว่าเรตติ้งช่อง ผ่านในแง่เพิ่มเรตติ้งและอันดับของช่องได้ หากพิจารณาจากงบประมาณที่ต้องลงทุนเป็นหลักหลายร้อยล้านบาทแล้ว อาจจะยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนนัก เมื่อพบว่ารายการที่ทำเรตติ้งสูงสุดให้กับช่องพีพีทีวี ยังคงเป็นรายการถ่ายทอดสดรายการกีฬาเหมือนเดิม ซึ่งรายการกีฬา เป็นอีกหนึ่งประเภทคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หนักเช่นกัน

แต่ทั้งหมดนี้ก็สามารถช่วยให้เรตติ้งเฉลี่ยช่องพีพีทีวีเข้าสู่อันดับท็อปเท็นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเดือนก.พ. 2562 ที่ผ่านมา

สำหรับเป้าหมายในเสต็ปต่อไป การเข้าสู่ท็อป 5  ด้วยคอนเทนต์ละครนั้น  พีพีทีวีได้ทุ่มงบประมาณอีกหลายร้อยล้านบาท เตรียมลงผังละครชุดแรกในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าละคร จะมาช่วยดันเรตติ้งช่องให้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่

บทสรุปกลยุทธ์ของพีพีทีวี : การทุ่มทุนมหาศาล ซื้อคอนเทนต์ ทั้งลิขสิทธิ์รายการ และการดึงรายการใหญ่จากช่องอื่นๆ มีส่วนสร้างเรตติ้งช่องให้เพิ่มขึ้นได้แบบทางลัด แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ จะมีผลประกอบการ ยอดรายได้จากค่าโฆษณาเข้ามาอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นได้หรือไหม เพราะการหวังเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่จากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเดียวนั้น ไม่ได้มีอะไรการันตีว่า จะได้ต่อเนื่องยืนยาวได้อีกนานเท่าไร เพราะอย่างไรก็ตาม การลงทุนทางธุรกิจ ก็คือการแสวงหากำไรนั่นเอง

Tagged