Netflix Originals ทางรอดของ Netflix ในยุค Streaming War?

กสทช. บทวิเคราะห์

โดย นางสาวเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์
สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์

Netflix Originals: เม็ดเงินลงทุนที่ Netflix ยอมจ่าย

Netflix Originals คือ เนื้อหาที่ไม่สามารถหาชมได้ที่ไหน นอกจากบนแพลตฟอร์มของ Netflix เท่านั้น โดย Netflix Originals สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ เนื้อหารายการที่ได้จากการซื้อลิขสิทธิ์ (Licensed Content) และเนื้อหาที่ถูกผลิตขึ้นโดยมี Netflix เป็นผู้ร่วมหรือให้ทุนสร้าง (Produced Content) ซึ่งในระยะหลังมานี้จะเห็นได้ว่า Netflix มีการนำเสนอเนื้อหารายการที่เรียกว่า “Netflix Originals” มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประสบความสำเร็จกับเนื้อหาที่เป็น Netflix Originals เรื่องแรกๆ อย่าง House of Cards และ Orange is the New Black  ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากสมาชิกทั่วโลก หลังจากนั้นดูเหมือนว่า Netflix จะเดินหน้าเต็มกำลังกับการซื้อและให้งบประมาณในการผลิตเนื้อหาประเภทดังกล่าว และกลายเป็นที่มาของ Netflix Originals หลากหลายเรื่อง โดยผลิตจากผู้ผลิตเนื้อหารายใหญ่และรายย่อยทั่วทุกมุมโลก ครอบคลุมเนื้อหาทั้งประเภทที่เป็นภาษาอังกฤษและไม่ใช่ภาษาอังกฤษในหลายหลายประเภทรายการ เช่น รายการโทรทัศน์ ซีรีส์ ละคร ตลอดจนภาพยนตร์ ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Netflix Originals เป็นการสร้างโอกาสอันดีให้กับผู้ผลิตเนื้อหาทั่วโลกให้ได้มีช่องทางและแหล่งเงินทุนในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหารายการที่ต้องการนำเสนอได้มากขึ้น และยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้บริโภคที่จะมีโอกาสได้รับชมเนื้อหาที่มีความหลากหลายสูง โดยจากเอกสารข้อมูลทางการเงินนับถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2019 ที่ผ่านมา พบว่า Netflix  ทุ่มเงินลงทุนด้านเนื้อหาไปมากถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งด้วยกันและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ Netflix ยังมีอัตราการลงทุนในเนื้อหาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2015 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 34%

ทำไมต้องเป็น Netflix Originals

Netflix เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งสัญชาติอเมริกันที่ให้บริการอยู่ในมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดยเนื้อหารายการที่ให้บริการจะแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ และจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเนื้อหาอยู่เสมอ Netflix อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างไม่จำกัด (All-you-can-eat-buffet style of access) โดยมีรูปแบบการหารายได้ (Monetise model) มาจากการเก็บค่าสมาชิกรายเดือน (Monthly Subscription Fee) ซึ่งในปัจจุบัน Netflix มีจำนวนสมาชิก (Subscribers) มากกว่า 158 ล้านบัญชี และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต

การที่ Netflix มีโครงสร้างการหารายได้มาจากการเก็บค่าสมาชิกรายเดือน (Monthly Subscription Fee) นี้ ส่งผลให้รายได้ของ Netflix ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกและความจงรักภักดี (Loyalty) ของสมาชิกโดยตรง หนึ่งในกลยุทธ์ที่เห็นได้ชัดว่า Netflix เลือกใช้เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกก็คือการขยายฐานการให้บริการออกไปนอกสหรัฐอเมริกา จนสามารถเข้าสู่ตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งได้ในกว่า 190 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในแต่ละประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถดึงดูดใจให้ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ เข้ามาใช้บริการและรักษาความจงรักภักดีของผู้ใช้เดิมไว้ได้ ซึ่งในกรณีนี้ Netflix เล็งเห็นว่า เนื้อหารายการที่นำเสนอนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง (Content is King) ดังนั้นกลยุทธ์การกำหนดเนื้อหารายการจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการมีความพร้อมในการให้บริการ (Availability) โดย Netflix ได้วางเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญไว้ทั้งสิ้น 2 อย่าง คือ 1. เพื่อตอบสนองความต้องการความบันเทิงที่แตกต่างกันของสมาชิกกว่า 158 ล้านบัญชีทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง และ 2. เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคนับล้านๆ คนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกให้เลือกสมัครสมาชิกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ Netflix Originals ก็กลายมาเป็นกลยุทธ์ทางด้านเนื้อหาที่ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของ Netflix ด้วยเหตุผลหลายประการ

