เปิดค่าลิขสิทธิ์เอเชียนเกมส์

เกาะติดจอ

ลิขสิทธิ์กีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่แข่งขันกันที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกที่ลิขสิทธิ์ตกอยู่กับทีวีดิจิทัลช่องใหม่อย่างเวิร์คพอยท์ จากปกติที่ตกอยู่ในมือของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยหรือทีวีพูลมาโดยตลอด

เวิร์คพอยท์ได้ลิขสิทธิ์มาจาก เดนท์สุ บริษัทเอเจนซี่ ต่างชาติ ซึ่งมีบริษัท เดนท์สุ เอ็กซ์ (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเวิร์คพอยท์ด้วย ด้วยมูลค่าที่ไม่มีการเปิดเผย หลังจากที่ช่วงแรกมีข่าวว่าทีวีพูลให้ความสนใจซื้อ แต่เนื่องจากลิขสิทธิ์มีราคาแพง ทำให้บรรดาสมาชิกหลักของทีวีพูล ที่เป็นทีวีรายเดิม ช่อง 3,5,7,9 ยังลังเล ไม่ตอบรับจะเข้าร่วมซื้อ เนื่องจากทั้ง 4 ขาดทุนมาจากการร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิคครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่า ขาดทุนไปช่องละ 50 ล้านบาท เมื่อทีวีพูลตอบรับช้า เดนท์สุ จึงมีการเจรจากับบรรดาช่องทีวีดิจิทัลรายใหม่ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นช่องทรูโฟร์ยู และเวิร์คพอยท์ จนสุดท้ายเป็นเวิร์คพอยท์

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ลิขสิทธิ์ที่เวิร์คพอยท์ได้มานั้น มีมูลค่าประมาณ 70-100 ล้านบาท หากรวมถึงค่าดำเนินการทางเทคนิคการถ่ายทอดสดด้วย โดยมีการตกลงซื้อลิขสิทธิ์กันเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เวิร์คพอยท์ เติบโตสูงสุดจากความสำเร็จของ The Mask Singer และกำลังต้องการขยายฐานคนดูให้กว้างขึ้น โดยใช้กีฬาเอเชียนเกมส์เป็นฐาน โดยวางแผนว่าจะถ่ายทอดสดผ่านเวิร์คพอยท์ และเครือข่ายออนไลน์ของช่องเวิร์คพอยท์ทั้งหมดเท่านั้น

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เอเชียนเกมส์จะเริ่มทำการแข่งขัน ด้วยกฎ Must Have ของกสทช. ทำให้เวิร์คพอยท์ต้องหาพาร์ทเนอร์ทีวีดิจิทัลอีกช่องมา sub licence เพื่อช่วยถ่ายทอดสดในแมชต์นักกีฬาไทยลงแข่ง เบื้องต้นสรุปว่าเป็นช่อง NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ไปขอยืมเงินการกีฬาแห่งประเทศไทยมาก่อน และเมื่อได้เงินจากค่าโฆษณาในช่องจึงจะเอาไปคืน แต่เมื่อเกิดสะดุดที่บอร์ดกสทช.ไม่อนุมัติ จึงกลายมาเป็นพีพีทีวีในเกือบวันสุดท้าย

มีรายงานว่าพีพีทีวีมารับช่วงซื้อลิขสิทธิ์ต่อในราคา 5 ล้านบาท โดยอยู่ในเงื่อนไขว่าไม่สามารถเลือกแมตช์ได้ ทุกอย่างเวิร์คพอยท์จะส่งกำหนดการถ่ายทอดสดมาให้วันต่อวัน

ส่วนเอไอเอสได้ซื้อต่อลิขสิทธิ์แบบลงช่องทาง OTT( over the top) AIS Play และ AIS Play Box ในลักษณะ feeding ในอีก 6 ช่องโดยไม่ได้จัดโปรแกรมใหม่ โดยมีรายงานว่าค่าซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน เวิร์คพอยท์ได้ตั้งราคาขายลิขสิทธิ์ให้กับบรรดาช่องทีวีดิจิทัลที่ต้องการภาพข่าวและการเดินทางไปรายงานข่าวที่อินโดนีเซีย ในหลากหลายรูปแบบแพคเกจ

แพคเกจ A มูลค่า 5 ล้านบาท ที่ครอบคลุมทั้งบัตรเข้าสนาม 10 ใบ และภาพข่าวออกอากาศตามที่กำหนด และรวมถึงคลิปพิธีเปิดปิด

แพคเกจ B มูลค่า 3 ล้านบาท ได้บัตรเข้าสนาม 6 ใบ ภาพข่าวและคลิปพิธีเปิดปิด

แพจเกจที่เล็กที่สุดคือแพคเกจ C ราคา 2 ล้านบาท หรือค่าลิขสิทธิ์รายวัน วันละ 2 แสนบาท ครอบคลุมเพียงภาพข่าวออกอากาศครั้งละ 1.30 นาที ไม่เกิน 10นาทีต่อวัน แต่ไม่รวมบัตรเข้าสนาม ที่จะต้องเสียใบละ 5 แสนบาท และคลิปพิธีเปิดปิด ราคา 70,000 บาท

เนื่องจากราคาแพคเกจค่อนข้างแพง ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับจากบรรดาทีวีดิจิทัลมากนัก มีซื้อลิขสิทธิ์เพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น แถมเป็นแบบแพคเกจเล็กที่มีการต่อรองราคากันหลายครั้ง เพื่อไปทำข่าวและได้สิทธิ์ภาพข่าวมารายงานเท่านั้น และบรรดาทีวีดิจิทัลต่างๆก็ไม่ส่งนักข่าวไปร่วมทำข่าวเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะหากนักข่าวจะมีบัตรเข้าสนามแข่งขันจะต้องจ่ายใบละ 5 แสนบาท

ต่างจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังไม่เกิดทีวีดิจิทัล มีทีวีไม่กี่ช่อง และทีวีพูลเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้มีการจัดสรรสิทธิ์การไปทำข่าวให้กับช่องสมาชิกทั้งหมด โดยไม่ต้องเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์

จึงเป็นสาเหตุหลักที่ในเอเชียนเกมส์ 2018 ครั้งนี้ อาจจะดูค่อนข้างเงียบเหงาไปบ้างทางช่องทีวีดิจิทัล เนื่องจากมีช่องหลักที่ถ่ายทอดสดเพียง 2 ช่อง คือเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี และจากช่องที่มาซื้อลิขสิทธิ์ภาพข่าวบางส่วนเพื่อรายงานข่าวเท่านั้น

Tagged