“รศ.ดร.วิลาสินี” ขึ้นเวทีแชร์ประสบการณ์ “อนาคตสื่อยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล”

ข่าวประชาสัมพันธ์ทีวี ธุรกิจและการพัฒนา

“รศ.ดร.วิลาสินี” ขึ้นเวทีแชร์ประสบการณ์ “อนาคตสื่อยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” นำไทยพีบีเอส บุกตลาด OTT สู่ฮับผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทย

“รศ.ดร.วิลาสินี” ขึ้นเวทีแชร์ประสบการณ์ผ่านออนไลน์ร่วมกับองค์กรสื่อสาธารณะนานาชาติ “อนาคตสื่อยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” ไทยพีบีเอส พร้อมยกระดับ Digital First ขับเคลื่อนองค์กรสื่อแห่งอนาคต เชื่อมโยงการทำงานเป็นหนึ่งเดียวด้วย One Thai PBS บุกตลาด OTT สู่ฮับผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 สถานีโทรทัศน์พับบลิก เทเลวิชัน เซอร์วิส (PTS) สื่อสาธารณะแห่งไต้หวัน จัดงาน PTS 2023 International Symposium ในหัวข้อ Shaping Our Future : PSM Digital Transformation & Governance ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติไทเป (TICC) โดย รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้รับเชิญ เป็นวิทยากรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของไทยพีบีเอสผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมี Phil Hardman , SVP & GM, Asia, BBC Studios Dr. Sunwook CHOI, Chief Strategy Officer, สถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลี Kristian Porter, CEO, Public Media Alliance (PMA) และ UDONO Ryo,Senior Producer, Content Programming & Distribution Center, สถานีโทรทัศน์ NHK และ Kathrin Ruther, Projektleiterin, Schweizer Radio und Fernsehen (SRF) เข้าร่วม

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า เนื่องจากภูมิทัศน์ของสื่อ และพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตที่กว้างขึ้น การก้าวไปสู่สื่อดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้จากการเติบโตของตลาด OTT (Over the Top) ในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า ผู้ใช้บริการ OTT ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 577,000 ราย สู่จุดสูงสุดไว้ที่ 21,782,000 ราย ในปี 2567 ครอบคลุม 32% ของประชากรไทยและ 72%
ของครัวเรือนไทย คาดการณ์ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Z ประมาณ 80% ดูวิดีโอตามความต้องการหรือไม่ดูทีวีเลย

รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Thai PBS เป็นสื่อสาธารณะหลายแพลตฟอร์ม โดยมีช่องหมายเลข 3 เป็นช่องหลัก, ALTV เป็นช่องเพื่อการศึกษา, Thai PBS Podcast เป็นบริการภาพและเสียง, Thai PBS World เป็นช่องที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ และ VIPA ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT นอกจากนี้ยังเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาข่าวสาร ความรู้ ผ่านช่องทางสื่อดิจิทัล ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ Tiktok ฯลฯ

ไทยพีบีเอส มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Digital First เชื่อมโยงองค์กรให้ทุกส่วนงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยการพัฒนาระบบการทำงาน ทั้งการออกแบบและพัฒนาเนื้อหา พร้อมให้การทำงานในองค์กรเชื่อมต่อกันเป็น One Thai PBS และไม่เป็นเพียงผู้ผลิตเนื้อหาเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับผู้ใช้สื่อ โดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตเนื้อหา 100% เป็นศูนย์กลางผู้ให้บริการเนื้อหาในประเทศไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับผู้สร้างเนื้อหา รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวว่า เป้าหมายภายใน 3 ปี จากนี้ไทยพีบีเอสต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทั้ง 3 ด้านนี้

1. Value-Based Performanceคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักด้วยการดำเนินการที่คุ้มค่าสูงสุด

2. เป็นสื่อที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

3. รวมบริการทั้งหมดของไทยพีบีเอสเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้

โดยมีแผนลงทุนและการจัดสรรงบประมาณที่จะเน้นบริการดิจิทัลผ่าน Linear TV เพิ่มการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล มากกว่า 50% ผ่านแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัล และตั้งเป้าที่จะบรรลุรายได้มากกว่า 20% ที่มาจากการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุน “ในฐานะสื่อสาธารณะ เราต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงวางแผนที่จะรวมแพลตฟอร์มทั้งหมดเป็น ONE Thai PBS เพื่อแบ่งปันทรัพยากรและข้อมูลเชิงลึกของผู้ชม รองรับความต้องการของคนทุกรุ่นและทุกกลุ่ม”รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว

Tagged