  1. Netflix Business Model and Two-sided Market

หากพิจารณารูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของ Netflix จะพบว่าธุรกิจของ Netflix มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) กล่าวคือ Netflix ทำตัวเป็นสื่อกลาง (Intermediary) ระหว่าง ผู้ผลิตเนื้อหากับผู้ชม และแสวงหารายได้และประโยชน์อื่นๆ จากการจับคู่ความต้องการ (Match-making) ของทั้งสองฝ่าย

ภาพที่ 1 : รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของ Netflix ที่มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม และตลาดแบบสองด้าน

จากลักษณะการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตลาดสองด้าน (Two-sided Market) ขึ้น กล่าวคือในด้านหนึ่ง ผู้ชมในฐานะผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการที่จำนวนผู้ผลิตในตลาดอีกด้านหนึ่งเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากมีเนื้อหาให้เลือกรับชมและตอบสนองความต้องการของผู้ชมมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเนื้อหาก็จะได้โอกาสเผยแพร่เนื้อหาให้เข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้นเมื่อจำนวนของผู้ชมที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มมีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน เรียกได้ว่าตลาดทั้งสองฝั่งมีคุณสมบัติในการดึงดูดกันและกันนั่นเอง

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า หากจำนวนผู้ผลิตเนื้อหารายการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งดึงดูดผู้ชมให้เพิ่มมากขึ้น และหมายรวมถึงรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกรายเดือนที่เพิ่มขึ้นด้วย และในทางกลับกัน เมื่อแพลตฟอร์มมีผู้ชมมากขึ้น โอกาสในการเจรจาและอำนาจต่อรองทางธุรกิจของ Netflix ที่มีต่อกลุ่มผู้ผลิตเนื้อหารายการก็อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกว่า Cross-sided Indirect Network Effect ซึ่งรูปแบบธุรกิจของ Netflix ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์นี้

อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตเนื้อหารายการเลือกที่จะขายลิขสิทธ์เนื้อหาให้กับหลายช่องทาง หลายแพลตฟอร์ม หรือที่เรียกกันว่าผู้ผลิตเนื้อหาแบบ Multi-home (Multi-home Content Providers) ก็มีโอกาสสูงมากที่ผู้ชมจะไม่เลือก Netflix เป็นแพลตฟอร์มแรก หรือพร้อมที่จะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปยังแพลตฟอร์มอื่นที่อาจจะมีค่าบริการที่ถูกกว่าหรือมีเนื้อหาน่าสนใจกว่าในทันที เนื่องจากต้นทุนในการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม (Switching Cost) ของผู้ชมนั้นค่อนข้างต่ำ

จุดนี้เองที่ทำให้กลยุทธ์การใช้ Netflix Originals เริ่มทวีความสำคัญ เนื่องจาก Netflix Originals เป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาชมได้ที่อื่นนอกจาก Netflix หมายความว่าผู้ผลิตเนื้อหาจะมีลักษณะเป็นผู้ผลิตแบบ Single-home (Single-home Content Providers) คือ สามารถขายเนื้อหาให้กับ Netflix ได้เพียงที่เดียว ซึ่งหากผู้ชมต้องการรับชมเนื้อหาดังกล่าว ก็จะต้องสมัครเป็นสมาชิกของ Netflix เท่านั้น และหาก Netflix สามารถผลิต Netflix Originals ที่ตรงกับความต้องการของผู้ชมต่อไป แบบที่แพลตฟอร์มอื่นไม่สามารถทำได้ โอกาสที่สมาชิกจะยังคงอยู่กับแพลตฟอร์มต่อไปก็จะมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสในการทำรายได้ของ Netflix ที่จะเติบโตต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

2. เพื่อแก้ปัญหาการถือสิทธิ์ในเนื้อหารายการและลดโอกาสการขาดแคลนเนื้อหารายการสำหรับออกอากาศ

