เรื่องนี้ต้องขยาย Swith On By พันตา

Movement

@@@ เหมือนเล่นขายของ !! เมื่อกสทช.โดนข้อกล่าวหา “ล็อคสเปค” ในการจัดหาผู้ทำเรตติ้งรายใหม่  พร้อมเม็ดเงินสนับสนุนก้อนโต 431 ล้านบาท  โดยผู้กล่าวหาคือช่องที่มีเรตติ้งอันดับ 1 คือช่อง 7 ที่ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง  แถมมีกระแสโจมตีที่ว่า กสทช.ไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องเรตติ้ง  กสทช. ก็แสดงความเป็นเสือปืนไว ด้วยการรีบยกเลิกประกาศเจ้าปัญหาฉบับเดิม พร้อมร่างฉบับใหม่ ที่เกิดแบบรวดเร็วทันใจ  ตัดเงื่อนไขที่เป็นข้อปัญหาคือตัด “องค์กรกลางอายุ 3 ปี” ออกไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ ที่เปิดกว้างมาก ถึง มากที่สุด  แต่ถ้ารอบคอบไวกว่านี้ ก็คงไม่ต้องร้อนอกร้อนใจ http://www.nbtc.go.th/getattachment/law/law_noti/nbtc_notification/หลักเกณฑ์-วิธีการ-และเงื่อนไขการจัดสรรเงินในกา-(1)/ประกาศฯ.pdf.aspx

เรตติ้งใหม่ ความหวังที่ไกลเกินไป

@@@ เงื่อนไขใหม่ระบุให้ องค์กรกลางที่จะมาขอเงินกสทช.ทำเรตติ้งนั้น จะต้องมาจากการรวมตัวกันของทีวีดิจิทัลทุกช่อง ที่นับจากเดือนต.ค.เป็นต้นไปจะมีอยู่ทั้งหมด 19 ช่อง เป็นช่องเอกชน 15 ช่อง และช่องสาธารณะอีก 4 ช่อง  ใครจะไม่มาร่วมต้องมีเหตุผลชี้แจง อีกทั้งเปิดช่วงเวลายาวนานถึง 1 ปี เพื่อรับข้อเสนอ ยังไม่รวมระยะเวลาพิจารณาให้เงินสนับสนุน อ่านแล้วตีความหมายง่ายๆ เหมือนกสทช.หาทางลงไม่ให้เจ็บตัว ซื้อเวลากันไป  ว่าแต่ว่าใครจะเป็นคนจัดระเบียบให้ปูทั้ง 19 ตัวอยู่ในกระด้งอย่างมีระเบียบล่ะ …..ไม่อยากจะคิด

@@@ คนจัดระเบียบให้ปูทั้ง 19 ตัวอยู่ในกระด้ง แค่คิดเบื้องต้น ก็แทบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อเสียแล้ว  การจะทำให้ทุกช่องมาร่วมมือกันคิดไปในแนวทางเดียวกัน  จุดสมดุลย์แห่งความพอดีในโลกวิทยาศาสตร์  คงไม่ยากที่จะหาสูตรคำนวณ  แต่จุดสมดุลย์แห่งความพอดีในการคัดเลือกผู้จัดจัดทำเรตติ้ง เค้าลางแห่งความวุ่นวายและไปได้ไม่สุดทาง ปรากฏให้เห็นจากประสบการณ์เดิมเมื่อปี 2558 ที่เกิดกรณีเสียงแตก และตามมาด้วย “วงแตก”  ย้อนมามองหน่วยงานในวงการทีวีในวันนี้  ที่เป็นเสมือนแกนกลางในการดำเนินงานเรื่องต่าง ๆ  ก็มีเพียงแค่ 2 หน่วยงาน  รายแรกอยู่คู่วงการทีวีไทยมาช้านาน  “ทีวีพูล” หรือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกหลักคือกลุ่มช่องในยุคแอนะล็อค ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 โมเดิร์น 9 ช่อง 11 และอีกหน่วยงานคือ สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลใหม่  ที่ผ่านมาก็ไม่มีบทบาทที่แข็งแรงอะไรมากมายนัก การยอมรับและความร่วมมือก็ยังไม่ได้มาจากทุกช่อง ดูทรงนี้ ครบปีหน้า ก็คงจะจบ แต่จะจบแบบมีข้อสรุป หรือ “จบกัน” เรา ท่าน ต้องติดตาม 1 ปี มี 12 เดือน ไม่นานเกินรอหรอกน่า

