AIS ยอมจอดำ บอลพรีเมียร์ลีก บน AIS Play

รายการข่าว

ศึกของ 2 ยักษ์โทรคมนาคม AIS vs True บนข้อถกเถียงเรื่องการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทางช่องพีพีทีวี ในช่องทาง AIS Play  ได้บทสรุปในเบื้องต้นว่า AIS ยอมจอดำ ไม่ออนแอร์รายการนี้

โดยแมตช์แรกของบอลพรีเมียร์ลีกที่ถ่ายทอดสดทางช่องพีพีทีวี ที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ต่อจากทรูวิชั่นส์ ของกลุ่มทรู เมื่อวันที่ 10 ส.ค.เวลา 18.30 น. ระหว่าง เวสต์แฮม พบกับ แมนฯซิตี้นั้น ไม่สามารถรับชมได้ทางช่องทาง

AIS Play  ที่เป็นบริการทีวีออนไลน์ของกลุ่ม AIS แต่สามารถรับชมทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ทรูไอดี ของกลุ่มทรู และเว็ปไซต์ของช่องพีพีทีวี โดยที่ทรูได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทุกช่องทางออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นจะไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกได้ นอกจากที่ระบุไว้

ทั้งนี้กลุ่มทรูได้อ้างตามกฏหมายลิขสิทธิ์ ว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการนี้อย่างเป็นทางการ ในขณะที่ กสทช.ยึดตามประกาศ Must Carry ของกสทช. ที่มีมาตั้งแต่ปี 2555 ว่า ทุกโครงข่ายทีวีจะต้องเผยแพร่ช่องฟรีทีวีไปด้วยทุกรายการ ซึ่ง AIS Play เป็นหนึ่งในผู้รับใบอนุญาตของกสทช.

เท่ากับว่า เป็นการสู้กันคนละเรื่อง ระหว่างกฎหมายลิขสิทธิ์ และประกาศ Must Carry โดยที่ทรูยึดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ในขณะที่กสทช.และ AIS ยึดตามทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ และกฏ Must Carry แต่โดนมองว่ากฎ Must Carry ไปละเมิดกฏหมายลิขสิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ที่ผ่านมาผู้ประกอบการใบอนุญาตจากกสทช.ทุกรายสามารถปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 2 พร้อมกันไปได้ เช่นปีที่ผ่านมา BeIN ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งผู้ชมสามารถรับชมได้ทั้งช่องทาง TrueID และ AIS Play

แต่เมื่อปีนี้ลิขสิทธิ์มาตกอยู่ที่กลุ่มทรู การที่ไม่สามารถรับชมบอลพรีเมียร์ลีกทาง AIS Play ได้ จึงน่าจะเป็นปัญหาระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ของวงการโทรคมนาคมไทย มากกว่าเป็นปัญหาเรื่องความไม่สอดคล้องกันระหว่างกฏหมายลิขสิทธิ์และกฎ Must Carry

ก่อนหน้านี้ AIS ได้ทำเรื่องร้องถามไปยังกสทช.เพื่อหารือว่าจะออนแอร์รายการนี้ได้หรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.มีมติให้ AIS Play และ AIS Play Box ต้องออนแอร์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทางช่องพีพีทีวี เพื่อทำตามกฎ Must Carry ที่ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตจากสทช.ต้องออนแอร์ทุกรายรายทุกช่องทีวีดิจิทัล แต่กลุ่มทรูได้ร้องเรียนไปยังประธานกสทช. ว่า AIS Play ไม่สามารถออนแอร์ได้ เพราะจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จนต้องเสนอเรื่องให้คณะที่ปรึกษากฎหมายของกสทช.ช่วยพิจารณาในแง่กฏหมาย

ทั้งนี้มีรายงานว่า คณะที่ปรึกษากฎหมายของกสทช. ซึ่งมีการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ ได้เรียกทั้งตัวแทนทรู และเอไอเอส มาชี้แจงเรื่องดังกล่าว ไม่สามารถหาข้อสรุปทางกฎหมายได้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่เรื่องทางกฏหมาย