เดิมที Netflix เริ่มต้นธุรกิจผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากการซื้อเนื้อหารายการจากผู้ผลิตเนื้อหา (Content Producers) และผู้เผยแพร่เนื้อหารายการ (Content Distributor) ในลักษณะที่เป็นการซื้อมาเพื่อเผยแพร่ซ้ำ โดย Netflix จะทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมและเผยแพร่เนื้อหา (Content Aggregator and Distributor) ให้แก่สมาชิกเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาที่ Netflix จำเป็นต้องพิจารณากลยุทธ์ของตัวเองต่อในระยะยาว นั่นคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง Netflix กับผู้ผลิตและเผยแพร่เนื้อหารายการเดิม

ความขัดแย้งนี้เกิดจาก ผู้ผลิตและผู้เผยแพร่เนื้อหารายการให้แก่ Netflix บางส่วน โดยเฉพาะ Content Distributors ที่เป็นช่องโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเดิม เช่น HBO, Disney Channel, AMC เริ่มเล็งเห็นว่า การขายสิทธิ์ในการเผยแพร่เนื้อหาให้กับ Netflix นั้น อาจเป็นหนึ่งในการแย่งสัดส่วนตลาดของตนเอง (Canibalisation) อันเนื่องมาจาก

1. วิธีให้บริการของ Netflix ที่สามารถให้รับชมแบบรวดเดียวจบ (Binge Watching) และรับชมได้ทุกที่ทุกเวลา (On-demand) สามารถตอบสนองความต้องการในการรับชมเนื้อหาประเภทซีรีส์ หรือภาพยนตร์ภาคต่อของผู้บริโภคได้ดีกว่า

2. การแย่งลิขสิทธิ์เนื้อหารายการจากผู้ผลิต (Content Producers) ของ Netflix ที่ทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกสูญเสียเนื้อหาที่ดึงดูดผู้ชมได้ เช่น กรณีที่ Netflix ชนะประมูลสิทธิ์การออกอากาศในสหรัฐอเมริกาของซีรีส์ดังยอดฮิตอย่างเรื่อง House of Cards จากผู้ผลิตอย่าง Media Rights Capital ชนะเคเบิลทีวีชื่อดังหลายราย รวมถึง HBO และ AMC ด้วย

3. ต้นทุนในการเปลี่ยนวิธีการรับชม (Switching Cost) ไม่ได้สูงมากนัก

เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มีผู้ชมจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเปลี่ยนมารับชม Netflix ซึ่งเป็นการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของวิธีการรับชมแบบดั้งเดิมโดยตรง ซึ่งทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหารายการไม่อยากขายลิขสิทธิ์ให้ Netflix ต่อไป และในกรณีของเจ้าของลิขสิทธิ์รายใหญ่บางราย ไม่เพียงแต่ไม่อยากขายลิขสิทธิ์เนื้อหารายการให้กับ Netflix เท่านั้น แต่ยังกระโดดลงมาร่วมแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเองด้วย เพื่อลดอัตรา Canibalisation และใช้ประโยชน์จากเนื้อหารายการที่มีอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ Netflix เกรงว่าจะประสบปัญหาความขาดแคลนและไม่ต่อเนื่องของเนื้อหารายการซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้ชม จึงไม่น่าแปลกใจที่ Netflix จะหันมาพึ่งพาเนื้อหาที่เป็น Netflix Originals มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการซื้อลิขสิทธิ์แบบผูกขาดสิทธิ์การเผยแพร่และการให้ทุนสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาโดยตรง

Netflix Originals ทางรอดของยุค Streaming War?

ในเชิงทฤษฎีแล้ว ดูเหมือนว่าการสร้าง Original Content ของ Netflix จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับ Netflix ที่มีรูปแบบการประกอบธุรกิจแบบเป็นแพลตฟอร์ม แต่ในความเป็นจริง เมื่อดูจากรายงานทางธุรกิจของ Netflix เอง การทุ่มทุนมหาศาลเพื่อสร้าง Original Content อย่างต่อเนื่องนั้นไม่ได้ทำรายได้ให้กับธุรกิจมากเท่าที่บริษัทคาดหวัง หลังจากหมดไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 จดหมายสำหรับผู้ถือหุ้นของ Netflix ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าสมาชิกที่เรียกเก็บได้นั้น (2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์เอาไว้ (5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ของ Netflix อีกด้วย และสิ่งนี้เองที่ทำให้ราคาหุ้นของ Netflix ซึ่งจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาดิ่งลงทันทีกว่า 20% และถึงแม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 อัตราการเติบโตของธุรกิจจะดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากการกลับมาของซีรีส์ Netflix Originals ที่มีผู้ชมทั่วโลกมากที่สุด อย่าง Stranger Thing ซีซันที่ 3 และซีีรีส์ภาษาเสปนยอดนิยม อย่าง La Casa de Papel (The Money Heist) ซีซันที่ 3  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นของ Netflix กระเตื้องขึ้นจากเดิม แต่อัตราการเติบโตก็ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเติบโตของตลาดสหรัฐอเมริกาอันเป็นบ้านเกิดของ Netflix เอง

