3 เงื่อนไขหลักที่ช่อง 3 HD ต้องทำ 17 ก.ค.นี้ ตามคำสั่งกสทช.

เกาะติดจอ

กสทช.แจงช่อง 3 HD ต้องแยกรายได้ และบริหารช่อง 3 HD และ 3 แอนะล็อคออกจากกันชัดเจน 17 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกิจการโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)​ได้เรียกตัวแทนช่อง 3 มาพบเพื่อทำความเข้าใจเรื่องแผนการเปลี่ยนแปลงหลัง 16 ก.ค.61 ที่เป็นวันสิ้นสุดระบบแอนะล็อคของทุกช่องยกเว้นช่อง 3 ที่จะสิ้นสุดในปี 2563 หลังจากที่บอร์ดกสทช.ได้มีมติให้แยกผังรายการการออกอากาศระหว่างช่อง 3 แอนะล็อค และช่อง 3HD ในวันที่ 17 ก.ค.นี้

โดยคำสั่งที่กสทช.ที่ส่งไปให้ บริษบีอีซี มัลติมีเดีย ผู้บริหารช่อง3HD ก่อนหน้านี้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.61 ช่อง 3HD ไม่จำเป็นต้องเสนอผังเนื้อหารายการเหมือนกับช่อง 3 แอนะล็อคอีกต่อไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีดิจิทัลโดยสมบูรณ์ จึงให้ทั้งสองช่องแยกเครื่องหมายแสดงสัญลักษณ์ช่องรายการออกจากกันอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามในที่ประชุมวันที่ 12 ก.ค. กสทช.ได้สรุปต่อตัวแทนช่อง 3 ถึงรายละเอียดของการเตรียมการรับการเปลี่ยนแปลงวันที่ 17 ก.คนี้ว่า บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย ผู้บริหารช่อง 3HD จะต้องเตรียมการใน 3 ประเด็น เพื่อที่จะไม่ผิดมาตรา 9 ของพรบ.กิจการกระจายเสียง ที่ระบุว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวี จะต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง

1.บีอีซีต้องเป็นผู้บริหารผังรายการของช่อง 3HD ด้วยตัวเอง สามารถตัดสินใจปรับเปลี่ยนผังได้ตลอดเวลา

2.ต้องแสดงถึงรูปแบบของการหารายได้ของบีอีซีในฐานะที่เป็นผู้ประกอบกิจการช่อง 3HD ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน

3..ให้แยกโลโก้ของช่อง 3แอนะล็อคและ 3 HD ออกจากกัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ ประธานอนุกรรมการได้ชี้แจงกับนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ทนายความตัวแทนของกลุ่มช่อง 3 ว่า สามารถเปิดให้ออกอากาศผังรายการแบบเดียวกันได้ เพียงแต่บีอีซีต้องแสดงให้เห็นว่า บริหารจัดการช่อง3HD ได้เอง ไม่ใช่เป็นการเช่ารายการจากช่อง 3 แอนะล็อคมาทั้งหมด

ซึ่งทนายความของช่อง 3 รับทราบและจะไปหารือกับผู้บริหารกลุ่มช่อง 3 เรื่องแนวทางในการดำเนินการตามที่กสทช.ได้ระบุไว้ แต่ก็ได้แจ้งกสทช.ว่าช่อง 3 ต้องการปิดระบบแอนะล็อคโดยเร็วเช่นกัน แต่ติดปัญหาที่อสมท.ในฐานะคู่สัญญาไม่ยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดในปี 2563

ช่อง 3 และ 3HD ได้ออกอากาศคู่ขนานใช้ผังรายการเดียวกันมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2557 ตามข้อตกลงร่วมกันของบริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (ช่อง 3 แอนะล็อค) และกสทช.ต่อหน้าศาลปกครองในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 หลังจากที่มีข้อพิพาทกันระหว่างกสทช. และช่อง 3 ในเรื่องกฎ Must Carry ต่อช่องแอนะล็อค มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 เป็นช่วงที่บรรดาทีวีดิจิทัลทั้งหมดเริ่มออกอากาศทุกช่องแล้ว และกสทช.ได้ประกาศว่าช่องกิจการฟรีทีวีจะครอบคลุมแค่ทีวีดิจิทัลเท่านั้น ไม่รวมทีวีแอนะล็อค ซึ่งมีผลทำให้ช่องทีวีแอนะล็อคไม่สามารถไปออกอากาศในเครือข่ายอื่นๆทุกเครือข่าย ยกเว้นเครือข่ายแอนะล็อคเองเท่านั้น จนช่อง 3 ไปฟ้องศาลปกครอง และมีการไกล่เกลี่ยกันจนได้ข้อสรุปในคำสั่งศาลวันที่ 8 ต.ค.2557

ในขณะที่คำสั่งของกสทช.เกี่ยวกับแยกบทบาทการออกอากาศของทั้งสองช่องนี้ สืบเนื่องมาจากวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันที่ช่อง 9 และช่อง 11 จะปิดสถานีทีวีระบบแอนะล็อคทั้งหมด ตามหลังช่อง 7, ไทยพีบีเอส และช่อง 5 ที่ปิดไปเมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เหลือเพียงช่อง 3 ช่องเดียวที่คงเหลือระบบทีวีแอนะล็อคในประเทศไทยไปจนกว่าจะหมดสัมปทานกับอสมท. ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 25 มี.ค. 2563

โดยบอร์ดกสทช.ได้มีมติตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะเป็นวันสิ้นสุดของการอนุญาตให้มีการออกอากาศคู่ขนาน หรือ Simulcast ระหว่างทีวีแอนะล็อคและดิจิทัล ที่เคยมี 3 ช่องคือ ช่อง 3, 7 และ 9 และต่อไปนี้ช่อง 3 และ 3 HD จะต้องแยกเครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของรายการ ของทั้งสองช่อง โดยไม่เป็นรูปแบบผังรายการเดียวอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อกสทช.แจ้งให้บริษัทบีอีซี มัลติมีเดีย ที่บริหารช่อง 3HD ให้แยกผังรายการออกมาจากช่อง 3 แอนะล็อค แต่บีอีซีส่งหนังสือมากสทช.เมื่อวันที่ 23 เม.ย. โดยปฏิเสธว่าไม่สามารถทำตามคำสั่งกสทช.ได้ เพราะต้องทำตามข้อตกลงที่กสทช.และบีอีซี ได้ทำร่วมกันที่ศาลปกครองในคดีเลขที่ 1561/2557 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2557 ที่ให้ช่อง 3HD สามารถออกอากาศโดยใช้ผังรายการเดียวกันที่ช่อง 3 แอนะล็อคทำขึ้น จนกสทช.ได้เรียกตัวแทนช่อง 3 มาเข้าประชุม ซึ่งมีการเลื่อนจากวันจันทร์ที่ 9 ก.ค.มาเป็นวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการกิจการโทรทัศน์จะนำข้อสรุปการประชุมกับตัวแทนช่อง 3 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองกิจการกระจายเสียงวันที่ 16 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเสนอบอร์ดกสทช.ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ต่อไป

Tagged