อัพเดท ! ช่องทางรับชมช่องทีวีเพื่อการศึกษาใหม่ 17 ช่อง

กสทช. เกาะติดจอ

เตรียมพร้อมรับชมทีวีการศึกษา เครือข่ายเสาก้างปลา ทีวีดิจิทัล รับชมได้ทั้งหมด 17 ช่อง จานใหญ่ C Band ได้ 12 ช่อง อนุบาล-ม.3 ส่วนจานเล็ก Ku Band ดูได้ 16 ช่องยกเว้นช่องอาชีวะ เริ่ม 18 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.63 สำนักงานกสทช.ได้มีการเรียกประชุมผู้ประกอบการเครือข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เพื่อขอความร่วมมือเตรียมรับการถ่ายทอดสัญญาณช่องการศึกษา ในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม ที่จะเริ่มออกอากาศในวันที่ 18 พ.ค.นี้ โดยมีข้อสรุปว่า

-ผู้ชมทีวีดิจิทัลที่รับชมผ่านเครือข่ายทีวีดิจิทัล เสาก้างปลา จะสามารถรับชมช่องการศึกษาทั้งหมด 17 ช่องได้ทั้งหมด ในหมายเลขช่องตั้งแต่หมายเลข 37 -53  

-ผู้รับชมผ่านจานดาวเทียม C Band หรือจานดำขนาดใหญ่ เช่น กล่อง PSI จะรับชมได้จำนวน 12 ช่อง ตั้งแต่ช่องอนุบาล 1 จนถึงช่องม.3 หมายเลขช่องตั้งแต่หมายเลข 337 – 348

-ผู้รับชมผ่านจานดาวเทียม Ku Band หรือจานขนาดเล็กหลากสี เช่น ทรูวิชั่นส์ IPM และ DTV จะรับชมได้ทั้งหมด 16 ช่อง ยกเว้นช่องอาชีวะศึกษา หมายเลขช่องตั้งแต่หมายเลข 186 -201

สาเหตุที่การรับชมช่องการศึกษาผ่านทางกล่องทีวีดาวเทียมทั้ง C Band และ Ku Band รับชมไม่ได้ครบทุกช่อง เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคในการรับส่งสัญญาณจากสถานีเครือข่ายทีวีดิจิทัล

สำหรับวิธีการจูนกล่องทีวีดิจิทัล และเครื่องรับทีวีดิจิทัลเพื่อให้สามารถรับชมช่องการศึกษาทั้งหมด 17 ช่องนี้ได้ ให้ดูรายละเอียดที่ https://broadcast.nbtc.go.th/tune/

ส่วนกล่องดาวเทียม ให้รอหลังเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.นี้ ผู้ประกอบการกล่องทีวีดาวเทียมจะมีปรับระบบให้ผู้ชมสามารถรับชมได้โดยอัตโนมัติ

ในส่วนช่อง Active Learning (ALTV) ของไทยพีบีเอส นั้นจะออกอากาศในวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ในช่องหมายเลข 4

การออกอากาศช่องทีวีการศึกษานี้ เป็นไปตามแผนงานของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาทำรายละเอียดแผนที่ต้องการเสริมการเรียนการสอนในช่วงปิดเทอมยาวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีกำหนดเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค.นี้

สำหรับเนื้อหารายการที่จะนำมาออนแอร์นั้น ในกลุ่มช่องอนุบาล ถึงระดับมัธยมต้น จะเป็นการนำรายการจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ที่ปกติออกอากาศอยู่แล้ว สำหรับช่องการศึกษาของมัธยมปลาย เป็นรายการผ่านช่องทีวีดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสม ของสถานศึกษา

ส่วนช่องกศน.นำคอนเทนต์มาจากช่อง ETV ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่ปัจจุบันมีการออกอากาศในช่องทางออนไลน์ www.ETVThai.tv และ www.ceted.org และแอปพลิเคชั่นออนไลน์  และช่องอาชีวะ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  เป็นการนำคอนเทนต์ส่วนหนึ่งมาจาก DLTV ช่อง 13

ส่วนเนื้อหาของช่อง ALTV ไทยพีบีเอสนั้น ช่องไทยพีบีเอสได้แจ้งว่า ได้ออกแบบเนื้อหาและผังรายการให้ผสมผสานกลุ่มสาระวิชาเข้ากับการเสริมสร้างสมรรถนะของเด็ก โดยเนื้อหาแยกตามกลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน 43% ครู 34% พ่อแม่ 23% แยกตามประเภทรายการเป็นสาระความรู้เสริมการศึกษา 40% สาธิตการสอนของครู 36% รายการเนื้อหาสำหรับครอบครัว สถานการณ์ปัจจุบัน และอื่น ๆ 24% ซึ่ง ALTV จะวางผังไล่ตามลำดับเวลาจากกลุ่มเด็กปฐมวัยในช่วงเช้า เด็กประถม เด็กมัธยม วัยรุ่น ไปจนถึงพ่อแม่ช่วงค่ำก่อนปิดสถานี โดยในช่วงเวลาบ่ายของวันจันทร์-ศุกร์ กำหนดให้เป็นช่วงเวลาของครูด้วยรายการสาธิตการสอนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มครู

 

Tagged