ไบรอัน มาร์การ์ ซบ “กฤตย์” นายใหญ่ 7 สี ร่วมบริหาร “แม็ทชิ่ง” ลุยธุรกิจเอ็นเตอร์เทน

รายการข่าว เกาะติดจอ

หลังจากเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปลายปี 2563 การแตกหักระหว่าง “มาลีนนท์” และ กลุ่ม “ไบรอัน มาร์การ์” เจ้าของกลุ่มเทโร จนต้องแยกทางเดิน “มาลีนนท์”ขายหุ้น บีอีซี เทโร ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อใหม่ “เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” นั้น ล่าสุด มีข่าวอัพเดทว่า “ไบรอัน มาร์การ์” ยกทีมงานไปร่วมบริหาร บริษัท แม็ชชิ่ง แม็กซิไมซ์ โซลูชั่น ในเครือช่อง 7 เรียบร้อยแล้ว

TV Digital Watch ได้รับการคอนเฟิร์มจากแหล่งข่าวในวงการทีวีว่า ไบรอัน มาร์การ์ ได้เจรจากับ “กฤตย์ รัตนรักษ์” บิ๊กบอสของกลุ่มช่อง 7 เข้ารับตำแหน่งบริหารในบริษัท แม็ชชิ่ง แม็กซิไมซ์ โซลูชั่น ในเครือช่อง 7 โดยจะมาลุยธุรกิจเอ็นเตอร์เทนทั้งหมด ที่กลุ่มเทโร มีประสบการณ์มานาน

สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 บริษัท แม็ทชิ่ง แม็กซิไมซ์ โซลูชั่น ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง แต่งตั้งนายเวลล์ เนล ทอมบ์สัน อดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซี เทโรฯ เข้ารับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 และนายคมกริช ศิริรัตน์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ บริษัทในกลุ่มบีอีซี เทโรฯ ในอดีต มาเป็นกรรมการบริษัท พร้อมกับนายเวลล์ เนล ทอมบ์สัน วันที่ 23 ธ.ค.63

ทั้งนี้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะเห็นการลุยธุรกิจเอ็นเตอร์เทนมากขึ้นของกลุ่มช่อง 7 จากปัจจุบันแม็ทชิ่ง ทำธุรกิจ ผลิตรายการทีวี ให้เช่าอุปกรณ์การถ่ายทำ บริการให้เช่าสถานที่ถ่ายทำ ผลิตภาพยนตร์ และงาน Post Production และในรุ่งเรืองที่สุดเคยจัดคอนเสิร์ต แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในขณะที่กลุ่มเทโรฯ มีหลากหลายธุรกิจตั้งแต่ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนต์ออนไลน์ ธุรกิจนิวมีเดีย การศึกษา โรงเรียนดนตรี วิทยุ ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนต์ออนไลน์ กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการลิขสิทธิ์กีฬา และธุรกิจที่โดดเด่นที่สุด ขายตั๋ว-บริษัท ไทย ทิคเก็ตเมเจอร์ นอกจากนี้ยังมีการผลิตรายการในนามบริษัท บางกอก ดราม่า

นอกจากนี้กลุ่มเทโรยังถือลิขสิทธิ์รายการคอนเสิร์ตมากมาย รวมถึงลิขสิทธิ์คอนเสิร์ตของวง “แบล็กพิงค์” เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ และลิขสิทธิ์การประกวด Miss Thailand World ด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนต์อยู่ในช่วงซบเซา มีการยกเลิกการจัดงานคอนเสิร์ต อีเวนท์ต่างๆมากมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจหลักของกลุ่มเทโรฯ เช่น ไทยทิคเก็ตอย่างมาก

ก่อนหน้าที่จะมาลงเอยกับกลุ่มช่อง 7 นี้ มีรายงานข่าวว่า มีการเจรจากับหลายกลุ่มธุรกิจด้วย แต่มาสำเร็จกับกลุ่มช่อง 7 นี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว

เบื้องหลัง “มาลีนนท์” ขายหุ้น

กลุ่มเทโร ของไบรอัน มาร์การ์ เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยในปี 2541 จากเดิมชื่อบริษัท เวิลด์ มีเดีย ซัพพลายส์ ในการผลิตรายการทีวีให้กับช่อง 3 และขยายไปทำธุรกิจการแสดง จัดกิจกรรมเช่นคอนเสิร์ต งานโชว์ รายการวิทยุ ละครเวที รายการกีฬา ซึ่งต่อมาขยายไปทำรายการในต่างประเทศด้วย