ในขณะเดียวกัน AIS ก็ได้ทำหนังสือด่วนถึงกสทช.ว่า ขอไม่ออนแอร์รายการนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการของกสทช.อีกครั้ง จนเป็นเหตุให้ AIS ตัดสินใจจอดำ การถ่ายทอดสดรายการนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จากการที่ AIS ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ Must Carry ตามมติคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงที่ให้ออนแอร์รายการนี้ได้ตามปกติ อาจจะต้องโดนกสทช.ตักเตือนอย่างเป็นทางการที่ผิดกฎระเบียบในการออกอากาศตามประกาศ Must Carry

ปัญหาเรื่องการออกอากาศรายการถ่ายทอดสดระหว่าง AIS และทรู เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2561 กรณีลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่แข่งที่รัสเซีย ที่ทรูวิชั่นส์เป็นผู้ได้สิทธิ และห้ามไม่ให้ ทุกกล่องรับสัญญาณและแอปพลิเคชั่นออนแอร์การถ่ายทอดสดดังกล่าว แต่ AIS ยืนยันการออนแอร์ทางช่องทาง AIS Play และ AIS Play Box ตามกฎ Must Carry ของกสทช. ที่มีคำสั่งของกสทช.ให้ออกอากาศได้ จนค่ายทรูไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จนมีการออกคำสั่งฉุกเฉินให้ AIS งดออนแอร์ทั้งหมด ต่อมาคดีนี้มีการไกล่เกลี่ยกัน และถอนคดีออกไป

เหตุการณ์ในครั้งนี้ การที่ AIS ต้องยอมไม่ปฏิบัติตามกฎ Must Carry ของกสทช. คาดว่าเพราะ AIS เกรงว่าจะเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความกับทรูอีกครั้ง เช่นกรณีฟุตบอลโลก ที่ต้องเสียเวลาในการทำคดี และการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอย่างยาวนาน จึงเลือกการ “จอดำ” แทน

ทั้ง AIS และทรู คือคู่แข่งรายสำคัญในวงการโทรคมนาคม AIS คือผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเบอร์ 1 รายใหญ่ที่สุดของไทยมีฐานลูกค้า 41.49 ล้านราย และมีลูกค้าบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจำนวน 795,000 ราย ในขณะที่ทรู มูฟ เฮช มีลูกค้า 29.6 ล้านราย และบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจำนวน 3.5 ล้านราย จากตัวเลขไตรมาส 1 ของปี 2562 ที่ทั้งคู่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า

แต่ในภาคกิจการทีวี ทรู อยู่กับธุรกิจนี้มาก่อน ตั้งแต่กิจการเคเบิลทีวี UTV ต่อมาเป็น UBC และกลายเป็นทรูวิชั่นส์ ผู้ให้บริการเพย์ทีวีที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีคอนเทนต์แบบ exclusive และมีฐานลูกค้ารวมทั้งระบบสมาชิก และประเภทใช้งานกล่องจำนวนประมาณ 4 ล้านราย อีกทั้งยังมีบริการ TrueID คอนเทนต์ทีวีออนไลน์และ  ทีวีดิจิทัลอีก 2 ช่อง คือทรูโฟร์ยู และช่องข่าวทีเอ็นเอ็น

ค่ายเอไอเอส เพิ่งจะขยับเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจทีวีอย่างชัดเจนเมื่อปี 2559 หลังจากเห็นแนวโน้มของการให้บริการข้อมูลบนมือถือเพิ่มสูงขึ้น จากคอนเทนต์ทีวี คลิป วิดิโอ ที่มีผลทำให้รายได้ให้บริการบนเครือข่ายเพิ่มสูงขึ้น  จากคนที่เริ่มดูทีวีบนมือถือมากกว่าจอทีวีที่บ้าน จึงเริ่มเปิดบริการ AIS Play และ AIS Play Box โดยเข้าไปทำสัญญา exclusive คอนเทนต์ดังๆหลายรายการ

ตัวเลขล่าสุดผู้ใช้บริการบนแอพพลิเคชั่นมือถือ AIS Play และ TrueID มียอดการดาวน์โหลดรายละมากกว่า 5 ล้านรายแล้ว

Tagged