ลิขสิทธิ์ VS กฎ Must Carry กรณี “จอดำ”บอลโลก

เกาะติดจอ

​สำหรับคอบอล เรื่องเดือดร้อนตอนนี้คือ การไม่สามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกผ่านทีวีในเครือข่ายเอไอเอสได้ เพราะโดนศาลฯสั่งให้จอดำ ช่วงถ่ายทอดสดบอลโลกทางทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่อง อมรินทร์ทีวี, ทรูโฟร์ยู และช่อง 5 ตามคำร้องขอทรูวิชั่นส์ที่เป็นเจ้าของสิทธิ

เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็น และยึดหลักกฏหมายคนละฉบับ โดยมีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

มาย้อนรอยดูสาเหตุที่มาของเรื่องราวทั้งหมดกัน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งให้บริษัท ไมโม่เทค จำกัดและบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือ AIS ดำเนินการแจ้งการยุติการนำสัญญาณการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 ของ ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป  แพร่ภาพให้ผู้ชมที่ใช้แอพพลิเคชั่น AIS PLAY ทราบผ่านแอพพลิเคชั่น AIS PLAYภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งตรงกับเวลา  17.00น. ของวันที่ 28 มิถุนายน ตามที่ทรูวิชั่นส์ได้ยื่นคำร้องต่อศาล

โดยทรูระบุว่าบริษัทในเครือ AIS นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่ทรูวิชั่นส์  ได้รับลิขสิทธิ์และมีลิขสิทธิ์มาเผยแพร่ต่อสาธารณะชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ทรูวิชั่นส์ อันเป็นการดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ์ของทรูวิชั่นส์ โดยตรงและสุ่มเสี่ยงต่อการที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ FIFA อาจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่ไม่อาจชดใช้ด้วยเงินหรือทดแทนด้วยสิ่งอื่นใด  

ในขณะที่เอไอเอสได้ชี้แจงไปยังลูกค้า เพื่อขออภัยที่ลูกค้า AIS Play ที่มีอยู่จำนวน 5 ล้านคน และ AIS Play Box ที่มีอยู่ประมาณกว่า 4 แสนราย ว่าจะไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 ได้ นับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนเป็นต้นไป ตามคำสั่งของศาล แต่ก็ยังชี้แจง และยืนยันว่า ที่ผ่านมาการออกอากาศรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จากทั้งช่องอมรินทร์,ทรูโฟร์ยู และช่อง5 ผ่านแอพพลิเคชั่น AIS Play และ AIS Play Box เป็นหน้าที่ที่บริษัทต้องปฏิบัติตามตามประกาศกสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือประกาศ Must Carry 

 

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ลิขสิทธิ์ และ กฎ Must Carry  สิ่งใดเหนือกว่ากันทางกฎหมาย

 

ว่าด้วยกฎ Must Carry  ของกสทช. คือกฏที่ระบุให้ผู้ที่ใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของกสทช.ต้องออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลที่ตอนนี้มีอยู่ 25 ช่องไปเผยแพร่ในแพลทฟอร์มของตัวเองด้วย สำหรับกิจการทีวีที่เข้าข่ายนั้นคือ บรรดาทีวีดาวเทียม, เคเบิลทีวี และ IPTV ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎ Must Carry นี้ ทำให้ผู้ชมทั่วประเทศสามารถรับชมทีวีดิจิทัลทั้งหมดได้ในทุกช่องออกอากาศ

 

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของกฎ Must Carry ฉบับนี้ กสทช.ออกมาเพื่อช่วยให้คนไทยทั่วประเทศสามารถรับชมทีวีดิจิทัลทุกช่องได้ในทุกแพลทฟอร์ม ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการขยายเครือข่ายทีวีดิจิทัลที่เป็นระบบภาคพื้นดิน จากรายงานของกสทช.พบว่าในปี 2560 คนไทยรับชมทีวีดิจิทัลผ่านระบบดาวเทียม 50.7% และรับชมผ่านระบบเครือข่ายทีวีดิจิทัลโดยตรง 57.3%

 

ในขณะที่ลิขสิทธิ์บอลโลก ในครั้งนี้เป็นของทรูวิชั่นส์ ที่เข้ามาเป็นเจ้าของสิทธิ์แทนที่รัฐบาล จากการลงขันกันของ 9 สปอนเซอร์บริษัทเอกชน ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการประสานงาน

สิ่งที่ทรูยืนยันกับศาลฯคือ ทรูวิชั่นส์ได้ลิขสิทธิ์ครั้งนี้แบบ All Rights  คือ ได้สิทธิ์ครอบคลุมทุกแพลทฟอร์มการออกอากาศ ตั้งแต่ดิจิทัลฟรีทีวี, เพย์ทีวี และ ช่องทางทีวีออนไลน์ 

 

อย่างไรก็ตามความเกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์บอลโลกนี้ ยังมีกฎ​ Must Have เข้ามาเกี่ยวข้องอีกฉบับหนึ่ง

 

กฎ Must Have  หรือหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะกิจการฟรีทีวี ของกสทช.นี้ ระบุ ครอบคลุมถึงกีฬา 7 ประเภท คือกีฬาซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิคเกมส์, พาราลิมปิคเกมส์ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