สถานการณ์ในไตรมาส 3 ปี 2019 ที่ผ่านมาของ Netflix ทำให้เห็นได้ชัดว่า Netflix Originals อาจสามารถช่วยเร่งอัตราการเติบโตของรายได้ แต่อาจไม่ใช่ Netflix Originals ทุกเรื่องที่สามารถทำได้ เห็นได้ชัดจากการที่อัตราการเติบโตของรายได้ที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายปีทั้งที่ก็มี Netflix Originals เรื่องใหม่อื่นๆ ออกอากาศอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้อย่างดีว่า เม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่ Netflix ลงทุนไปในการซื้อและสร้างเนื้อหารายการอาจสูญเปล่าได้ หากเนื้อหารายการที่ได้กลับมาไม่สามารถติดตลาดได้เท่าที่คาดหวัง และหากพิจารณาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของ Netflix ที่สูงถึง 1.8 เท่าของทุน นับว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ และกระแสเงินสดที่ติดลบมาตั้งแต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมาจากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยแล้ว อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และกระทบต่อธุรกิจบ้างไม่มากก็น้อย

หากพิจารณาสถานการณ์ตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งแบบ SVoD พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ยังเป็นไตรมาสสุดท้ายของ Netflix ที่จะกอบโกยรายได้จากสภาวะตลาดในปัจจุบัน ก่อนที่คู่แข่งกระแสแรงอย่าง Apple Plus, HBO Max และ Disney+ จะเข้าสู่ตลาด และทำให้การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งยิ่งดุเดือดมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม HBO Max ที่พร้อมลงสังเวียนด้วยเนื้อหาลิขสิทธิ์จากสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง Warner Media และ Disney+ จากค่าย Disney เจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหาของสตูดิโอผู้สร้างสำคัญมากมาย ที่ได้ประกาศแผนการสร้างซีรีส์เพื่อป้อนให้กับ Disney+ ซึ่งสามารถเรียกกระแสให้กับ Disney+ ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว ซึ่งนับเป็นแพลตฟอร์มที่มี Original Content ที่เป็นที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสูงอยู่แล้วบวกกับค่าบริการที่ถูกกว่า ซึ่งอาจทำให้ Disney+ กลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ Netflix ซึ่งนอกจากจะแย่งส่วนแบ่งกลุ่มผู้ชมที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกแพลตฟอร์มใดในตลาดแล้ว ยังอาจจูงใจให้ผู้ชมเปลี่ยนแพลตฟอร์ม (Switch Platform) มารับชม Disney+ ได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ภาวะการแข่งขันรุนแรงในตลาดผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง ที่ต่างก็แข่งกันจับจองเนื้อหารายการจากผู้ผลิตชื่อดังและการลงทุนใน Original Content ของตนเองอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดสภาวะเนื้อหารายการถูกผูกขาดโดยแพลตฟอร์ม หรือเกิด Extreme Single-home ของผู้ผลิตเนื้อหารายการ จนทำให้เนื้อหารายการที่ผู้บริโภคสนใจกระจายตัวไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ซ้ำกัน และส่งผลให้ผู้บริโภคถูกบีบบังคับให้ตกอยู่ในสภาวะ Extreme Multi-home Users หรือ การถูกบีบบังคับให้สมัครเป็นผู้ใช้ของแพลตฟอร์มจำนวนมาก เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงเนื้อหารายการที่ตนเองสนใจทั้งหมด ซึ่งจากจุดนี้เอง อาจจะทำให้มีผู้บริโภคบางส่วนที่มีความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness-to-pay) ค่อนข้างต่ำ หรือผู้ใช้ที่ไม่ชอบความยุ่งยากจากการต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปมา หันกลับไปใช้บริการสตรีมมิ่งแบบผิดกฎหมาย (Pirate Streaming Platforms) ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในระยะยาวได้

ผลของการลงทุนใน Netflix Originals สำหรับ Netflix อาจยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่ากลยุทธ์ที่ดูสวยหรูในเชิงทฤษฎีนั้น จะสามารถพา Netflix ไปได้ไกลแค่ไหนในตลาดที่การแข่งขันดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับ Netflix ในฐานะผู้นำการใช้กลยุทธ์ Original Content แล้วนั้น เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า Netflix จะเลือกเดินหน้าต่อเพื่อให้สำเร็จในเส้นทางและเป้าหมายเดิม หรือจะมองหาเส้นทางใหม่ต่อไปในอนาคต

รายการอ้างอิง

ลงทุนแมน. (2562). สรุปผลประกอบการ NETFLIX ล่าสุด. สืบค้นจาก http://https://www.longtunman.com/18916.

