ม.44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน

รายการข่าว เกาะติดจอ

โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

ส่งจากสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy ของฉัน

——– ข้อความดั้งเดิม ——–

จาก: NBTC Rights <nbtcrights@gmail.com>

วัน​ที่: 22/4/19 13:42 (GMT+07:00)

ถึง: KEURMAETHA RERKPORNPIPAT <kurtmaetha@gmail.com>

เรื่อง: บทความเพื่อเผยแพร่ของ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เรื่อง ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน

เรียน สื่อมวลชน

เนื่องจาก กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เขียนบทความเรื่อง เรื่อง ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน ซึ่งเห็นว่าประเด็นดังกล่าวกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน และเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะ จึงอยากฝากสื่อมวลชนพิจารณาเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ขอบคุณครับ

ม. 44 เอื้อรัฐ เอื้อเอกชน หรือเอื้อประชาชน

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ก่อให้เกิดปฏิกิริยามากมาย ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ต่างออกมาสนับสนุน ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าก่อความเสียหายต่อชาติก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนผู้คนทั่วไปพากันตั้งคำถามว่า สรุปแล้วคำสั่งฉบับนี้ดีหรือไม่ดี

ในภาพรวมของคำสั่ง มีศูนย์กลางอยู่ที่การจัดสรรคลื่น 700 MHz ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการทีวีดิจิทัล เพื่อเปลี่ยนมาเป็นบริการโทรคมนาคมยุค 5G เมื่อดึงคลื่น700 MHz จากทีวีดิจิทัลมาก็หาแนวทางชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และถือโอกาสนี้เปิดทางให้ช่องรายการทีวีดิจิทัลที่ไปต่อไม่ได้สามารถยุติกิจการได้ โดยให้ได้รับเงินค่าคลื่นคืนตามสัดส่วนระยะเวลาที่ดำเนินกิจการ

ในส่วนการจัดสรรคลื่น 700 MHz ให้กับบริการโทรคมนาคมยุค5G ก็เกรงว่าค่ายมือถือต่างๆ จะไม่เข้าประมูล ด้วยยังมีภาระต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ที่ประมูลไปก่อนหน้านี้ จึงให้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHzโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่กำหนดให้ต้องมารับการจัดสรรคลื่น 700MHz ไปด้วย โดยไม่ต้องประมูล

และทั้งหมดนี้ให้อำนาจสิทธิขาดแก่สำนักงาน กสทช. ไม่ใช่ให้อำนาจกรรมการ กสทช. ดังเช่นกฎหมายปกติ

ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนดี แต่ทำไมมีคนไม่เห็นด้วย

จากการรวบรวมความเห็นอันหลากหลาย พอจะสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  1. กรณียืดหนี้ให้ทีวีดิจิทัลตามคำสั่ง คสช. ที่76/2559 มีการคิดดอกเบี้ย แต่กรณียืดหนี้ค่าคลื่น900 MHz ให้ฝั่งโทรคมนาคมกลับไม่มีการคิดดอกเบี้ยเลย ส่วนต่างดอกเบี้ยที่หายไปคือความเสียหายของประเทศหรือไม่ และทำไมจึงใช้มาตรฐานที่ต่างกัน
  2. ทำไมสื่อมวลชนหลายฉบับลงข่าวล่วงหน้าในวันที่11 เมษายน ว่าลุ้น คสช. ออก ม.44 ได้ถูกต้อง เหมือนได้รับข้อมูลวงใน ทั้งที่คำสั่งออกจากองค์กรด้านความมั่นคง มีใครตรวจสอบการใช้ข้อมูลวงในนี้หาประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นหรือไม่ ถ้าพบว่ามีจะต่างอะไรกับการที่อดีตนักการเมืองใช้ข้อมูลวงในของการลอยตัวค่าเงินบาททำกำไรให้แก่ตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2540
  3. การเปลี่ยนคลื่นทีวีเป็นคลื่นโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา สามารถทำได้โดยไม่ต้องนำภาระค่าคลื่นเดิมมาผ่อนผันแม้แต่น้อย โดยทำการคืนคลื่นทีวีผ่านการประมูลแบบ Reverse Auction และนำคลื่นนั้นไปจัดสรรให้กับบริการโทรคมนาคมแบบ Forward Auction
  4. การนำภาระค่าคลื่น 900 MHz ไปผูกกับการจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยอ้างว่าต้องเร่งประมูล5Gซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในอีก 15 ปีข้างหน้าถึง 2.3 ล้านล้านบาท แต่จากรายงานของ GSMA ประมาณได้ว่า ผลที่ไทยจะได้รับอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ต่ำกว่ากันถึงเกือบ 6 เท่า และประโยชน์ที่ทั้งโลกจะได้รับอยู่ที่ 70 ล้านล้านบาท สัดส่วนขนาดเศรษฐกิจไทยต่อเศรษฐกิจโลกไม่ถึงร้อยละ 1 จึงไม่มีทางที่จะเป็น 2.3ล้านล้านบาทตามที่อ้างกัน
  5. จากรายงานของ GSMA ประเทศที่จัดสรรคลื่น 5G ได้เร็วไม่ตกยุคคือประเทศที่จัดสรรภายในปี ค.ศ. 2021น่าจะเป็นเพราะสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมจะมาในปี ค.ศ. 2021 ทั้งในด้านอุปกรณ์ ด้านความพร้อมใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ส่วนในปัจจุบันแม้ไม่มี 5G ระบบอัตโนมัติและ IoT ก็เปิดให้บริการแล้ว ความเข้าใจที่ว่าถ้าไม่มี 5G จะไม่มีระบบการผลิตอัตโนมัติหรือไม่มี IoT ใช้งานเป็นความเข้าใจผิด หากไทยมี 5G ในปี ค.ศ.2021 ก็ไม่ได้ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษใดของไทยต้องล้มหายไป
  6. การให้บริการ 5G ต้องใช้คลื่นทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง แต่ไทยยังไม่จัดทำแผนบูรณาการคลื่น5G ทุกย่าน การเร่งจัดสรรคลื่น 700 MHz โดยไม่มีแผนการใช้คลื่นย่านอื่นประกอบทำให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจ มากกว่าเกิดประโยชน์ และปัจจุบันมีเฉพาะทวีปยุโรปที่มุ่งใช้คลื่นย่าน 700 MHzแต่ยังไม่เปิดบริการและยังไม่มีอุปกรณ์ในท้องตลาด ส่วนอเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยังไม่ได้มุ่งใช้คลื่นย่านนี้
  7. การเรียกคืนคลื่นจากทีวีดิจิทัลนั้น ต้องมีการทำแผนช่องสัญญาณออกอากาศใหม่ โดยใช้เวลาประสานแผนระหว่างโครงข่ายประมาณ3 เดือน และใช้เวลาปรับอุปกรณ์อีกประมาณ 18 เดือน อย่างน้อยจึงต้องการเวลาอย่างต่ำ20 เดือนนับจากวันเรียกคืน จึงจะสามารถนำคลื่น 700 MHz มาให้บริการโทรคมนาคมได้ การสร้างความเข้าใจผิดในการเร่งโอ่อวดเรื่อง 5G ของไทยในปี ค.ศ. 2019 นี้จะทำให้เกิดความสับสนกับสังคม หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเพียงข้ออ้างในการเอื้อเอกชน
