OTT TV กับการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพลงในสถานการณ์ Covid-19

กสทช. บทความพิเศษ

โดย นางสาวเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์
สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์


อุตสาหกรรมเพลงกับความสำคัญของคอนเสิร์ต14 (Live Concert) และผลกระทบจากภาวะ Covid-19

จากผลของการปฏิวัติทางดิจิทัล (Digital Evolution) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ฟังเพลงไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ จากเดิมที่การฟังเพลงจะท าได้อย่างจ ากัดเพียงไม่กี่วิธี เช่น รอฟังเพลงที่ต้องการผ่านการออกอากาศทางคลื่นวิทยุหรือรายการเพลงทางโทรทัศน์ หรือซื้ออัลบั้มเพลงในรูปแบบต่างๆมาฟังผ่านเครื่องเล่น ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นการรับฟังเพลงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่สามารถเลือกฟังที่ไหนก็ได้เวลาใดก็ได้ และสามารถเลือกฟังหรือรับชมเพลงที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วทันใจ ในราคาที่ถูกลงกว่าการซื้ออัลบั้มเพลงในสมัยก่อนมาก นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังท าให้การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงท าได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของผู้ประกอบการและศิลปินในอุตสาหกรรมเพลงอย่างมาก การจัดการแสดงคอนเสิร์ต(Live Concert) จึงกลายมาเป็นช่องทางใหม่ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อรายได้ของอุตสาหกรรมเพลงในระยะหลัง เนื่องจากคอนเสิร์ตมีลักษณะพิเศษที่สื่อดิจิทัลไม่สามารถทดแทนได้ นั่นคือ ประสบการณ์การรับชมดนตรีแบบตรงหน้า (Face-to-Face Experience) ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์(Interaction) กับศิลปินและแฟนเพลงที่ไปรวมตัวกันในเวลาและสถานที่เดียวกัน

แต่เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Corona Virus Disease 2019 หรือ Covid-19) ท าให้การรวมตัวกันของคนจ านวนมากในสถานที่เดียวกันกลายเป็นความเสี่ยง ท าให้ทั่วโลกมี
ความจำเป็นต้องงดการจัดแสดงคอนเสิร์ตในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การแสดงในงานเล็ก ไปจนถึงการแสดงในสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การจัดเทศกาลดนตรี (Music Festival) ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อรายได้ของอุตสาหกรรมดนตรีและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

OTT TV: ทางเลือกใหม่ในช่วงภาวะ Covid-19

การจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบออนไลน์ (Live Virtual Concert) โดยใช้การถ่ายทอดสดการ แสดงแพลตฟอร์ม OTT TV ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต นับเป็นกลยุทธ์การปรับตัวที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมเพลง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดคอนเสิร์ตที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ Covid-19 โดยตรงซึ่งการจัดแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบออนไลน์นี้ ถูกจัดขึ้นโดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง มีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย อย่างไรก็ดี หากแบ่งคอนเสิร์ตออนไลน์

14 “คอนเสิร์ต” ในบทวิเคราะห์นี้ หมายรวมถึง การแสดงดนตรีสดในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การแสดงดนตรีสดในสถานที่จัดขนาดเล็ก เช่น การแสดงดนตรีในร้านอาหาร ไปจนถึงการแสดงดนตรีสดในสถานที่จัดแสดงขนาดใหญ่ และการแสดงดนตรีสดในเทศกาลดนตรี (Music Festival) ต่างๆ โดยเน้นไปที่ดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) เป็นส าคัญ

ตามรูปแบบการเข้าชม จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

ได้แก่ แบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและแบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

1. คอนเสิร์ตออนไลน์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

คอนเสิร์ตออนไลน์รูปแบบนี้ ผู้ชมสามารถเข้าชมได้ทันที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสิทธิ์ในการเข้าชม ทั้งนี้ คอนเสิร์ตออนไลน์รูปแบบนี้มักเป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ศิลปินหรือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้ฟังเพลง ในช่วงระหว่างที่ไม่สามารถจัดการแสดงคอนเสิร์ตแบบปกติได้หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการกุศลหรือการระดมทุนต่างๆ ผ่านระบบการบริจาค ดังนั้น แพลตฟอร์มOTT TV ที่ถูกน ามาใช้ในการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ จึงมักจะเป็นแพลตฟอร์ม OTT TV ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุดและง่ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่สามารถใช้ถ่ายทอดสดได้ เช่น Facebook และ Instagram หรือแพลตฟอร์ม OTT TV โดยเฉพาะที่ได้รับความนิยมสูง เช่น YouTube เป็นต้น

