โฆษณาทีวีดิจิทัลเดือน ก.ค.2564 เพิ่มขึ้น 1.29 % มีแค่กลุ่มช่อง HD ช่องเดียวที่มีมูลค่าโฆษณาลดลง 4.45%

มูลค่าโฆษณา รายได้ทีวีดิจิทัล

ประมาณการมูลค่าตลาดโฆษณา ช่องทีวีดิจิทัล ประจำเดือน ก.ค. 2564 จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็น มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,157.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.29 % เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งมีมูลค่ารวม 5,091.65 ล้านบาท แต่ลดลง 76.33 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2564 ที่มีมูลค่ารวมที่ 5,233. 82 ล้านบาท โดยในช่วงเดือนก.ค.นี้ การระบาดไวรัสโควิดรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วประเทศ นอกจากนี้เดือนก.ค.นี้ยังมีรายการพิเศษ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว จาก 6 ช่องทีวีดิจิทัล ช่อง NBT ช่อง ThaiPBS ช่อง JKN18 ช่อง True4U ช่อง GMM25 และช่อง PPTV มีช่องที่มีประมาณการโฆษณา 5 ช่องยกเว้นช่อง ThaiPBS พบว่าส่วนใหญ่มีมูลค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น ยกเว้นช่อง True4U ที่มีมูลค่าโฆษณาลดลง

มูลค่าโฆษณาแบ่งตามหมวดธุรกิจ ตามใบอนุญาตของกสทช.พบว่า กลุ่มช่อง HD จำนวน 7 ช่องมีมูลค่าโฆษณาลดลงจาก 3,367.90 ล้านบาท ในเดือน ก.ค. 2563 มาอยู่ที่ 3,217.87 ล้านบาท ลดลง 4.45 % โดยกลุ่มช่องที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างโดดเด่นมี 3 ช่องได้แก่ PPTV ช่องอมรินทร์ทีวี และ ช่อง 9 โดยช่อง PPTV เพิ่มขึ้นมากที่สุด 37.76 % ช่องอมรินทร์ทีวี เพิ่มขึ้น 14.01% ช่อง 9 เพิ่มขึ้น 33.24% ส่วนช่อง One ลดลงมากที่สุด 15.00%

หมวดช่อง SD ซึ่งมีจำนวน 5 ช่อง มีมูลค่าโฆษณารวม 1,728.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.14% จากเดือน ก.ค. 2563 มูลค่า 1,541.08 ล้านบาท ช่องที่มีมูลค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นมี 3 ช่องได้แก่ ช่องGMM25 ช่อง Workpoint และช่อง Mono เพิ่มขึ้น 9.38% 6.61% และ 36.56% ตามลำดับ ส่วน ช่อง 8 ลดลง 36.56% ช่องTrue4U ลดลง 2.84%

ช่องข่าวมีทั้งหมด 3 ช่อง มีมูลค่ารวม 152.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.97 % จากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่มีมูลค่า 144.32 ล้านบาท โดยช่อง JKN18 และTNN มีมูลค่าโฆษณา เพิ่มขึ้น 81.61 % 12.03% ส่วนเนชั่นทีวี มีมูลค่าโฆษณาลดลง 16.53 %

สำหรับกลุ่มช่องสาธารณะ มีทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ช่อง 5 ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส แต่นับมูลค่าแค่เพียงช่อง 5 และช่อง NBT ที่มีโฆษณาได้ มูลค่าโฆษณาช่องสาธารณะโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น 52.5 % มีมูลค่าโฆษณารวม 58.48 ล้านบาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 38.35 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากช่อง NBT ที่ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก

มูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลเดือน ก.ค. 2564 แบบกลุ่มผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่

อย่างไรก็ตามหากแยกมูลค่าโฆษณาเป็น 2 กลุ่ม ผู้ประกอบการรายเก่า ช่องดั้งเดิม ประกอบด้วยช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และ ช่อง NBT และ 12 ช่องผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่วงการเมื่อมีทีวีดิจิทัล พบว่า สัดส่วนมูลค่าโฆษณาของกลุ่มผู้ประการรายใหม่ 12 ช่องมีมูลค่าสูงกว่าช่องดั้งเดิม และ มีอัตราการเติบโตของมูลค่าโฆษณาสูงกว่า โดยในเดือนนี้ กลุ่ม 5 ช่องเดิมมีมูลค่าโฆษณา 2,128.39บาท ลดลง 1.87% จากเดือน ก.ค.  ปี 63 ที่มีมูลค่ารวม 2,169.10ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของมูลค่าโฆษณาในกลุ่มช่องเดิมนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นโฆษณา 2 ช่องใหญ่ที่สุดที่กวาดมูลค่าโฆษณาสูงสุด ช่อง 3 และ ช่อง  7  ซึ่งช่อง 3 และช่อง 7 มีมูลค่าโฆษณามีสัดส่วนถึง58.04% และ 32.74%  โดยรวมสองช่องนี้มีมูลค่าโฆษณามีสัดส่วนถึง 90.76% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมดในกลุ่มนี้

ส่วน 12 ช่องใหม่มีมูลค่ารวม 3,029.09ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,922.95ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.64% ในส่วน 12 ช่องใหม่ช่อง ONE และช่อง MONO มีมูลค่าโฆษณามีสัดส่วนถึง 24.37 % และ 29.03% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมด สองช่องนี้มีมูลค่าโฆษณามีสัดส่วนถึง 53.41% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมดในกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก spot โฆษณาที่ออกอากาศในทีวีทุกช่อง ซึ่งยังไม่ได้รวมส่วนลด โปรโมชั่นต่าง ๆ ของแต่ละช่อง ซึ่งมูลค่าของรายได้จากโฆษณาจริงของแต่ละช่องจะลดลงมากกว่านี้ โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

Tagged