มีมึน!! เมื่อบอร์ด กสทช.มีมติแบบนี้ กรณีจอดำ บอลพรีเมียร์ลีกบน AIS Play

Byวิกสายลม กสทช. บทวิเคราะห์

By วิกสายลม

เรื่องวุ่นๆ ของปัญหาการนำคอนเทนต์ที่ออกอากาศสดทางทีวีดิจิทัล ลงช่องทางออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นแบบการรับชมสด ที่กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างไม่จบสิ้น โดยเฉพาะกรณีล่าสุดการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่กลุ่มทรูวิชั่นส์ได้ลิขสิทธิ์ขายสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีให้กับพีพีทีวี แต่ไม่สามารถรับชมสดจากช่องพีพีทีวีในเครือข่ายของ AIS Play ได้นั้น

ดูเหมือนว่ากำลังเป็นปัญหา ที่อาจจะลามไปถึงทุกรายการที่ออกอากาศในทีวีดิจิทัลทุกช่อง สำหรับช่องทางรับชมทางมือถือ ออนไลน์และแอปพลิเคชั่น หากว่าช่องใดช่องหนึ่ง เกิดยึดกรณี บอลพรีเมียร์ลีกนี้เป็นตัวอย่าง

เรื่องเกิดขึ้นจากกลุ่ม AIS ได้ยื่นหนังสือถามกสทช.ว่า จะออนแอร์รายการพรีเมียร์ลีกของช่องพีพีทีวี ในเครือข่าย AIS Play ได้หรือไม่ เพราะทรูวิชั่นส์ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า ทุกกล่องรับสัญญาณทีวี และแอปพลิเคชั่นออนไลน์ทั้งหมด จะไม่สามารถรับชมได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง เมื่อวันที่ 5 ส.ค.มีมติให้ AIS Play และ AIS Play Box ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต IPTV ต้องนำสัญญาณการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทางช่องพีพีทีวี เพื่อทำตามกฎ Must Carry ที่ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตจากสทช.ทุกรายต้องออกอากาศทุกรายการของทุกช่องทีวีดิจิทัล แต่กลุ่มทรูได้ร้องเรียนไปยังประธานกสทช. ว่า บริการ AIS Play ไม่สามารถออนแอร์ได้ เพราะจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จนต้องเสนอเรื่องให้คณะที่ปรึกษากฎหมายของกสทช.ช่วยพิจารณาในแง่กฎหมาย

ทั้งนี้มีรายงานว่า คณะที่ปรึกษากฎหมายของกสทช. ซึ่งมีการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เรียกทั้งตัวแทนทรู และเอไอเอส มาชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปทางกฎหมายได้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน AIS ก็ได้ทำหนังสือด่วนถึงกสทช.ว่า ขอไม่ออนแอร์รายการนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการของกสทช.อีกครั้ง จนเป็นเหตุให้ AIS Play ตัดสินใจจอดำ การถ่ายทอดสดรายการนี้ เริ่มตั้งแต่การแข่งขันแมตช์แรกวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามบอร์ดกสทช.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติสั้นๆในกรณีดังกล่าวเพียงแค่ว่า “ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

มติบอร์ดกสทช.ที่ออกมานี้ ถูกมองว่าเป็นการ Play Save ของบอร์ดกสทช.เอง ที่ดูเหมือนว่าจะวางบทบาทไว้เพียงว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสู้กันของ 2 ยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคม ทั้งทรู และเอไอเอส เท่ากับว่า ยังคงเป็นการ “ทิ้งปัญหา” เอาไว้ โดยยังไม่มีข้อสรุปใดๆทั้งสิ้น

AIS Play และ AIS Play Box เป็นผู้ประกอบการภายใต้ใบอนุญาตของกสทช. แต่ TrueID ไม่ได้มีใบอนุญาต โดยระบุตัวเองไว้ว่า เป็นบริการ OTT