ตัวอย่างคอนเสิร์ตในรูปแบบนี้ เช่น “At Home Festival” เทศกาลดนตรีที่จัดโดยชุมชน ดนตรีสัญชาติไทยอย่าง “ฟังใจ” ที่เปิดให้ชมฟรีผ่านทาง Facebook และ YouTube ของฟังใจ และผู้ชม สามารถโอนเงินสนับสนุนให้กับศิลปินได้ทันที ผ่านทางรายละเอียดบัญชีที่ปรากฏบนหน้าจอ หรือ “ตลาดใจ” คอนเสิร์ตรวมศิลปินไทยที่ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook และ YouTube ของโครงการ “ก้าว” เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ในช่วงภาวะ Covid-19 ในประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ริเริ่มโดยแพลตฟอร์ม OTT TV เองอีกด้วย เช่น “Tiktok Stage Live from Seoul” ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปินจากประเทศเกาหลีใต้ที่จัดโดยแพลตฟอร์ม OTT TV อย่าง Tiktok เพื่อระดมทุนช่วยเหลือสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศเกาหลีใต้ โดยผู้ชมสามารถรับชมได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชัน Tiktok และสามารถบริจาคเงินผ่านช่องทางต่างๆ ได้ เป็นต้น

2.คอนเสิร์ตออนไลน์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

 คอนเสิร์ตออนไลน์ในรูปแบบนี้ ผู้ชมจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อสิทธิ์ในการเข้าชมก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงการถ่ายทอดสดได้ คอนเสิร์ตรูปแบบนี้มักจะมีการเตรียมการจัดงานที่ค่อนข้างจริงจัง กล่าวคือ มีการจัดเวที แสงสีเสียง และองค์ประกอบต่างๆ เหมือนการจัดการแสดงในรูปแบบออฟไลน์ ทุกประการ รวมทั้งอาจจะมีลูกเล่นต่างๆ เพิ่มเติมที่อาศัยประโยชน์จากการถ่ายทอดสดให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่าการเสียเงินเพื่อดูคอนเสิร์ตออนไลน์นั้นคุ้มค่าที่จะจ่าย

คอนเสิร์ตรูปแบบนี้มักมีการหารายได้แบบการจ่ายเป็นรายครั้ง (Transaction VDO on Demand: TVoD) กล่าวคือ ผู้ชมจ่ายเงินซื้อสิทธิ์การรับชมเป็นรายครั้งไปเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงการถ่ายทอดสดนั้นๆ แพลตฟอร์ม OTT TV ที่ถูกนำมาใช้กับการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์รูปแบบนี้จึงมักเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถจำกัดการเข้าถึงของผู้ชมได้ง่ายขึ้นผ่านฟีเจอร์ (Features) ต่างๆ เช่น V Live App ที่สามารถกำหนดให้ผู้เข้าถึงเนื้อหาต้องซื้อเหรียญ (Coins) ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาได้ หรือ แอปพลิเคชันที่ใช้ในการประชุมออนไลน์ (Virtual Meeting) อย่าง Zoom ที่สามารถกำหนดเลือกเฉพาะผู้ใช้งานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะเข้ามาร่วมรับชมได้ หรือแม้แต่การสร้างแพลตฟอร์มของตนเองขึ้นมา เช่น WeVerse ที่เป็นแพลตฟอร์มเฉพาะของ Big Hit Entertainment ค่ายเพลงจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

เทคโนโลยีกับการลบจุดอ่อนและสร้างจุดแข็งด้านประสบการณ์การรับชม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์สำคัญของการชมคอนเสิร์ตแบบปกติคือประสบการณ์ร่วมตรงหน้าในการรับชม ซึ่งเป็นสิ่งที่การรับชมคอนเสิร์ตแบบออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ อย่างไรก็ดี ผู้จัดคอนเสิร์ตหลายรายก็พยายามยิ่งในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมแบบเสมือนจริง เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสจากการชมคอนเสิร์ตให้ได้ใกล้เคียงกับการชมคอนเสิร์ตแบบปกติให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังพยายามใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์วิธีการสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่การรับชมคอนเสิร์ตแบบปกติไม่อาจสามารถทำได้มาเพิ่มเติมด้วย โดยอาศัยคุณสมบัติเฉพาะของการรับชมคอนเสิร์ตผ่านช่องทาง OTT TV เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น

