เปิดช่องทาง Call Center ปัญหารับชมทีวีดิจิทัล บนคลื่นใหม่

กสทช. รวมเรื่องเด่น เกาะติดจอ

“ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ” เดินหน้าปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ของ กสทช. เริ่ม ก.ย.นี้ พร้อมเปิดคู่สายผู้ให้บริการโครงข่ายฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สอบถาม หากพบปัญหาในการรับชม

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (MUX) หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตามที่ กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ รวมถึงคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง เพื่อนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมในการรองรับเทคโนโลยี 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งออกอากาศ โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เนื่องจากสัญญาณอาจประสบปัญหาโดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละโครงข่ายฯ ระหว่างเดือนกันยายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่แรกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2563 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และบริเวณใกล้เคียงในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ต่อด้วยพื้นที่ภาคเหนือในเดือนตุลาคม 2563 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมกราคม 2564 และสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2564”

ในการปรับปรุงโครงข่ายฯ ทางชมรมโครงข่าย กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นผู้รับรองมาตรฐาน แต่เนื่องจากในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาปรับจูนหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องส่งและคอมบายเนอร์ตามแผนที่กำหนดได้ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จึงได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า จะให้เจ้าหน้าที่หรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมและมีใบรับรองมาตรฐานสากลดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการตรวจสอบความเรียบร้อยต่อไป”

นายเขมทัตต์ กล่าวต่อไปว่า “ภายหลังการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ข้างต้น หากผู้ชมพบว่าไม่สามารถรับชมรายการผ่านสายอากาศแบบก้างปลาได้ตามปกติอาจจะต้องปรับจูนกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Set Top Box) เพื่อให้สามารถกลับมารับชมดิจิทัลทีวีได้อีกครั้ง โดยในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียงสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบวันเวลาปรับเปลี่ยนสัญญาณในพื้นที่ พร้อมคู่มือการจูนสัญญาณโดยละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ http://700.nbtc.go.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ Call Center 020-700-700

นอกจากการให้บริการข้อมูลโดย กสทช. แล้ว ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ได้เตรียมความพร้อม ในการให้ข้อมูลกับประชาชนเพิ่มเติมที่สำนักวิศวกรรมโครงข่าย บมจ.อสมท โทร. 02-251-7256, สำนักวิศวกรรม ไทยพีบีเอส โทร. 02-790-2314-5, สำนักวิศวกรรม สถานีโทรทัศน์กองทัพบก โทร. 09-5365-3627

และสำนักวิศวกรรม กรมประชาสัมพันธ์ โทร. 06-1640-9704 หรือ 08-7992-1410 ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายฯ อย่างเต็มความสามารถให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับชมช่องรายการด้วยความคมชัด สัญญาณไม่สะดุด ไร้การรบกวนจากคลื่นสัญญาณต่างๆ และได้รับชมข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายอย่างมีคุณภาพผ่านดิจิทัลทีวีอย่างต่อเนื่อง” ประธานชมรม ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ กล่าว

*********************

ข้อมูลประกอบพื้นที่ความรับผิดชอบในแต่ละโครงข่ายฯ ในการแก้ไขปัญหาการรับชม โดยส.ส.ท.
(ข้อมูลวันที่ 19 ก.พ. 63)
1. กรมประชาสัมพันธ์ พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 16 พื้นที่ ได้แก่ กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย นครราชสีมา พะเยา ยโสธร ระนอง ราชบุรี ลำปาง สงขลา อำนาจเจริญ พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพชรบุรี
2. สถานีโทรทัศน์กองทัพบก พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 32 พื้นที่ ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทราชลบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พิจิตร แพร่ มุกดาหารร้อยเอ็ด ระยอง ลพบุรี เลย สกลนคร สตูล สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี อุทัยธานีอ่างทอง อยุธยา หนองคาย นครนายก ลำพูน
3. บมจ.อสมท พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 14 พื้นที่ ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี ตราด นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ ชัยนาท
4.ส.ส.ท. พื้นที่รับผิดชอบจำนวน 8 พื้นที่ ได้แก่ ขอนแก่น ตาก สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ อุบลราชธานีมหาสารคาม บุรีรัมย์
5.ทุกโครงข่ายรับผิดชอบร่วมกันจำนวน 7 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรีปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร

Tagged