นับถอยหลัง เตรียมจอดำ “Spring 26” ผลงาน 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล

รายได้ทีวีดิจิทัล เรตติ้งช่อง

“Spring 26 ” หนึ่งใน 2 ช่องของกลุ่มเนชั่นทีวี และนิวส์ คอร์ปอเรชั่น ที่แจ้งคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล จากชื่อช่องเดิม Now 26 ตั้งแต่ยุคก่อตั้งในปี 2557 มีกำหนดยุติการออกอากาศอย่างเป็นทางการเที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค.นี้

เส้นทางการดำเนินธุรกิจของจากช่อง Now 26 ที่เคยวางตัวไว้เป็นช่องข่าวเศรษฐกิจของไทย จากทีมข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเป็นช่องเน้นรายการสารคดี จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นช่อง Spring 26 ที่ถ่ายทอดสดกีฬามวยไทย แบบ 7 วันรวด เปิดตลาดผู้ชมคอมวยโดยเฉพาะ

จากข้อมูลใน “หนังสือ 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิตอล” ที่จัดทำโดย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. ได้มีการสรุปผลงานตลอดระยะเวลา 5 ปีของช่องทีวีดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการในปี 2557 จนถึงสิ้นสุดปี 2561 ซึ่งในส่วนของช่อง Spring 26 นั้น มีรายละเอียดรวมตั้งแต่ ข้อมูลเรตติ้ง ที่เจาะลึกลงถึงฐานผู้ชมช่อง พื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อายุ และเพศของกลุ่มผู้ชมของช่อง รวมถึงประเภทสัดส่วนรายการของช่องที่จัดลงผังรายการในแต่ละปี และยังมีรายได้จากการประกอบกิจการของช่องในแต่ละปี ที่ได้แจ้งไว้กับสำนักงานกสทช. ไว้ดังนี้

SPRING 26 : ช่องวาไรตี้ เปิดตลาดมวยไทยในทีวี 7 วันรวด

จุดเด่น : มวยไทย และสารคดี

 

SPRING 26 หรือชื่อเดิม NOW 26 เป็นช่องในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) ได้ใบอนุญาตจาก กสทช.ในนามบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกภายใต้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีธุรกิจทีวีดิจิตอลในกลุ่มอีก 1 ช่อง ขณะที่ประมูลทีวีดิจิตอลในปี 2556  ได้แก่ ช่อง Nation TV ในชื่อบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

ช่อง NOW 26 เป็นช่องน้องใหม่ในกลุ่มเนชั่น เปิดตัวในเครือข่ายทีวีดาวเทียม ในปี 2555 เป็นทีมงานหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่ต้องการสร้างช่องให้เป็นสถานีข่าวเศรษฐกิจของไทย ด้วยชื่อช่อง “กรุงเทพธุรกิจทีวี” ที่มาเปลี่ยนชื่อเป็นช่อง NOW 26 เมื่อได้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล

 

การเปิดตัวในฐานะเป็นช่องทีวีดิจิตอลปีแรก เน้นการเสนอรายการข่าว ตามแนวทางที่ถนัด ด้วยคอนเซ็ปต์ Biz Life Variety แต่ชื่อเสียงของช่อง ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เรตติ้งในปีแรกจึงอยู่ในกลุ่มท้ายๆ โดยอยู่ที่อันดับ 27 มีเรตติ้งเพียง 0.005 เท่านั้น

 

เนื่องจากใบอนุญาตช่องเป็นช่องประเภทวาไรตี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 จึงปรับกลยุทธ์ใหม่ ขยายเนื้อหารายการของช่อง นอกเหนือจากรายการข่าวที่เป็นสัดส่วนสูงสุดของช่องแล้ว มาจัดรายการสารคดีลงไป ทั้งสารคดีที่ผลิตทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับการเริ่มต้นถ่ายทอดสดมวยไทย สัปดาห์ละ 1 วัน มีผลทำให้เรตติ้งของปี 2558 ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 24

 

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ช่อง NOW 26 เน้นรายการถ่ายทอดสดมวยไทยลงผังรายการเพิ่มเติมมีถึง 3 รายการในแต่ละสัปดาห์ พร้อมกับเสริมรายการบันเทิงที่เป็นลิขสิทธิ์ต่างประเทศเข้ามาด้วย พร้อมๆกับลดสัดส่วนของรายการข่าวลงมา ทำให้เรตติ้งปี 2559 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.142 เป็นการเติบโตสูงสุดของช่องตั้งแต่เปิดสถานีเป็นต้นมา

 

ในช่วงหลังจากปี 2559 การขยายรายการในหมวดรายการกีฬาไปยังกีฬาหลากหลายประเภทมากขึ้น ยังคงทำให้ช่องรักษาอันดับที่ 11 ในปี 2560 ไว้ได้ โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มเป็น 0.170 พร้อมๆกับการยกเลิกการผลิตรายการข่าวทั้งหมด คอนเทนต์ไฮไลท์ของช่อง เป็นการถ่ายทอดสดมวยไทย และรายการสารคดีเท่านั้น พร้อมๆกับการประกาศแผนหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนหนัก

 

ปี 2561 มีข้อสรุปในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในกลุ่มช่อง NOW 26 และช่อง Nation TV  ที่มีความเกี่ยวพันกับช่องสปริงนิวส์  โดยบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแม่ของบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัดเจ้าของช่อง NOW 26 (ชื่อในขณะนั้น)  มีบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 71.45% ส่วนบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด เจ้าของช่อง Nation TV ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทนิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 9.96% ในขณะที่บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เจ้าของช่องสปริงนิวส์ ถือหุ้นใหญ่โดย “ศิริทัช โรจนพฤกษ์” จำนวน 22.80%

 

ในเดือน มี.ค.2562 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ได้เปลี่ยนชื่อช่อง NOW 26 เป็น SPRING 26

 

เนื่องจากช่อง SPRING 26 เป็นช่องข่าว สารคดี และมวยไทย ฐานผู้ชมช่องจึงเป็นกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจน และมีฐานผู้ชมในพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่มียอดผู้ชมสูงสุด นอกจากนี้เรตติ้งในภาคกลาง ที่รวมถึงภาคตะวันตก และภาคตะวันออก และภาคใต้ ก็ยังมีสูงกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอีกด้วย สำหรับช่วงอายุผู้ชมก็ยังเป็นเช่นเดียวกับทุกๆช่อง โดย 3 อันดับแรกของช่วงอายุที่รับชมช่อง SPRING 26 มากที่สุดยังเป็นกลุ่ม 40 ปีขึ้นไป ซึ่งได้แก่ อายุ 40-44 ปี, 45-49 ปี และ 50 ปีขึ้นไป

 

ตัวเลขสัดส่วนรายการที่ออกอากาศในช่อง SPRING 26 ในปี 2558 จากนโยบายช่องที่เน้นรายการข่าว ผลิตรายการข่าวเอง จึงมีสัดส่วนรายการที่ผลิตเองมากถึง 56.48% ตามมาด้วยรายการซื้อลิขสิทธิ์ 30.07% แต่สัดส่วนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ผู้บริหารช่องตัดสินใจทยอยปิดรายการข่าวที่ผลิตเอง พร้อมกับเน้นการซื้อลิขสิทธิ์มากขึ้น สัดส่วนของการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ที่ 62.59%  จนในปี 2561 สัดส่วนของรายการซื้อลิขสิทธิ์ยังสูงขึ้น แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ สัดส่วนการให้เช่าเวลาออกอากาศ ที่มาพร้อมรายการถ่ายทอดสดมวยไทยในทุกวัน

 

 

รายได้ของช่อง SPRING 26 ที่แจ้งไว้กับสำนักงาน กสทช. นั้น ปีแรกมีเพียง 196 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 335 ล้านบาทในปี 2558 ต่อมาในปี 2559 และ ปี 2560 รายได้ของช่องลดลง โดยเฉพาะในปี 2560 เป็นปีที่ฝ่ายบริหารมีแผนจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ จึงมีการทยอยปิดรายการที่ผลิตเอง มีการเลิกจ้างทีมข่าวทั้งหมด จึงเป็นปีที่แสดงรายได้ของช่องน้อยที่สุด โดยมีรายได้เพียง 163 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในปี 2561 รายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 214 ล้านบาท หลังจากที่เริ่มจัดรายการถ่ายทอดสดมวยไทยลงผังรายการประจำวัน จนกลายเป็นจุดเด่นที่แตกต่างของช่อง

 

บทสรุปช่อง SPRING 26 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากช่องข่าวเศรษฐกิจ เติบโตด้วยรายการสารคดี จนมาจับจุดผู้ชม สร้างจุดเด่นของช่องด้วยการเป็นสถานทีฟรีทีวีที่ถ่ายทอดสดการชกมวยไทยทุกวัน เปิดตลาดมวยไทยในผังรายการทีวีอย่างเต็มรูปแบบ

 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/620700000011.pdf

นอกจากนี้ ข้อมูลผลประกอบการของบริษัทสปริง 26 จำกัด ที่ได้รายงานผลประกอบการไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์นั้น พบว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา Spring 26 มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีแรก โดยขาดทุนอยู่ที่ 84.73 ล้านบาท ซึ่งใน 2 ปีแรก (2557- 2558) เป็นปีที่บริษัทมีรายได้สูงสุด โดยมีรายได้อยู่ที่ 240.56 ล้านบาทและ 337.93 ล้านบาท

แต่บริษัทมีผลขาดทุนอย่างหนักในปี 2560 ที่มีสภาพขาดทุนถึง 1,213.46 ล้านบาท จนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และในปี 2561 ขาดทุนลดลงเหลือ 178.55 ล้านบาท จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทตัดสินใจขอคืนใบอนุญาต

ผลประกอบการบริษัท สปริง 26

Tagged