1.การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ต

 การมีปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างผู้คนในคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นระหว่างศิลปินกับผู้ชม หรือในหมู่ผู้ชมด้วยกัน นับเป็นเสน่ห์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการรับชมคอนเสิร์ต อย่างไรก็ดี แม้ว่าคอนเสิร์ตออนไลน์จะไม่สามารถสร้างประสบการณ์แบบต่อหน้า (Face-to-Face Experience) ให้แก่ผู้เข้าร่วมได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้ในบางรูปแบบ ตั้งแต่รูปแบบพื้นฐานที่สุดคือการเปิดให้มีห้องสนทนา (Chat Box) ระหว่างการรับชม ซึ่งผู้ชมสามารถสื่อสารพูดคุยกันในห้องสนทนาดังกล่าวได้ และยังสื่อสารกับศิลปินที่กำลังทำการแสดงอยู่ได้อีกด้วย ไปจนถึงการผนวก Virtual Meeting เข้ากับการแสดงคอนเสิร์ต ที่ทำให้ผู้ชมและศิลปินไม่เพียงแต่ได้พูดคุยกันได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเจอหน้ากันผ่านทางหน้าจอได้อีกด้วย

           2. การเลือกเปลี่ยนมุมมองตามต้องการ

 อีกหนึ่งประสบการณ์ที่แตกต่างระหว่างการรับชมคอนเสิร์ต ณ สถานที่จัดแสดง กับการรับชมคอนเสิร์ตผ่านหน้าจอในรูปแบบเก่าคือ อำนาจในการเลือกที่จะเพ่งความสนใจไปที่จุดใดจุดหนึ่งบนเวทีของผู้ชม เนื่องจากการรับชมคอนเสิร์ตผ่านทางหน้าจอโดยทั่วไป ผู้ชมจะถูกจำกัดมุมมองให้เป็นไปตามที่ผู้ถ่ายทอดสดเลือกมาเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้ากล้องไม่ถ่าย ผู้ชมก็ไม่สามารถเห็นมุมมองดังกล่าวได้ ในขณะที่ผู้ชมที่เข้าชมคอนเสิร์ต ณ สถานที่จัดแสดง จะมีอิสระในการเลือกที่จะเพ่งความสนใจไปที่จุดใดก็ได้ตามต้องการ

ถึงแม้การถ่ายทอดสดแบบออนไลน์ ผ่าน OTT TV และระบบอินเทอร์เน็ต จะไม่สามารถให้อิสระผู้ชมในการเลือกมุมมองได้อย่างเต็มร้อยเหมือนกับการเข้าชมคอนเสิร์ตแบบปกติ แต่ก็มีผู้จัดคอนเสิร์ตบางรายที่พยายามใช้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของ OTT TV และระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องออกอากาศได้เพียงจอเดียวเท่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการตั้งกล้องถ่ายทอดสดจากหลายมุมมอง และให้ผู้ชมที่บ้านสามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะรับชมคอนเสิร์ตจากมุมมองใด เช่น Golden Wave Concert ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปินเกาหลีที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์ม OTT TV อย่าง V Live App ที่ผู้ชมสามารถเลือกชมคอนเสิร์ตจากมุมกล้องที่แตกต่างกันได้ถึง 8 มุมมองด้วยกัน  หรือในบางคอนเสิร์ตที่ถึงแม้ผู้ชมจะไม่สามารถเลือกสลับจอได้ด้วยตนเอง แต่ก็มีการนำเอาระบบหลายมุมมอง (Multiview) หรือการนำเอาภาพจากหลายมุมกล้องมาออกอากาศพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถเห็นภาพจากมุมมองต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน เช่น คอนเสิร์ต Super Junior Beyond Live ที่ผู้ชมสามารถชมหลายมุมมองได้พร้อมกัน เป็นต้น

3 . การสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่คอนเสิร์ตปกติไม่สามารถทำได้

เนื่องจากคอนเสิร์ตออนไลน์เหล่านี้ ถูกถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์ม OTT TV ทำให้มีคอนเสิร์ตออนไลน์หลายคอนเสิร์ตนำเอาเทคโนโลยีสำหรับการรับชมสื่อผ่านทางหน้าจอใหม่ๆ  มาสร้างสรรค์และปรับใช้เป็นวิธีการสร้างความบันเทิงแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และการใช้กราฟิก 3D มาผสมเข้ากับการแสดงคอนเสิร์ต เพื่อสร้างองค์ประกอบเพิ่มเติมต่างๆ เพื่อให้ได้อรรถรสใหม่ๆ ในการรับชม ซึ่งความบันเทิงแบบนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรงในการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติ

นอกจากนี้ เนื่องจากการรับชมคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ในคอนเสิร์ตออนไลน์หลายครั้งจึงมีการผนวกเทคโนโลยีด้านภาพ เช่น การทำกราฟิก 3เข้ามาใช้ในการสร้างบทบรรยายแบบเรียลไทม์  (Real-time Subtitle) ซึ่งถึงแม้ว่าความเร็วในการแปลจะมีการเหลื่อมเวลาออกไปเล็กน้อยหรืออาจไม่ถูกต้องครบถ้วนนัก อันเป็นผลมาจากการแปลและพิมพ์ขึ้นจอทันที ณ ขณะนั้น แต่ก็นับว่าเป็นความพยายามหนึ่งของผู้จัดคอนเสิร์ต เพื่อให้ผู้ชมที่มาจากหลากหลายพื้นที่ของโลกสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงในคอนเสิร์ตได้มากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการรับชมคอนเสิร์ตแบบปกติ

