บทวิเคราะห์ ม. 44 กับอนาคตทีวีดิจิทัล (ตอนที่ 1 )

รายได้ทีวีดิจิทัล

ม.44 ลดหนี้ เพิ่มกำไร โชว์ชัดๆ ช่องไหน ปลดหนี้สูงสุด

คำสั่งคสช. ที่ 4/2562 เพื่อปลดล็อคธุรกิจโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล โดยสาระสำคัญของการให้ความช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิทัล คือ การปลดหนี้ให้กับ 22 ช่องทีวีดิจิทัลที่เป็นช่องธุรกิจ เป็นจำนวนบริษัทผู้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ 19  บริษัท ไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย และค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ที่คิดเป็นมูลค่าการให้ความช่วยเหลือจากรัฐทั้งหมดอยู่ที่ 33,202 ล้านบาท

ในจำนวน 33,202 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่า 13,622 ล้านบาท สำหรับการไม่ต้องจ่ายเงินค่างวดประมูล 2 งวดสุดท้ายและ อีก 19,580 ล้านบาท เป็นค่าเช่า MUX

กลุ่มช่อง 3 ลดหนี้มากสุด เกือบ 1.8 พันล้าน

จากข้อมูลเฉพาะการจ่ายค่างวดประมูล 2 งวดสุดท้ายของกสทช. รวมมูลค่า 13,622 ล้านบาทนั้น ที่จัดกลุ่มผู้ให้บริการตามโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันแล้ว จะพบว่า กลุ่มช่อง 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด จาก 3 ใบอนูญาตของช่อง 3HD, 3SD  และช่อง 3Family ในชื่อบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย รวมกันทั้งหมดเป็นมูลค่า 1,776.4 ล้านบาท

อันดับ 2 เป็นกลุ่มเนชั่น-สปริงนิวส์ ที่มีใบอนุญาตแยกเป็น 3 บริษัท 3 ช่อง ได้แก่  สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น ช่อง 19 แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง หรือช่อง สปริง 26 ,  และเอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น หรือช่องเนชั่นทีวี รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 1,614.4 ล้านบาท

กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลของกลุ่มทรู มีใบอนุญาต 2 บริษัท -ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค หรือช่องทีเอ็นเอ็น  และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น หรือช่องทรูโฟร์ยู รวมมูลค่า 1,212.4 ล้านบาท

อันดับ 4 เป็น 2 ช่อง ของช่อง 9HD และMCOT Family รวมมูลค่า 940 ล้านบาท

ช่องวัน-จีเอ็มเอ็ม25- พีพีทีวี-อมรินทร์ทีวี รวมเกือบ 3 พันล้าน

ส่วนกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่แยกออกเป็น 2 บริษัทในชื่อ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล หรือ จีเอ็มเอ็ม 25 และ จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี หรือช่องวันนั้น จากเดิมเป็น 2 บริษัทลูกของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แต่ต่อมาได้ขายหุ้นใหญ่ในทั้งสองบริษัทให้แก่ กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ (ช้าง) ของครอบครัวสิริวัฒนภักดี ในช่องจีเอ็มเอ็ม 25  และกลุ่มครอบครัวปราสาททองโอสถ ในช่องวัน หากนับรวมเป็นกลุ่มในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวม 2 ช่องจะเป็นมูลค่ารวม 1,488 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกลุ่มครอบครัวสิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ในช่องอมรินทร์ทีวี หากนับรวมในกลุ่มครอบครัวสิริวัฒนภักดี ในช่องอมรินทร์ และจีเอ็มเอ็ม 25  รวม 2 ช่อง เป็นมูลค่า 1,488 ล้านบาท เช่นกัน ส่วนกลุ่มครอบครัวปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของช่องพีพีทีวี อยู่เดิมแล้ว หากนับรวมกับช่องวันที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ จะมีมูลค่ารวมลดหนี้ถึง 1,504 ล้านบาท รวมทั้งหมดของ 4 ช่อง ในเครือข่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่-ไทยเบฟเวอเรจ-ปราสาททองโอสถ  ลดหนี้ได้รวม 2,992 ล้านบาท เลยทีเดียว

เวิร์คพอยท์ ลดหนี้มากสุดในกลุ่มช่องที่มีใบอนุญาตใบเดียว

ในกลุ่มช่องที่มีใบอนุญาตเพียงใบเดียว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันในโครงสร้างผู้ถือหุ้นนั้น เวิร์คพอยท์ เซฟไปได้รวม 790 ล้านบาท แต่เวิร์คพอยท์เป็นหนึ่งใน 3 ช่องร่วมกับช่อง 7 และสปริงนิวส์ ที่ได้จ่ายเงินประมูลงวดที่ 5 ไปแล้ว ซึ่งทั้ง 3 ช่องนี้จะได้รับคืนเงินที่จ่ายไปล่วงหน้าแล้ว

