สกสว. จัดระดมสมอง “แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล”

ข่าวประชาสัมพันธ์ทีวี

ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยสำนักประสานงาน โครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. จัดเวทีระดมสมอง “แนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล” ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการภารกิจด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สกสว. หรือในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยโครงการ “การศึกษาเรื่องการบริโภคละครโทรทัศน์ไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน : ศึกษากรณีในประเทศพม่า กัมพูชา และเวียดนาม”

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกานดา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการภารกิจด้านการวิเคราะห์สถานการณ์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าทางวัฒนธรรมที่มากับกระแส K-Wave (อิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลีในเอเชีย กระแสเกาหลี (Korean Wave))หรือ J-Pop ได้เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันอย่างมาก ไทยเองมีสินค้าสื่อบันเทิงและนักแสดงไทยเป็นที่นิยมในหลายประเทศอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านและจีน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “Thai Wind” 

แต่ที่ผ่านมาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยยังไม่มีการบูรณาการหรือการทำงานร่วมกันมากนักเพื่อผลักดันอิทธิพลของสินค้าทางวัฒนธรรมไทยสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการและภาครัฐเพิ่มการบูรณาการร่วมกันผ่านเวทีระดมสมอง เพื่อแสวงหาแนวทางส่งเสริมและผลักดันละครโทรทัศน์ไทย ภาพยนตร์ไทย และนักแสดงของไทยไปสู่สากลมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียง และความนิยมให้กับประเทศได้ดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

อีกทั้งการทำความเข้าใจปัญหาและอุปสรรคในการผลักดันให้สื่อบันเทิงไทยออกไปสู่สากลจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถผลิตเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมา สกสว. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม ได้ เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาละครไทย และได้ให้การสนับสนุนการวิจัย โครงการ “การศึกษาเรื่องการบริโภคละครโทรทัศน์ไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน : ศึกษากรณีในประเทศพม่า กัมพูชา และเวียดนาม” และ โครงการศึกษานโยบาย Soft Power ต่ออาเซียนของญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ : นัยและบทเรียนสำหรับประเทศไทย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สกสว. กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องนโยบาย Soft Power ต่ออาเซียนของญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ : นัยและบทเรียนสำหรับประเทศไทยว่า ตนได้ทำการศึกษา Soft Power ของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยตระหนักว่า ประไทยควรมีการรับมือและตอบสนองต่อนโยบายการเพิ่ม Soft Power ในด้านต่างๆ ของชาติเหล่านี้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของปรากฏการณ์การไหลบ่าของวัฒนธรรมสมัยนิยมรูปแบบต่างๆ อาทิ ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน นักร้อง แฟชั่น ฯลฯ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า Soft Power ของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้แผ่ขยายเข้ามายังอาเซียนและไทยอย่างเข้มข้น

นอกจากเอเชีย ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นับเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในการดำเนินนโยบายด้าน Soft Power ต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะต่อประเทศอาเซียนที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเวทีทดสอบและแข่งขันด้าน Soft Power ของทั้ง 3 ประเทศ ดังเห็นได้จากตัวอย่างของการก่อตั้งสถาบันขงจื่อและศูนย์วัฒนธรรมในกรณีของจีน การส่งออกละครซีรีย์และดารานักร้องในกรณีของเกาหลีใต้ ตลอดจนการ์ตูนหรืออาหารในกรณีของญี่ปุ่น เป็นต้น ในด้านนโยบายต่างประเทศก็มีการแข่งขันกันเพิ่มบทบาทและอิทธิพล

“ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเยือนในระดับผู้นำ การเข้าร่วมประชุมต่างๆ การมีข้อริเริ่ม (Initiative) และข้อเสนอความร่วมมือต่างๆ อันรวมถึงการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงอาเซียน การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance หรือ ODA) ตลอดจนธนาคารการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ที่เสนอโดยจีน” รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ กล่าวยกตัวอย่าง

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเรื่องการบริโภคละครโทรทัศน์ไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน: ศึกษากรณีในประเทศพม่า กัมพูชา และเวียดนาม” ว่า โครงการวิจัยนี้แสดงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในด้าน Soft Power ของไทย ผ่านละครโทรทัศน์ไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างเสน่ห์ของไทยต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน

โดยวัฒนธรรมสมัยนิยมของไทย ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ อาหารไทย มวยไทย เริ่มได้รับความนิยมจากชาติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้สามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์เสน่ห์และความชื่นชมต่อไทยในสายตาของประเทศอื่นได้และสามารถที่จะเสริมสร้าง Soft Power ของไทยได้หากเรามียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพราะจากการศึกษาพบว่า Soft Power จากโซนเอเชียที่ประสบความสำเร็จ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เป็นสองประเทศที่เป็นตัวอย่างสำคัญ แน่นอนว่าความสำเร็จเหล่านี้ก็ต้องเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาลและความร่วมมือจากเอกชน แต่ปัจจัยอะไรกันที่ทำให้ทั้งสองกระแสสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง และแบ่งตลาดกันอย่างชัดเจนลงตัว เป็นสิ่งที่เราจะต้องมีการหารือกันอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ ละครไทย กำลังได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างลาว กัมพูชา และพม่ามาเป็นระยะเวลานาน และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น จึงควรมีการศึกษาวิเคราะห์และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาวัฒนธรรมสมัยนิยมสู่ Soft Power ให้เกิดแนวทางการส่งเสริมละคร สื่อบันเทิง และนักแสดงไทยไปสู่สากล

Tagged