กสทช.เตรียมจัดระเบียบหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลใหม่ หวยออกที่ช่องสาธารณะ

กสทช. เกาะติดจอ

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.สำนักงานกสทช.ได้มีการจัดทำ Focus Group กับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (การจัดเรียงหมายเลขช่องทีวีดิจิทัล)  เนื่องจากกสทช.มีแนวคิดจะแก้ไขหลักเกณฑ์เดิม ให้กลุ่มช่องสาธารณะย้ายจากกลุ่มช่องหมายเลข 1-12 มาเริ่มต้นที่ช่องหมายเลข 11 เป็นต้นไป

ในข้อเสนอใหม่นี้ ช่อง 5 จะย้ายจากช่อง 1 มาอยู่ที่ช่อง 11 ช่อง NBT จะย้ายจากช่อง 2 เป็นช่อง 12 ช่องไทยพีบีเอส หรือช่อง 3 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 13 ในขณะที่ช่องรัฐสภา หรือ ช่อง 10 จะเปลี่ยนเป็นช่อง 14 และเตรียมช่องที่ว่างจากกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่เลิกกิจการและคืนใบอนุญาตไปแล้ว อีก 7 ช่อง ได้แก่ช่องหมายเลข 15 17 19 20 21 26 28 สำรองไว้สำหรับช่องสาธารณะ หรือ ช่องทีวีชุมชุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด ทั้งการรับชมในระบบเครือข่ายทีวีดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน และการรับชมผ่านเครือข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี


ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอใหม่นี้ กสทช.จะกันช่อง 1-10 เอาไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเครือข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี จัดเรียงสำหรับช่องรายการอื่นๆ ในแต่ละเครือข่ายได้อย่างอิสระ  แต่มีข้อสังเกตุว่า ไม่ควรนำช่องทีวีดิจิทัลมาเผยแพร่ซ้ำในตำแหน่งดังกล่าว เพื่อไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

สาเหตุสำคัญที่กสทช.ต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการต่อหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และจัดลำดับหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลจำนวนทั้งหมด 19 คดี แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คดีฟ้องเพิกถอนประกาศ Must Carry  หรือ ประกาศการเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป จำนวน 4 คดี

กลุ่มที่ 2 คดีฟ้องเพิกถอนประกาศการจัดลำดับหมายเลขช่องทีวี จำนวน 10 คดี

กลุ่มที่ 3 คดีฟ้องเพิกถอนประกาศ ที่ห้ามนำช่องทีวีดิจิทัลไปออนแอร์ซ้ำในหมายเลขช่องอื่น จำนวน 4 คดี

กลุ่มที 4 คดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้จัดเรียงช่องรายการ และการห้ามโฆษณาเกินระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 1 คดี

คดีเหล่านี้ มีการเริ่มฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่กสทช.ออกประกาศ และเริ่มมีบางคดีมีการสรุปคดีแล้ว อยู่ระหว่างรอนัดฟังคำพิพากษาในปีนี้ ดังนั้นการเตรียมการแก้ไขประกาศนี้ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการเตรียมการรองรับการตัดสินคดีความที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการ Focus Group ครั้งนี้ กลุ่มช่องสาธารณะในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยหากมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ เป็นกลุ่มหลักที่ไม่เห็นด้วย และเพิ่มเติมด้วย ช่อง One เป็นช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจช่องเดียวที่แสดงท่าทีคัดค้าน ด้วยเหตุผลที่เกรงว่า การเปลี่ยนแปลงหมายเลขช่องของกลุ่มทีวีสาธารณะจะกระทบต่อเรตติ้งของทุกช่องโดยรวม

ทั้งนี้กสทช.จะสรุปและทำหนังสือสอบถามความเห็นทุกช่องอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะกลับทำ focus group อีกครั้ง

Tagged