@@@ ย้ำเตือนอีกนิด ประกาศกสทช.ฉบับนี้เกิดขึ้นจากคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ที่มีการระบุว่า หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ให้อำนาจเลขาฯกสทช.ตัดสิน แต่ ครบ 1 ปีหน้า ตามประกาศฉบับนี้ เลขาฯกสทช.  ท่าจะไม่ใช่คนชื่อ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาคนปัจจุบัน เพราะท่านจะเกษียณอายุในวันที่ 10 ก.ย.ปีหน้าแล้วจ้า

ต่อยอด BNK 48 จะเป็นอะไร

@@@ แม้ว่าบริษัทร่วมทุนระหว่าง BNK 48 กับเวิร์คพอยท์ ปิดบริษัทไปอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมตัวเลขขาดทุน 5.97 ล้านบาท  การร่วมมือกันทำธุรกิจและผลิตรายการ   ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ต้องถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านเรตติ้งและรายได้  ก็เพราะว่า  ถ้าทำแล้วดี ทำแล้วดัง  ก็คงจะไม่แยกทางกันแบบนี้  แต่ถ้าหันมามองที่ตัวเลขผลประกอบการบริษัท   บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ ยังสวยหรู เปิดบริษัทมา 2 ปี ขาดทุนในปีแรก 22.30 ล้านบาท  แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะในปีที่ 2 กวาดกำไรไปถึง 146.85 ล้านบาท

บริษัท บีเอ็นเค โปรดักชั่น (บริษัทร่วมทุน เวิร์คพอยท์ 50% และ บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ 49.99%)

จดทะเบียน 11 มิ.ย.2561

เลิกกิจการ 17 มิ.ย.2562

 

ผลประกอบการ ปี 2561

รายได้  16.54 ล้านบาท
ขาดทุน -5.97 ล้านบาท

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ผลประกอบการบริษัท บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ

ปี 2560 2561
รายได้รวม 40.55 673.30
กำไร (ขาดทุน) – 22.30 146.85

ที่มา :  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

@@@ ตัวเลขกำไรงามขนาดนี้  บริษัท BNK 48 ออฟฟิศ จึงเดินหน้าคิดค้นโปรเจคท์ใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงแผนการหวนกลับคืนช่องทีวี ที่แว่วมาว่า น่าจะมีเหยื่อรายใหม่ที่ไม่กลัวน้ำร้อนมาอ้าปากรอฮุบเบ็ดแล้ว  หวยงวดใหม่ จะไปออกกับช่องไหน แล้วจะลงเอยแบบเดียวกับกรณีเวิร์คพอยท์ไหม น่าติดตาม  ว่าแต่ว่าช่องใหม่ที่จะอ้าแขนรับ จะไม่ถาม “พี่ตา ปัญญา” สักนิดเหรอจ๊ะว่า สุข ทุกข์อย่างไร

ลิขสิทธิ์โอลิมปิก โตเกียว 2020 ทางรวยหรือทางล่ม 

@@@ ปัญหาน่าปวดหัวของลิขสิทธิ์กีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ครั้งนี้ บริษัท แพลนบี  ตั้งความหวัง วาดความฝันเอาไว้สวยหรู สูงส่ง  ด้วยการกวาดกำไรเป็นกอบเป็นกำ  จากการหาผู้ร่วมดำเนินการจากช่องทีวีดิจิทัลให้ได้อย่างน้อย 4  ช่อง   แต่กลายเป็นว่าฝันค้างเติ่ง แปรผันจนฝันแทบสลาย  ต้องรีบกลืนน้ำลาย ปรับกระบวนท่าด้วยการเลยวิ่งหาหน่วยงานรัฐ ขอเงินสนับสนุน ต้องวิ่งกันให้ขาขวิด บทเรียน บทนี้คงสอนให้ “แพลนบี” และหน่วยงานสนับสนุน ได้รู้ว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย เพราะทุกช่องต่างก็มีโอกาสเลือกทางเดินของตน โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้  คงต้องอาศัยสำนวน ”คุณคำรณ หว่างหวังศรี”คนทีวีรุ่นเก่า มาทิ้งท้ายว่า ไม่มีอะไรที่เบ็ดเสร็จ สำเร็จตามสูตร กันได้ง่ายดายหรอก…..นะ จะบอกให้”

@@@ แล้วช่องที่ตกปากรับคำจะร่วมมือตั้งตัวเป็นแม่ข่าย ถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิก 2020 อย่างช่องที่มีกีฬาเยอะ ๆ ช่องนั้น จะไม่เสียความรู้สึกบ้างเหรอ อุตส่าห์จัดทัพ เสริมกำลังคนไว้รอท่า แล้วงานหน้า ไปชวนเค้าร่วมมือ ลงขัน  เค้าจะกล้ามาร่วมมือด้วยไหม

Tagged