ปลดหนี้ ทีวีดิจิทัล 2งวดสุดท้าย

รายการข่าว เกาะติดจอ

 


2 ช่องเด็ก 3 Family, MCOT Family และช่องข่าว สปริงนิวส์ จ่อคืนใบอนุญาต

จากประกาศคสช.ฉบับที่ 4/ 2562 มาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุมีการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ที่ใช้งานในกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อนำไปประมูลคลื่น 5G และทำการชดเชยผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงเปิดทางให้มีการคืนใบอนุญาตได้ด้วยนั้น

ล่าสุดฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ได้แถลงข่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาพิจารณาค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต โดยแนวทางการชดเชยนั้นพิจารณาจาก ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้จ่ายไปแล้ว แต่จะคืนให้ไม่เต็มจำนวนที่ได้จ่ายไปแล้ว

ฐากรยังกล่าวด้วยว่า มีการคาดการณ์ ว่าจะมีผู้ขอคืนใบอนุญาต ประมาณ 4-5 ราย

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีรายงานว่า 2 ช่องในกลุ่มช่องเด็ก ทั้งช่อง 3 Family และช่อง MCOT Family มีแนวโน้มสูงที่จะขอคืนใบอนุญาต เพราะข้อจำกัดของการให้บริการคอนเทนต์ในช่องเด็ก ทำให้การหาโฆษณาของทั้งสองช่องเป็นได้ยาก จนทำให้ช่องไม่ได้รับความนิยมจากผู้ชม โดยจากข้อมูลเรตติ้งของนีลเส็น เดือน มี.ค.นั้น ช่อง 3Family มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.053 อยู่ในอันดับ 18 และช่อง MCOT Family มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.022 อยู่ในอันดับ 23

นอกจาก 2 ช่องเด็กแล้ว ช่องสปริงนิวส์ เป็นอีกช่องข่าว ที่คาดว่าจะคืนใบอนุญาต โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สปริงนิวส์ได้เคยทำข้อตกลงขายหุ้นให้กับทีวีไดเร็ค แต่ได้ยกเลิกดีล หลังจากมีข่าวว่ากสทช.จะให้คืนช่องได้

ทั้งนี้ กลุ่มสปริงนิวส์ ที่รวมถึงเนชั่นทีวีนั้น มีช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 3 ช่อง ที่รวมถึงช่อง นาว 26 ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สปริง 26 ไปแล้ว ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้ อาจจะคงเหลือเพียง 2 ช่อง คือเนชั่นทีวี และสปริง 26 เท่านั้น

ทั้งนี้เงื่อนไขของการให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้นั้น ในประกาศระบุว่า ช่องที่ต้องการขอคืนใบอนุญาต จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกสทช.ภายใน 30 วันหลังประกาศฉบับนี้
ฐากรอธิบายว่า หลักการของการจ่ายค่าชดเชย จะพิจารณาจากเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายไปแล้ว แต่จะไม่จ่ายคืนเต็มจำนวน และกสทช.เชื่อว่าเงื่อนไขให้คืนใบอนุญาตได้นี้ จะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมดีขึ้น มีจำนวนลดลง จากที่ตอนนี้มีอยู่จำนวน 27 ช่อง ซึ่งมีผลต่อมูลค่าตลาดโฆษณาทั้งระบบ และทำให้ทุกรายอยู่ได้
ประกาศคสช.ฉบับนี้ ยังเปิดทางให้สำนักงานกสทช.จัดสรรเงินสำหรับทำทีวีเรตติ้งจำนวนหนึ่ง ในกรณีที่มีการรวมตัวกันตั้งองค์กรกลางเพื่อทำเรตติ้งด้วย
สำหรับเงินชดเชย จากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700MHz นั้น จะมี 2 กลุ่มที่จะได้รับการชดเชยคือ ผู้ประกอบการทีวี และผู้ประกอบการโครงข่าย (MUX)
สำหรับผู้ประกอบการทีวี จะได้รับการช่วยเหลือในการไม่ต้องจ่ายค่าประมูลทีวีดิจิทัล ใน 2 งวดสุดท้ายคืองวดที่ 5 และ 6 จากจำนวนช่อง 22 ช่อง โดยไม่รวมไทยทีวี และช่องเด็กโลก้า ของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ที่มีคดีอยู่ที่ศาลปกครอง โดย 22 ช่องมีมูลค่ารวม 13,622 ล้านบาท และยังได้รับการช่วยเหลือการจ่ายค่าเช่าโครงข่ายอีกประมาณปีละ 2,000 ล้านบาทจนสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 รวมเป็นเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดในวงเงินเบื้องต้นประมาณ 33,622 ล้านบาท
หากผู้ประกอบการบางรายได้จ่ายเงินบางงวดไปแล้ว ก็จะได้รับเงินคืน โดยในเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับเงินจากการประมูลคลื่นย่าน 700 MHz ที่จะนำมาจ่ายชดเชยให้กิจการทีวี ในประกาศระบุว่าให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ของกสทช.มาใช้ก่อน
ส่วนผู้ประกอบการ MUX ที่ประกอบไปด้วย ช่อง 5 , อสมท., ไทยพีบีเอสและ NBT จะได้รับการชดเชยจากการต้องย้ายย่านคลื่นในการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล เพื่อคืนคลื่นย่าน 700 MHz ให้กสทช.มาจัดการประมูล โดยคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้กสทช.มีกำหนดเรียกผู้ประกอบการโทรคมนาคม และทีวีดิจิทัลมาประชุมร่วมกันในวันที่ 17 เม.ย.นี้ เพื่อเตรียมสรุปแผนที่จะต้องเตรียมการตามประกาศคสช.

โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่  4/2562 เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคม

ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/093/T_0004.PDF

Tagged