  8. ด้วยความกังวลว่า หากให้ผ่อนค่าคลื่น900 MHz เมื่อเอกชนได้ประโยชน์แล้ว แต่ไม่เข้าประมูล5G จะทำให้เกิดค่าโง่ ในคำสั่งจึงกำหนดให้เอกชนต้องรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz หากไม่รับการจัดสรรจะไม่สามารถผ่อนค่าคลื่น900 MHz ดูเหมือนจะเป็นการบังคับ แต่เมื่อไม่ต้องใช้วิธีประมูล โดยให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้กำหนดราคาคลื่น หากกำหนดราคาต่ำไป ก็จะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนได้ผ่อนค่าคลื่น 900 MHzด้วย ได้รับคลื่น 700 MHz ในราคาถูกด้วย เป็นการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมอย่างถาวร โดยผลของคำสั่ง คสช.
  9. ปัญหานี้เกิดจากการไม่มีกลไกกำกับดูแลการจัดสรรคลื่นและการกำหนดราคาคลื่นให้เป็นธรรม ซึ่งในการชดเชย ทดแทน ชดใช้ จ่ายค่าตอบแทนฝั่งทีวีดิจิทัล คำสั่ง คสช. ได้มีการกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการซึ่งมีองค์ประกอบจากหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา แต่กลับมอบดุลพินิจที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลให้กับสำนักงาน กสทช. ดังนั้น โอกาสที่รัฐจะเสียค่าโง่ในการจัดสรรคลื่น700 MHz ยังเปิดกว้างอยู่ และทำให้ตอกย้ำคำถามเดิมว่า ทำไมกิจการสองด้าน คสช. จึงกำหนดมาตรฐานในการจัดการต่างกัน
  10. ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น700 MHzแบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นเดิม (แต่ไม่ได้ระบุว่าช่องใด) และผู้ให้บริการโครงข่ายหรือ MUX การที่มีการตีขลุมว่าทุกช่องรายการได้รับผลกระทบนั้น อาจไม่ถูกต้อง เพราะในการออกอากาศทีวีดิจิทัล ช่องรายการเป็นผู้ส่งเนื้อหาให้MUX แพร่ภาพ แม้ว่าจะมีการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ช่องรายการก็ยังได้รับสิทธิแพร่ภาพด้วยคุณภาพสัญญาณระดับเดิมโดยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในระบบดิจิทัล 1 MUX ใช้เพียง 8 MHz ออกอากาศได้ 12 ช่องรายการ SD หรือ 4 ช่องรายการ HD เมื่อมีการประสานแผนช่องสัญญาณ แม้คลื่น 700 MHzบางส่วนจะหายไป ทุกช่องรายการในปัจจุบันก็ยังจะสามารถออกอากาศได้ตามสิทธิเดิมโดยไม่ผิดเพี้ยน การขยายความให้ผู้ไม่ได้รับผลกระทบไม่ชำระเงินงวดย่อมสร้างความเสียหายต่อรัฐและไม่เป็นไปตามคำสั่งนี้
  11. สุดท้าย คำสั่งนี้คำนึงถึงทุนเป็นศูนย์กลาง มิใช่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงมีมาตรการดูแลเจ้าของทุน แต่ไม่มีมาตรการดูแลประชาชน มีการตั้งคำถามว่า เอกชนได้ผ่อนค่าคลื่น ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ถูกลงด้วยหรือไม่ และในฝั่งทีวีดิจิทัล เดิมที กสทช. ได้กำหนดให้มีช่องรายการข่าวสารสาระ ช่องรายการเด็ก ซึ่งทั้งสองประเภทได้รับความนิยมน้อยกว่าช่องรายการบันเทิง การไม่กำหนดมาตรการดูแลที่ต่างกันระหว่างช่องรายการต่างประเภทกัน อาจทำให้ช่องรายการข่าวสารสาระและช่องรายการเด็กหายไปมากกว่าช่องรายการบันเทิง ประชาชนก็จะได้รับสัดส่วนรายการที่เป็นประโยชน์น้อยลงไป และผู้สื่อข่าวหรือผู้ผลิตรายการสำหรับเด็กก็จะล้มหายตายจากไปด้วยเช่นกัน

หากผู้มีอำนาจหวนกลับมาคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังพอมีเวลาแก้ไขทัน

Tagged