ส่งสัญญาณดีขึ้น! กลุ่มช่อง 3 ปี 63 ขาดทุนลดลง 46% : ขายลิขสิทธิ์ละครตปท.และแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งปีได้กว่า 800 ลบ.

ช่อง 3 ผลประกอบการ รวมเรื่องเด่น

ปี 2563 กลุ่มธุรกิจสื่อทีวี ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตไวรัสโควิด 19 ทำเอารายได้จากค่าโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมนี้ลดลงทั้งหมด  รวมถึงกลุ่มช่อง 3 ซึ่งรายได้ทั้งปีลดลงถึง 29.5%

บริษัท บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 แจ้งผลประกอบการของ ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ว่า รายได้รวมทั้งปีของบริษัท อยู่ที่ 5,860.9 ล้านบาท ลดลง 2,449.3 ล้านบาท หรือ 29.5% เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,310.2 ล้านบาท โดยกลุ่มรายได้จากคอนเสิร์ต ได้รับผลกระทบของ COVID-19 ที่ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้ลดลง 547.6 ล้านบาท หรือ 98.3%  แต่สัดส่วนรายได้จากคอนเสิร์ต มีสัดส่วนไม่ถึง 1 % ของรายได้รวม รายได้หลักของ BEC ยังคงเป็นธุรกิจรายได้จากขายเวลาโฆษณา และรายได้จากใช้ลิขสิทธิ์ ที่มีสัดส่วน 81.2 % และ 18 % ตามลำดับ 
 

รายได้โฆษณาลดลง 29.4%

รายได้หลักซึ่งมาจากโฆษณานั้น ลดลง 29.4% มีสาเหตุมาจากโดยการลดลงของรายได้มาจาก นาทีขายโฆษณาที่ลดลงจากการแข่งขันด้านราคาสูง มากขึ้นและเป็นผลมาจากการหดตัวอย่างมากของเม็ดเงินโฆษณาตามผลกระทบของ COVID-19 สอดคล้องกับ รายงานของ นีลเส็น เปิดเผยมูลค่า ประมาณการเม็ดเงินโฆษณา ปี 2563 อยู่ที่ 106,255 ล้านบาท ลดลง 17,408 ล้านบาท หรือลดลง 14.1% เมื่อเทียบกับปี 2562  
 

ขายลิขสิทธิ์ละคร 5 เรื่องรายได้ 408.5 ลบ.

รายได้จากใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นอยู่ที่ 1,053.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.1 ล้านบาท หรือ 10.5% จาก ปี 2562  โดยในส่วนนี้มีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศสามารถทำรายได้ 408.5ล้านบาทมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีละคร 5 เรื่องที่ขายลิขสิทธิ์แบบ Simulcast ได้แก่ “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” “เล่ห์บรรพกาล” ตราบฟ้ามีตะวัน”  “พยากรณ์ซ่อนรัก” และ “ร้อยเล่ห์มารยา” เพิ่มขึ้นจากปี 2562  28.2% หรือรายได้ 318.5 ล้านบาท โดยปี 2562 มีรายได้จากละครเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
 
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากขายลิขสิทธิ์ละครทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำรายได้ทั้งปี 429.1ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.7%จากปี 2562 ที่มีรายได้ 245.6 ล้านบาท

ไตรมาส 4 กำไร 230 ลบ. แต่ทั้งปีขาดทุน 214 ลบ.

ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแต่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด จากผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงความเสี่ยงจากการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ  BEC มีผลประกอบการปี 2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 214.3 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 182.9 ล้านบาท หรือ 46.1% จาก ปี  2562 ที่ขาดทุน 397.2 ล้านบาท ปี 2563

ส่วนไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรที่ 230 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2562 ที่มีกำไร 60 ล้านบาท ทั้งนี้โดยรวมในปี 2563 ไตรมาสที่ 1 และ 2 ขาดทุน ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 กำไร

โดยบริษัทได้ลดต้นทุนการขายและการให้บริการ รวมถึงลดจำนวนพนักงานประมาณ 55% จากรายงานข้อมูลงบการของ BEC ได้ขายหุ้นในบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เม้นท์ จํากัด มีรายได้ 15 ล้านบาท  มีการปิด 4 บริษัทย่อยที่หยุดทำธุรกิจ ได้แก่ บริษัท แซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง บริษัท บีอีซี สตูดิโอ บริษัท บางกอกแซทเทิลไลท์ แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น และบริษัท ยู แอนด์ ไอ คอร์ปอเรชั่น  นอกจากนี้มีการบริหารต้นทุนเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงโดยการลดต้นทุนจากการผลิตละครและลดค่าตัดจ่ายละครลง โดยมีการวางรีรันละคร prime time ด้วย

 ตั้งเป้ารายได้ขายลิขสิทธิ์ และดิจิทัลเพิ่มขึ้น 20%

สำหรับเป้าหมายของบริษัทในปี 2564 ระบุว่า จะดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลาย สามารถแข่งขันในระดับโลก ลดการพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาที่น้อยลงเรื่อยๆ โดยจะเน้นการสร้างนวัตกรรมหารายได้จากการโฆษณารูปแบบใหม่ เช่น Home Shopping QR และ SMS และการทำการตลาดรูปแบบ Sponsorship และการจัดกิจกรรม

มีกลยุทธ์ Single Content Multi Platform โดยคาดหวังรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ในจีนและประเทศอาเซียน และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่รวมถึง Ch3 Plus ที่เริ่มระบบเก็บค่าบริการรายเดือนการชมคอนเทนต์ละครและรายการพิเศษ ด้วยฐานนักแสดงสังกัดช่อง ซึ่งเป็นจุดเด่นของช่อง 3 ด้วย ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่ารายได้ส่วนนี้จะโตขึ้น 20% จากปี 2563

Tagged