Chatterjee, S. (2013). Simple Rules for Designing Business Models. California Management Review, 55(2), 97–124.

Faughnder, R., & Lee, W. (2019). WarnerMedia announces new streaming service to compete with Netflix and Disney. Los Angeles Times. สืบค้นจาก https://www.latimes.com/business/hollywood/la-fi-ct-att-streaming-service-20181010-story.html

Gawer, A. (2009). Platforms, markets and innovation. Cheltenham; Northampton, MA: Edward Elgar.

Ghini, M. B. (2016). The Effects of popcorn time on Netflix in a two–sided market (Master’s thesis).

Harvard Business School MBA Student Perspective. (2015). Netflix – Getting Smarter Everyday. สืบค้นจาก https://digital.hbs.edu/platform-digit/submission/netflix-getting-smarter-everyday/.

Harvard Business School MBA Student Perspective. (2017). Netflix: Attracting Both Subscribers and Content Providers to the Party. สืบค้นจาก https://digital.hbs.edu/platform-digit/submission/netflix-attracting-both-subscribers-and-content-providers-to-the-party/.

Jenner, M. (2015). Binge-watching: Video-on-demand, quality TV and mainstreaming fandom. International Journal of Cultural Studies, 20(3), 304–320.

Katz, B. (2019). How Much Does It Cost to Fight in the Streaming Wars? สืบค้นจาก https://observer.com /2019/10/netflix-disney-apple-amazon-hbo-max-peacock-content-budgets/.

Krämer, J., & Wohlfarth, M. (2015). Regulating Over-the-Top Service Providers in Two-Sided Content Markets: Insights from the Economic Literature. Communications & Strategies, (99), 71-90,189-190.

Money Buffalo. (2562). เมื่อ NETFLIX เจอกับดักของตัวเอง. สืบค้นจาก http://https://www.moneybuffalo.in.th/ธุรกิจและเศรษฐกิจ/netflix-เจอกับดักของตัวเอง.

Motley Fool Staff. (2018). Netflix, Inc. (NFLX) Q4 2017 Earnings Conference Call Transcript. สืบค้นจาก https://www.nasdaq.com/articles/netflix-inc-nflx-q4-2017-earnings-conference-call-transcript-2018-01-22.

Netflix. (n.d.). สืบค้นจาก https://s22.q4cdn.com/959853165/files/doc_financials/quarterly_reports/2019/q3/ FINAL-Q3-19-Shareholder-Letter.pdf

Netflix (n.d.). Network Effects. สืบค้นจาก http://netflixcasestudy.blogspot.com/p/network-effects.html.

Rodriguez, A. (2019). Netflix climbs 10% on international and earnings growth, despite missing subscriber targets for the second straight quarter. สืบค้นจาก https://www.businessinsider.com/netflix-q3-earnings-results-subscriber-growth-revenue-analysis-2019-10.

Solsman, J. E. (2019). Disney Plus: Every show, movie and original that Disney will stream — and when. สืบค้นจาก https://www.cnet.com/news/disney-plus-every-show-movie-original-series-available-to-stream-date/.

Sorrentino, M., & Solsman, J. E. (2019). Disney Plus: Everything you need to know. สืบค้นจากhttps://www.cnet.com/news/disney-plus-streaming-service-everything-to-know-baby-yoda/.

Strangelove, M. (2015). Post-Tv: Piracy, Cord-Cutting and the Future of Television. University of Toronto Press.

Tralner, D. (2019). Netflix’s Original Content Strategy Is Failing. Forbes. สืบค้นจาก https://www.forbes.com /sites/greatspeculations/2019/07/19/netflixs-original-content-strategy-is-failing/#26e012463607

Wayne, M. L. (2017). Netflix, Amazon, and branded television content in subscription video on-demand portals. Media, Culture & Society, 40(5), 725–741.

Tagged