วิเคราะห์ ผลดีของม. 44 กับอนาคตของทีวีดิจิทัล

รายได้ทีวีดิจิทัล

ตอนที่ 3 : เซฟค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล กลุ่มไหนลดค่าใช้จ่ายสูงสุด

ค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งของภาระหนักของกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล ที่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หรือ MUX จากผู้ให้บริการโครงข่าย MUX ทั้งหมด 4 ราย 5 MUX ได้แก่ ททบ.5 จำนวน 2 MUX, ไทยพีบีเอส, อสมท. และกรมประชาสัมพันธ์ รายละ 1 MUX

ราคาค่าเช่าโครงข่ายของ 5 MUX 4 ผู้ให้บริการมีการกำหนดราคาใกล้เคียงกัน โดย ททบ.5 ตั้งราคาค่าเช่า MUX ไว้ถูกว่าอีก 3 รายที่เหลือ โดยราคาค่าเช่า MUX ช่อง 5 สำหรับช่อง SD อยู่ที่ เดือนละ 3.5 ล้านบาท ส่วน ช่อง HD มีราคาค่าเช่า 3 เท่าของช่อง SD อยู่ที่ราคาเดือนละ 10.5 ล้านบาท อีก 3 ราย ตั้งราคาค่าเช่า SD ไว้ที่เดือนละ 3.6 ล้านบาท และ HD ที่ราคา 10.8 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่ใช้บริการ MUX ของททบ.5 มีทั้งหมด 14 ช่องประกอบไปด้วย  5 ช่อง HD -ช่อง 7, ช่องวัน, อมรินทร์ทีวี , พีพีทีวี และช่อง 5  และอีก 9 ช่อง SD – เวิร์คพอยท์, โมโน, จีเอ็มเอ็ม25, สปริง26, เนชั่นทีวี, ทรูโฟร์ยู, ทีเอ็นเอ็น, นิวทีวี และไบรท์ทีวี

กลุ่มช่องที่ใช้บริการ MUX ของไทยพีบีเอส มี 5 ช่อง เป็น HD 2 ช่อง – ช่อง 3 HD และ ไทยพีบีเอส และอีก 3 ช่อง SD – ช่อง 3SD, 3Family และ ช่อง 8

สำหรับ MUX ของอสมท.มีทั้งหมด 6 ช่อง เป็น 2 ช่องHD – ไทยรัฐทีวี และช่อง 9HD และอีก 4 ช่อง SD- สปริงนิวส์, วอยซ์ทีวี, MCOT Family และ ทีวีรัฐสภา

ส่วน MUX ของกรมประชาสัมพันธ์มีเพียง 1 ช่อง HD – ช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์เอง

ทั้งนี้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 4/2562 ฉบับนี้ นอกจากยกเว้นการจ่ายเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายของทุกช่องทีวีดิจิทัลในวงเงินรวม 13,622.4 ล้านบาทแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือการจ่ายค่าเช่า MUX ให้กับทุกช่องจนถึงสิ้นสุดใบอนุญาต เป็นเวลา 9 ปี 6 เดือน รวมเป็นมูลค่ารวม 18,604.8 ล้านบาท

กลุ่มช่องที่มีใบอนุญาตมากที่สุดจึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด จากการที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า MUX โดยที่กลุ่มช่อง 3 ที่มี 3 ใบอนุญาต มีภาระค่าเช่า 3 ช่อง ปีละ 216 ล้านบาท จึงได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวมทั้งหมด 2,052 ล้านบาท ตลอดอายุใบอนุญาต

กลุ่มที่มี 2 ช่อง  ตั้งแต่ช่อง 9 มีภาระค่าเช่า MUX ปีละ 172.8 ล้านบาท แต่เป็นการจ่ายค่าเช่าให้กับอสมท.เอง , กลุ่มช่องทรู ทั้งทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น รวมปีละ 84 ล้านบาท

หากนับรวมกลุ่มช่องของตระกูลปราสาททองโอสถ ที่ถือหุ้นใหญ่ในพีพีทีวี และช่องวัน แล้ว จะเซฟไปได้ถึง ปีละ 126 ล้านบาทต่อช่อง รวม 2 ช่องลดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 252 ล้านบาท มูลค่ารวมถึงสิ้นสุดใบอนุญาตอยู่ที่ 2,394 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในขณะที่กลุ่มครอบครัวสิริวัฒนภักดี ในช่องอมรินทร์ทีวี และจีเอ็มเอ็ม 25 ก็จะเซฟได้ ปีละ 168 ล้านบาท รวมตลอดอายุใบอนุญาต 1,596 ล้านบาท

ประกาศคสช.ฉบับนี้ เท่ากับเป็นการลดค่าใช้จ่ายหลักทั้งหมดของกลุ่มทีวีดิจิทัล ยังคงเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเช่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมหรือ Must Carry อีกรวมกันทุกช่องประมาณปีละ 700 ล้านบาท ที่แต่ละช่องยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่

ภาระหนักที่ลดลงไปเหล่านี้ คาดหวังว่า จะทำให้ทีวีดิจิทัลทุกช่อง หันไปทุ่มเทกับการผลิตคอนเทนต์ สร้างสรรค์รายการใหม่ๆ ให้ถูกใจผู้ชมทีวี ที่แตกกระจายไปในหลายแพลทฟอร์ม โดยเชื่อว่า หากคอนเทนต์ดี มี impact  ไม่ว่าจะเผยแพร่ในช่องทางใด ย่อมได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างแน่นอน

เมื่อต้นทุนหลักถูกยกออกจากอก และคำสั่งคสช.ยังเปิดทางให้คืนใบอนุญาตได้ด้วย แต่ละช่องที่มีข่าวในเบื้องต้นว่า อยากจะขอคืนใบอนุญาต คงต้องกลับไปคิดคำนวณกันใหม่

สุดท้ายแล้ว จะมีกี่ช่องที่ถอดใจ ภายใน 10 พ.ค.คงได้รู้กัน

Tagged