ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมคิดซีรีส์ START-UP

ชวนวิเคราะห์ผ่านมุมคิดซีรีส์ START-UP โมเดลความสำเร็จจากเกาหลีที่ให้มากกว่าความบันเทิง

ข่าวประชาสัมพันธ์ทีวี

แม้ว่าซีรีส์เกาหลี “START-UP” จะปิดฉากสุดท้ายกันไปแล้ว แต่กระแสของธุรกิจสตาร์ทอัพในชีวิตจริงก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากใครที่ได้รับชมตลอดทั้งเรื่องก็จะทราบดีว่าหลายฉากหลายตัวละครได้สร้างแรงบันดาลใจ และมอบเทคนิคต่างๆ ที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพไทย วันนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นผู้ที่ปลุกปั้นกระแสสตาร์ทอัพของประเทศไทยตั้งแต่ในช่วงแรกๆ จะอาสาพาไปเปิดมุมคิดที่ควรค่าแก่การนำไปปรับใช้ทั้งในการเริ่มต้นทำธุรกิจ การวางแผน รวมถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสตาร์ทอัพ

ที่ผ่านมามีการถ่ายทอดบทบาทสตาร์ทอัพผ่านสื่อภาพยนต์หรือซีรีส์ในหลายเรื่อง เช่น The Social network ที่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Facebook หรือในฝั่งของประเทศไทยก็เคยมีภาพยนตร์เรื่อง App War (2018) ที่เล่าเรื่องการแข่งขันระหว่าง 2 สตาร์ทอัพที่ทำแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และในปี 2020 กระแสสตาร์ทอัพถูกปลุกให้คึกคักอักครั้งด้วยซีรีส์ START-UP ของเกาหลี ซึ่งกระแสดังกล่าวทำให้คนทั่วไปเข้าใจและรู้จักการทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องถูกราวถูกถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่าย ผ่านตัวละครหลักอย่าง นัมโดซาน ซอดัลมี ฮันจีพยอง โดยบทบาทของทั้ง 3 คน สะท้อนบุคลิกของผู้เล่นในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีทั้งคนเก่ง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มีความตั้งใจ นักธุรกิจที่มีแผนที่ชัดเจนในการดำเนินงาน รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความฝันแต่ยังขาดการแต่งแต้มเติมเต็มให้เป็นสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์แบบ

· นัมโดซาน Cofounder และ CTO (Chief Technology Officer) ของบริษัท ซัมซานเทค ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ก่อตั้งโดยนัมโดซานและเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งทั้ง 3 คนมีความสามารถและถนัดด้านการเขียนโปรแกรม รวมทั้งการพัฒนาระบบ AI เป็นอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ซัมซานเทคยังขาดคือกระบวนการคิด และโมเดลธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าให้กับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เขามีอยู่ ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีนักลงทุนสนใจจะเข้ามาลงทุนกับซัมซานเทคเลยแม้แต่คนเดียวส่งผลให้บริษัทซัมซานเทคไม่สามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาได้เลยในช่วงแรก

· ซอดัลมี CEO (Chief Executive Officer) บริษัท ซัมซานเทค เข้าสู่วงการสตาร์ทอัพได้จากการที่อยากเอาชนะพี่สาว และอยากทำธุรกิจร่วมกับนัมโดซาน ซอดัลมี ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจเลย แต่เป็นคนฉลาดและมีหัวด้านธุรกิจอยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงวัยเด็กเธออยู่กับพ่อที่อยากเป็นสตาร์ทอัพ ดังนั้น ซอดัลมีจึงใช้ความปรารถนาอันแรงกล้าของเธอศึกษาการทำธุรกิจจากหนังสือมากมาย จนสุดท้ายเธอถูกจ้างให้เป็น CEO ของบริษัท ซัมซานเทค โดยบทบาทของ CEO คือการขับเคลื่อนซัมซานเทค รวมทั้งช่วยตัดสินใจ และแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น

· ฮันจีพยอง Angel Investor หรือ นักลงทุนที่ให้คำแนะนำทางธุรกิจและสนับสนุนเงินทุนให้สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น รวมถึงมองหาธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะสามารถทำกำไรให้กับบริษัทของเขาได้เท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าต่อให้นวัตกรรมดีแค่ไหน แต่ขาดโมเดลธุรกิจที่ดีนวัตกรรมนั้นก็ไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้ลงทุนได้ สิ่งที่ฮันจีพยองกำลังจะบอกก็คือ การที่จะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพหากคุณมีแค่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยอีกหลายองค์ประกอบเพื่อนำพาให้ก้าวสู่การเติบโตจนประสบความสำเร็จทั้งทีมงาน จังหวะเวลา รูปแบบธุรกิจ และเงินลงทุน

