ตลาดโฆษณาทีวีดิจิตอลเดือน พ.ค. 5.7 พันล้าน โตแค่ 21 ลบ.

มูลค่าโฆษณา

ข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาของกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลเดือนพ.ค.ปี 2562 รวบรวมโดยนีลเส็น จาก 24 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีโฆษณาได้ ไม่รวมช่องไทยพีบีเอส และทีวีรัฐสภา พบว่า มีมูลค่ารวมทั้งหมด 5,729.80  ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.36% จากเดือนเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 5,709.21  ล้านบาท

เมื่อแยกมูลค่าโฆษณาตามกลุ่มช่องตามหมวดหมู่ของกสทช.พบว่า ในเดือนพ.ค.นี้ มูลค่าโฆษณารวมของ 7 ช่องในหมวดหมู่ช่อง SD เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้นเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่กลุ่มช่อง HD  ช่องข่าว ช่องเด็ก และช่องสาธารณะล้วนแต่มีมูลค่าโฆษณาลดลงทั้งหมด

ทั้งนี้มูลค่าโฆษณาทั้งหมดนี้ เป็นการประเมินมูลค่าจากราคาขายเต็มของแต่ละช่อง ไม่ได้รวมส่วนลดและโปรโมชั่นของแต่ละช่องแต่อย่างใด

โดยในกลุ่มช่อง SD วาไรตี้ 7 ช่อง มีมูลค่าโฆษณารวม 1,600.06  ล้านบาท สูงกว่าเดือนพ.ค..ของปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวม1,475.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.41% มูลค่าโฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้คือ ช่อง 8 เวิร์คพอยท์ โมโน  ช่อง 3SD จีเอ็มเอ็ม25 ทรูโฟร์ยู และสปริง 26 ตามลำดับ

ช่อง 3SD และสปริง 26 เป็น 2 ช่องในกลุ่มช่อง SD ที่แจ้งขอคืนใบอนุญาต ยกเลิกช่อง และขอเงินเยียวยาจากกสทช. โดยมีข้อสรุปล่าสุดว่า สปริง 26 จะได้เงินชดเชยมูลค่าราว 500 ล้านบาท และยุติการออกอากาศในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ส่วนช่อง 3 SD ยังไม่ได้ยื่นเอกสารชี้แจงกสทช.เพื่อขอเงินชดเชยมาที่กสทช.แต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะยุติการออกอากาศในราวเดือนก.ย.ปีนี้ โดยมูลค่าโฆษณาของทั้ง 2 ช่องในเดือนพ.ค.นี้ รวมกันมีมูลค่าประมาณ 184 ล้านบาท

ส่วนในกลุ่มช่อง HD ช่อง 3 และช่อง 7 ยังครองส่วนแบ่งมูลค่าโฆษณาของเดือน โดยรวม 2 ช่องมีมูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท รองลงมาเป็นช่อง 9 ช่องวัน ไทยรัฐทีวี  อมรินทร์ทีวี และ พีพีทีวี ตามลำดับ รวมมูลค่าทั้งหมด 3,618.8 ล้านบาท ลดลง 0.79% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ของปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่  3,647.98 ล้านบาท

กลุ่มช่องข่าว 6 ช่อง มีอัตราเติบโตลดลง 4.47% โดยมีมูลค่ารวม 188.13 ล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่ารวมที่ 196.95 ล้านบาท โดยช่องที่มีมูลค่าโฆษณาสูงสุดในกลุ่มนี้ เรียงตามลำดับ เป็นช่องเนชั่นทีวี ไบรท์ทีวี ทีเอ็นเอ็น สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี และนิวทีวี

กลุ่มช่องข่าว ได้แจ้งขอคืนช่องทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ช่อง สปริงนิวส์ ไบรท์ทีวี และวอยซ์ทีวี โดยทั้ง 3 ช่องนี้มีมูลค่าโฆษณาในเดือนพ.ค.นี้รวมกันอยู่ที่ 92.2 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มช่องเด็ก ที่มีอยู่ 2 ช่อง ทั้งช่อง 3 Family และ ช่อง MCOT Family ยังคงเป็นกลุ่มช่องที่มีมูลค่าโฆษณาลดลงต่อเนื่อง มีมูลค่ารวม 54.25 ล้านบาทเท่านั้น ลดลง 8.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวม 59.35 ล้านบาท  โดยที่ช่องเด็กทั้ง 2 ช่องนี้ แจ้งขอคืนใบอนุญาตหมด

กลุ่มช่องภาครัฐ ช่องสาธารณะที่มีโฆษณาได้ 2 ช่อง ทั้งช่อง 5 และช่อง NBT มีมูลค่าโฆษณารวม 268.55 ล้านบาท ลดลงถึง 18.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 329.13 ล้านบาท

รวมมูลค่าโฆษณาของ 7 ช่องที่แจ้งขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.จากทั้ง 3 กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลในเดือนพ.ค.แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 335 ล้านบาท น่าสนใจว่ามูลค่าโฆษณาในตลาดจะไปอยู่ที่ช่องไหน การจากไปของทั้ง 7 ช่องในปีนี้

Tagged