สภาวิชาชีพข่าวฯ ค้านช่อง NBT มีโฆษณา

เกาะติดจอ

หลังจากที่มีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 9/2561 วันที่ 23 พ.ค.61 ได้มีการระบุเปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ โดยไม่เป็นการมุ่งแสวงหากำไรทางธุรกิจนั้น กสทช.ได้มีการร่างประกาศหลักเกณฑ์เพื่อรองรับคำสั่งดังกล่าว และได้มีการจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา

หลังจากการรับฟังความเห็นในวันดังกล่าว สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน ร่างประกาศดังกล่าวของกสทช. โดยระบุว่า การให้ช่อง 11 NBT หารายได้จากโฆษณาทางธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนเป็นการทำลายกลไกตลาดและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลซึ่งประกอบกิจการทางธุรกิจโดยวิธีประมูล ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท และอยู่ในช่วงประสบปัญหาทั้งอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 แต่อย่างใด

ทั้งนี้สาระสำคัญในร่างดังกล่าว ระบุว่า ให้ช่อง NBT สามารถหารายได้จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ไม่เกิน 8 นาทีต่อชั่วโมง แต่รวมเวลาโฆษณาเฉลี่ยตลอดวันแล้วต้องไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง และสามารถหารายได้จากการแบ่งเวลาให้บุคคลอื่นดำเนินการ และรายได้จากการขอรับบริจาค สนับสนุน หรืออุดหนุนก็ได้ แต่เมื่อรวมรายได้แล้ว จะต้องเป็นไปเท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการโดยไม่เน้นการแสวงหากำไร

นอกจากนี้กสทช.จะมีการทบทวนการกำหนดเวลาโฆษณาสูงสุดหลังจากที่ได้อนุญาตไปแล้ว 3 ปีด้วย

สำหรับคำสั่งคสช.ฉบับที่ 9/2561 นี้ เป็นคำสั่งที่ออกมาพร้อมกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ด้วยการให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี และให้กสทช.ช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลจำนวน 50% ให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผู้ประกอบการเสนอให้รัฐช่วยเหลือ แต่เมื่อมีคำสั่งคสช.ประกาศมา กลับมีเพิ่มเติมในประเด็นให้ช่อง NBT หารายได้จากค่าโฆษณาได้ด้วย

การที่ช่อง NBT จะได้โฆษณานี้ จึงอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกราย โดยเฉพาะงบประมาณในการลงโฆษณาจากหน่วยงานรัฐ อาจจะต้องเทเงินบางส่วนมาลงที่ NBT ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบปัญหารายได้จากค่าโฆษณาลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีความกังวลในแง่ของการบริหารเงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากโฆษณา หากมีวงเงินเหลือ จะต้องทำอย่างไรต่อไป อีกทั้งปกติกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐอยู่แล้วด้วย

ทั้งนี้กสทช.คาดว่า ร่างประกาศนี้ อาจจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประมาณเดือนพ.ย.ปีนี้ ซึ่งกสทช.อยู่ระหว่างการปรับปรุง และสร้างความรัดกุมในการบริการเงินให้มีประสิทธิภาพและการตรวจสอบที่ดีด้วย

Tagged