กลุ่มช่อง HD , และ SD ส่วนใหญ่จะได้รับการปลดหนี้ในวงเงินโดยเฉลี่ยประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนกลุ่มช่องข่าวเฉลี่ยประมาณ 400 ล้านบาท โดยที่ช่องไบรท์ทีวีเป็นช่องที่ได้รับการยกเว้นหนี้ที่มีอยู่น้อยที่สุดจำนวน 431.20 ล้านบาท

หุ้นกลุ่มทีวี เด้งขึ้นยกแผง รับอนาคตกำไร

สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นของทุกบริษัท โดดเด้งขึ้นยกแผง รับข่าวดีกันถ้วนหน้า

บีอีซีเวิลด์ ของกลุ่มช่อง 3 ที่ดูเหมือนได้รับอานิสงค์สูงสุด ราคาหุ้นที่ซบเซามานาน เริ่มส่งสัญญาณบวกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วตามกระแสข่าวลือ ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 6 บาทต่อหุ้น ก็เด้งขึ้นจากราคา 7.30 บาทในวันที่ 10 เม.ย. เพิ่มขึ้นถึง 9.59% ในวันที่ 11 เม.ย.ที่มีคำสั่ง และเพิ่มต่อเนื่อง จนมาปิดที่ราคา 8.05 บาท ในวันที่ 12 เม.ย.รับเทศกาลสงกรานต์

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้มีการคาดการณ์ใหม่ว่า กลุ่มบีอีซี จะเริ่มกลับมามีกำไรในปีหน้าอย่างแน่นอน โดยคาดว่าตัวเลขผลประกอบการจะดีขึ้นมากกว่า 20% จากมาตรการนี้ หลังจากปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ผลประกอบการทั้งปีขาดทุนรวม 330 ล้านบาท

เวิร์คพอยท์ที่ได้รับผลกระทบจากผลประกอบการและเรตติ้งความนิยมของช่องลดลง ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากราคา 22 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 10 เม.ย. มาปิดที่ 23.10 บาท ในวันที่ 12 เม.ย. โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มีการประเมินว่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม 5% โมโน เทคโนโลยี ของช่องโมโน จากราคา 1.69 บาทของวันที่ 10 เม.ย. มาปิดที่ 1.75 บาท ในวันที่ 12 เม.ย.

อาร์เอส เจ้าของช่อง 8 แม้จะขอย้ายการจดทะเบียนจากหมวดมีเดีย ไปอยู่หมวดธุรกิจพาณิชย์ ไปเมื่อเร็วๆนี้ ราคาหุ้นก็เพิ่มจาก 17.80 บาทต่อหุ้นในวันที่ 10 เม.ย. มาอยู่ที่  18.40 ในวันที่ 12 เม.ย.

แม้แต่หุ้น อสมท ผู้ประกอบการ ช่อง 9 และ MCOT Family ก็เพิ่มสูงขึ้น จาก ราคา 10.50 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 10 เม.ย. มาอยู่ที่ ราคา 11.30 บาทต่อหุ้นในวันที่ 12 เม.ย.

ทั้งนี้ภาระการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล เป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจทีวีดิจิทัล ที่มีการแข่งขันสูง จากจำนวนช่องทั้งหมดในตลาด 26 ช่อง และต้องแย่งชิงมูลค่าตลาดโฆษณากันในกลุ่ม 24 ช่อง (ไม่รวมไทยพีบีเอส และทีวีรัฐสภา ที่ไม่มีโฆษณา) อีกทั้งที่ผ่านมายังต้องแบ่งเวลาช่วงไพรม์ไทม์ของทุกวันให้กับคสช.ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เมื่อมาเจอสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงทำให้แต่ละช่องอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ไม่สามารถลงทุนพัฒนาคอนเทนต์ได้อย่างต่อเนื่อง จนเริ่มปลดพนักงาน กระทบหลายภาคส่วน

การได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ จึงเป็นทางรอดครั้งสำคัญของวงการทีวีดิจิทัล เมื่อต้นทุนหาย ไม่ต้องเครียดกับการแก้ไขปัญหาทางการเงิน ทุกรายสามารถทุ่มเทกับการสร้างคอนเทนต์ การแข่งขันในขั้นต่อไป จึงอยู่ที่การวัดฝีมือของแต่ละช่องแล้วว่า จะสามารถสร้างจุดเด่นของแต่ละช่อง มัดใจผู้ชมที่กระจายไปสู่หลากหลายแพลทฟอร์มการรับชมคอนเทนต์ได้อย่างไร

Tagged