ในปีที่แล้ว บอร์ดกสทช.ก็เคยแตกกันเป็น 2 กลุ่ม กับกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่ทรูวิชั่นส์ได้ลิขสิทธิ์และห้ามกลุ่ม AIS นำสัญญาณถ่ายทอดทางทีวีดิจิทัลไปออนแอร์ในช่องทาง AIS Play และ AIS Play Box ซึ่งกลุ่มทรูยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและทางการค้าระหว่างประเทศ และเรียกค่าเสียหายจาก กลุ่ม AIS ในวงเงินประมาณ 50 ล้านบาท โดยฝั่งทรูยึดตามกฎหมายลิขสิทธิ์แต่ AIS อ้างตามประกาศ Must Carry ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีบอร์ดกสทช.เป็นพยานในชั้นศาล มีการสืบพยานกันนานหลายเดือน แต่ทั้งสองฝ่ายยอมไกล่เกลี่ยและถอนคดีดังกล่าวออกจากศาลไปในที่สุด โดยที่ยังไม่เคยมีคำตัดสินในเรื่องนี้แต่อย่างใด

หลักการของประกาศ Must Carry เป็นการระบุให้ทุกโครงข่าย และผู้ให้บริการกิจการทีวีที่ได้รับอนุญาตจากสทช.ต้องนำสัญญาณทีวีดิจิทัลทุกช่องไปออกอากาศด้วยในทุกช่องทาง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการออกอากาศทีวีดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าทีวีดิจิทัลจะมีรายการอะไร ทุกช่องทางก็ต้องเผยแพร่ทุกรายการของทีวีดิจิทัลทุกช่องด้วย

ในขณะที่กฎหมายลิขสิทธิ์ คือการปกป้องการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่นำรายการลิขสิทธิ์ไปออกอากาศโดยไม่ได้รับอนุญาต

กรณีของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ดูเหมือนว่า ค่าย AIS ยอมแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง เลือกที่จะไม่ทำตามกฎ Must Carry ดังที่เคยเป็นมา เพราะไม่อยากสู้คดีความกับฝ่ายทรูอีก

เรื่องแนวนี้ยังไม่มีแนวโน้มจบลง เพราะยังไม่มีคดีไปให้ศาลตัดสิน ผู้ชมรายการแต่ละช่องก็อาจจะต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์เช่นเดียวกับแบบนี้ในอีกหลายรายการในอนาคต ยกเว้นแต่ว่า มีผู้บริโภคไปร้องเรียนกสทช.ตามช่องทางที่กสทช.เปิดให้ร้องเรียน เบอร์ 1200 หรือไปร้องเรียนต่อศาลแผนกคดีผู้บริโภค เพื่อให้กระบวนการทางศาลช่วยมีมติตัดสินดีเช่นนี้เสียที

ระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุป ลองคิดเล่นๆว่า หากมีบางช่องทีวีดิจิทัล งัดเอากฎหมายลิขสิทธิ์มาอ้าง ไม่ให้ทุกแพลทฟอร์มนำบางรายการเช่น ละครดัง หรือรายการดังของช่อง ไปออนแอร์ เพื่อหวังดึงยอดผู้ชมกลับช่องทางทีวี และให้รับชมช่องทางออนไลน์ได้เฉพาะเว็บไซต์ทางช่อง หรือแพลทฟอร์มที่ช่องขายลิขสิทธิ์ให้เท่านั้น วงการทีวีดิจิทัลคงวุ่นวายกันอีกยกใหญ่

โดยเฉพาะกรณี TrueID ที่ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาต จึงไม่มีหน้าที่ต้องทำตามกฎ Must Carry ที่ต้องนำทุกรายการของทุกช่องมาออกอากาศ โดยไม่ต้องไปขอลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่จากแต่ละช่อง เมื่อ TrueID ประกาศว่าตัวเองเป็น OTT และยึดมั่นกับกฎหมายลิขสิทธิ์ ดาบนี้อาจจะสะท้อนกลับ หากเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลบางราย มายึดกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกับทรู

กฎหมายลิขสิทธิ์ VS กฎ Must Carry จะมีใครไหม ช่วยหาทางออกให้ที

Tagged