คอนเสิร์ตออนไลน์กับการต่อยอดในอนาคต

แม้ว่าเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านหน้าจอจะสามารถเติมเต็มประสบการณ์บางอย่างที่ผู้ชมขาดหายไปจากการเข้าชมการแสดงคอนเสิร์ตแบบปกติ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการเข้าชมการแสดงคอนเสิร์ตแบบปกติได้อย่างครบถ้วนเต็มร้อย แต่อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตผ่านแพลตฟอร์ม OTT TV ที่ผ่านมา อันเกิดจากความจำเป็นในช่วงภาวะ Covid-19 ก็แสดงให้เห็นว่า OTT TV เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการสร้างประสบการณ์การรับชมคอนเสิร์ตแก่ผู้ชมและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่แพลตฟอร์ม OTT TV มีคุณสมบัติในการเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก ทั้งยังสามารถรองรับจำนวนผู้ชมได้มากกว่าการแสดงดนตรีแบบปกติที่จำนวนผู้ชมอาจถูกจำกัดด้วยความจุของสถานที่จัดแสดง ขอบเขตของผู้ชมจึงขยายออกไปได้กว้างขวางขึ้น ส่งผลต่อยอดขายบัตรเข้าชม รวมถึงมอบความสะดวกสบายให้กับผู้ชม ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ชมที่ไม่สะดวกเดินทางมารับชมตามวัน เวลา และสถานที่ที่มีกำหนดจัดการแสดง

ในประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีผู้ประกอบการที่มีการเริ่มจัดแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบผสม (Hybrid Concert) กล่าวคือ เป็นคอนเสิร์ตที่มีทั้งการจำหน่ายบัตรเข้าชมในสถานที่จริง และมีการจำหน่ายบัตรเข้าชมในรูปแบบออนไลน์ไปควบคู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ชมและยังเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจับตามองว่า จะสามารถกลายเป็นรูปแบบการเข้าชมคอนเสิร์ตแบบใหม่ในอนาคตได้อย่างถาวรหรือไม่

บทสรุป

 ในช่วงภาวะ Covid-19 ที่การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กลายเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและพฤติกรรมผู้บริโภคในการรับฟังเพลงแล้ว ยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นโอกาสของธุรกิจต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผู้คนในอุตสาหกรรมเพลงสามารถปรับตัวและมีรายได้เข้ามาทดแทนการจัดคอนเสิร์ตแบบปกติแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ OTT TV ทั้งในแง่ของรายได้ การจัดหาเนื้อหา และการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ให้กับแพลตฟอร์มของตนเองได้อีกด้วย นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านของผู้จัดคอนเสิร์ต เจ้าของแพลตฟอร์ม OTT TV และผู้ชมในช่วงภาวะ Covid-19 นี้


[1] “คอนเสิร์ต” ในบทวิเคราะห์นี้ หมายรวมถึง การแสดงดนตรีสดในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การแสดงดนตรีสดในสถานที่จัดขนาดเล็ก เช่น การแสดงดนตรีในร้านอาหาร ไปจนถึงการแสดงดนตรีสดในสถานที่จัดแสดงขนาดใหญ่ และการแสดงดนตรีสดในเทศกาลดนตรี (Music Festival) ต่างๆ โดยเน้นไปที่ดนตรีสมัยนิยม (Popular Music) เป็นสำคัญ

[2] ที่มา: https://www.fungjaizine.com/article/live_review/at-home-festival

[3] ที่มา: https://music.trueid.net/detail/z39QMQdLKZZ3

[4] ที่มา: https://www.vlive.tv/product/ds00u00u00000208

[5] ที่มา: https://www.fungjaizine.com/article/live_review/stamp-birthday-live

[6] ที่มา: https://www.vlive.tv/product/ds00u00u00000206

[7] ที่มา: https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1928596/super-junior-leaves-them-wanting-more

[8] ที่มา: https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1928596/super-junior-leaves-them-wanting-more

[9] ที่มา: https://www.smentertainment.com/PressCenter/Details/4404

[10] ที่มา: https://www.bandwagon.asia/articles/4-highlights-from-dream-concert-s-connect-d-online-show-featuring-red-velvet-mamamoo-exo-sc-and-more

Tagged