แต่รายได้หลักของกลุ่มเทโรฯ มาจาก 3 ส่วน รายได้จากรายการทีวี ลิขสิทธิ์ และธุรกิจขายตั๋ว ซึ่งรายการทีวีแหล่งรายได้ก้อนโตสุดมาจากรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ส่วนรายได้กลุ่มลิขสิทธิ์ มาจากการจัดคอนเสิร์ตและรายการกีฬา

ในขณะที่ธุรกิจต่างประเทศเริ่มมีปัญหา มีคดีฟ้องร้องมากกว่า 1 คดี ภาพรวมทั้งหมดทำให้ผลประกอบการของบริษัท มีรายได้ลดลง บริษัทเริ่มขาดทุนจากการดำเนินงานเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2560 โดยมียอดขาดทุนที่ 43.1 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 41.7 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนถึง 211.5 ล้านบาท จากยอดรายได้รวมปี 2562 ที่ 1,610.3 ล้านบาท

ในยุคเฟื่องฟูของบีอีซี เทโร ปี 2556 มีกำไรถึง 274.9 ล้านบาท และรายได้รวมกว่า 2.861.6 ล้านบาท

การขาดทุนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บีอีซี เวิลด์ หรือกลุ่มช่อง 3 แบกภาระขาดทุนมากขึ้นด้วย จน

3 นางสิงห์แห่ง “มาลีนนท์” “รัตนา อัมพร และรัชนี ” ที่คุมบังเหียนอยู่ในขณะนี้ ต้องแก้ปัญหารายได้ลด ขาดทุนอย่างหนักของกลุ่มช่อง 3 ทั้งระบบ เริ่มรุกเข้ามาจัดการยกเลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไร มีการเจรจากันหลายรอบเริ่มตั้งแต่กลางปี 2563 จนได้สรุปขอขายคืนหุ้นทั้งหมดของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จากกลุ่มเทโร

ทั้งนี้บีอีซี เวิล์ดได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค 2563 ว่าได้ขายหุ้นจำนวน 59.99% ในบีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คืนให้กับ ไบรอัน ลินด์เซ มาร์การ์ ในมูลค่า 15 ล้านบาท โดยเปลี่ยนชื่อบริษัท บีอีซี เทโร ใหม่ เป็น “เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด”

หนึ่งในข้อตกลงการจากกันนี้ ทางกลุ่มเทโรฯ คืนรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” กลับมาเป็นของช่อง 3 ส่วนรายการอื่นๆที่ยังออนแอร์อยู่จนถึงขณะนี้ เช่น “ข่าววันใหม่” “ข่าวเช้าวันหยุด” และ “โกดังมหาสนุก”

สำหรับ “แม็ทชิ่ง” นั้น เป็นบริษัทที่เริ่มต้นก่อตั้งโดย “ตี๋ แม็ทชิ่ง” หรือ สมชาย ชีวสุทธานนท์ ในปี 2535 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2546 ต่อมาในปี 2547 ได้บริษัท บีบีทีวี โปรดักชั่นส์ จำกัด บริษัทลูกของบริษัทกรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์ หรือช่อง 7 เข้ามาถือหุ้นเบื้องต้น 27.8% ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มช่อง 7 เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในปี 2555 ปัจจุบัน บีบีทีวี ถือหุ้น 74.5% ในแม็ทชิ่ง

ต้องจับตาดูว่า ความร่วมมือครั้งใหม่นี้ จะมีทิศทางธุรกิจอย่างไร มาวัดกันว่า ความคม ความชัดเจนทางธุรกิจที่บอกว่า “กฤตย์” ไม่เป็นรองใคร มาร่วมกับ “ไบรอัน” ที่มีความแพรวพราวทางธุรกิจที่ไม่ธรรมดา บทบาทของ “ไบรอัน” ในแม็ทชิ่ง จะแผ่ไพศาลจนกลับมาผงาดอีกครั้ง หรือจะถูกดูดกลืนไปกับกาลเวลา

Tagged