ดร.พันธุ์อาจ เล่าต่อว่า เกาหลีใต้สามารถปั้นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้มากถึง 11 ราย (สตาร์ทอัพที่มีการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) คือการส่งเสริมจากทางภาครัฐ โดยในซีรีส์ใช้ “SandBox” เป็นพื้นที่ถ่ายทอดแนวคิดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และการสนับสนุนสตาร์ทอัพของรัฐบาล เป็นเสมือนศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ มีการอบรมสร้างโมเดลธุรกิจ ค้นหา CEO และให้ทุนสำหรับก่อตั้งบริษัท และจ้างพนักงานจนกว่าธุรกิจจะสามารถระดมทุนหรือสร้างรายได้เองได้ รวมทั้งเป็นศูนย์ที่จะสร้างเครือข่ายให้แก่สตาร์ทอัพ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพแบบครบวงจร เพราะนอกจากจะให้คำปรึกษาแล้วยังจะได้พื้นที่สำหรับเป็นออฟฟิศด้วย รวมทั้งได้รวบรวมบริษัทด้านการลงทุนเข้ามาไว้ใน Sandbox ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการผลักดัน อำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายจากภาคธุรกิจเอกชน นอกเหนือไปจากการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้สตาร์ทอัพมากที่สุด

“นอกเหนือจากแนวคิดการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างชัดเจนของเกาหลีใต้ที่ถูกถ่ายทอดผ่านซีรีส์ “START-UP” ยังแสดงให้เห็นอีกว่าเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการสร้างสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี AI ที่ในอนาคตระบบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในบริบททางเศรษฐกิจและสังคมไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม การให้บริการผู้พิการ การลดปัญหาอาชญากรรม รวมถึงการใช้ระบบ AI ในสถาบันการเงิน และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี ประเทศเกาหลีใต้ยังได้แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่านับจากนี้ต่อไปประเทศนี้จะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนระบบการทำงานด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ และกำลังจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการผลิตสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์นได้มากที่สุด อีกทั้ง ยังเป็นบทพิสูจน์ว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นผู้นำในการส่งออกวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรืออุตสาหกรรมบันเทิงที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกทั้งรายการทีวี ซีรีส์ และดนตรี ทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามของภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้าง “Soft power” โดยแนวคิดนี้ได้สร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้กว่า 95.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก : Korea Creative Content Agency-content industry statistic survey 2017) ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศไทยมากถึง 1.65 เท่า (ข้อมูลจาก: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปี 2017 ) และครั้งนี้ก็เช่นเดียวการผลิตซีรีส์ START-UP ของเกาหลีใต้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีกำลังต้องการจะบอกว่าประเทศเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการสร้างคนรุ่นใหม่ในประเทศ รวมไปถึงการสร้างสตาร์อัพสายเทคโนโลยี”

ท้ายที่สุด หากมองกลับมาที่ประเทศไทยนั้น ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในสายเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในภารกิจของ NIA ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับซีรีส์แล้ว NIA เปรียบเสมือนเป็น “SandBox” ของธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ที่สร้างโอกาสและพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้เข้ามาแชร์ไอเดีย ทดลองทำนวัตกรรม ให้คำแนะนำในการสร้างโมเดลธุรกิจ รวมทั้ง การสนับสนุนด้านเครือข่าย และเงินทุน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทยก็มีความสามารถไม่แพ้สตาร์ทอัพชาติอื่นทั้งด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพียงแค่ต้องแต่งเติมเสริมในบางมุม เช่น รูปแบบการขยายผลทางธุรกิจ และการต่อยอดในระดับสากล จะเห็นได้ว่าการวางแผนที่ดีเปรียบเสมือนฐานบ้านที่มั่นคง และเป็นเข็มทิศนำทางให้ไปสู่จุดหมายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะมีประสบการณ์หรือเก๋าเกมขนาดไหนทุกธุรกิจล้วนจำเป็นต้องพึ่งแผนที่ดีแทบทั้งสิ้น

###

**หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ

ขอบคุณภาพประกอบบทความจากเพจFacebook @tvNDrama

Tagged