 

ด้วยกฎ Must Have ทำให้ทรูวิชั่นส์ในฐานะเจ้าของสิทธิ์ ต้อง Sub License ให้กับทีวีดิจิทัลฟรีทีวี 3 ช่อง คือ อมรินทร์, ทรูโฟร์ยู และช่อง5 เป็นผู้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ทำให้การเผยแพร่ออกอากาศถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ นอกจาก 3 ช่องดิจิทัลทีวีแล้ว ก็มีทรูวิชั่นส์ ที่เป็นทีวีบอกรับสมาชิก แถมยังมี TrueID  ที่เป็นทีวีออนไลน์ของกลุ่มทรูด้วยที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

 

ด้วยเหตุการณ์นี้ จึงมีความเกี่ยวข้องที่บังคับใช้ของทั้งกฎ Must Have และ Must Carry  พร้อมๆกันในกรณีลิขสิทธิ์บอลโลก

 

ทุกแพลทฟอร์มทีวีที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ตามกฎ Must Carry จำเป็นต้องนำสัญญาณทีวีดิจิทัลทั้ง 25 ช่องไปออกอากาศ ซึ่งรวมถึงทีวีดิจิทัล 3 ช่อง คือ อมรินทร์, ทรูโฟร์ยู และช่อง 5  ที่ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดจากทรูวิชั่นส์ ตามกฎ Must Have  ดังนั้นทุกใบอนุญาตกิจการทีวีที่ออกอากาศทีวีดิจิทัลปกติ จึงสามารถออกอากาศการถ่ายทอดสดฟุตบอลที่อยู่ใน 3 ช่องดิจิทัลทีวี – อมรินทร์, ทรูโฟร์ยู และช่อง 5 ทำให้ผู้ชมทีวีผ่าน กล่องทีวีดาวเทียมทุกระบบ เคเบิลทีวีทั่วประเทศ และ IPTV สามารถรับชมการถ่ายทอดสดที่ติดมากับ 3 ช่องดิจิทัลทีวีนี้ได้

 

แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับเอไอเอส คือ ทรูวิชั่นส์มองว่า การให้บริการของ AIS Play เข้าข่ายบริการทีวีออนไลน์ ที่มีเพียง TrueID ของกลุ่มทรูเท่านั้น ที่เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว

 

ทำให้ทรูได้แจ้งไปยังผู้ประกอบการทีวีออนไลน์ทุกรายในประเทศ ให้รับทราบเรื่องลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ ซึ่งทุกรายยอมจอดำ ช่วงถ่ายทอดสดบอลโลก มีเพียงเอไอเอสรายเดียวที่ยึดกับกฎ Must Carry  ที่ไม่ได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยการเอาสัญญาณช่องอมรินทร์,ทรูโฟร์ยู และช่อง5 มาออกอากาศใน AIS Play และ AIS Play Box โดยเป็นการแพร่ภาพที่ส่งผ่านสัญญาณจากฟรีทีวีตามปกติเหมือนกับที่ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีทำอยู่ในขณะนี้

 

กรณีนี้ บอร์ดกสทช.เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องลิขสิทธิ์ รายการกีฬา 2 ประเภทคือ ฟุตบอลโลก และวอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีก ในช่องทางทีวีออนไลน์ คือ

 

1.เอไอเอส หารือเรื่องการออกอากาศการเอาสัญญาณช่องอมรินทร์, ทรูโฟร์ยู และช่อง 5 ที่มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกในช่องทาง AIS Play  และ AIS Play Box ตามกฎ Must Carry

 

2. TrueID และ TOT-IPTV  หารือเรื่องที่ช่อง 3 ได้ขอให้ทั้งสองบริษัท ยุติการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีกของกลุ่มช่อง 3 ทาง TrueID และ TOTIPTV

บอร์ดกสทช. มีข้อสรุปเพียงว่า การให้บริการในรูปแบบทีวีออนไลน์ ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎ Must Carry 

ตามความหมายของกสทช.ก็คือ หากเป็นการออกอากาศรายการที่ช่องทีวีดิจิทัลส่งสัญญาณมา คือการปฏิบัติตามกฎ Must Carry  ไม่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้นำรายการของเจ้าของลิขสิทธิ์ไปออกอากาศใหม่ ซึ่งปัจจุบันนี้ ทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ก็ล้วนปฏิบัติตามกฎนี้ และยังสามารถรับชมรายการลิขสิทธิ์เหล่านี้ที่อยู่ในช่องทีวีดิจิทัลได้ตามปกติ เพราะทีวีออนไลน์ทำได้แค่เพียง เผยแพร่ภาพตามสัญญาณที่ส่งมาเท่านั้น

หากไม่มองในเรื่องของการแข่งขันรุนแรงทางธุรกิจของ 2 ค่ายใหญ่วงการโทรคมนาคม ที่ต่างคนต่างไม่ยอมกันแล้ว นี่คือความเห็นที่แตกต่างกัน กับมุมมองทางกฎหมายคนละฉบับ เมื่อเอไอเอสยึดกฏ Must Carry  ส่วนทรูอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นหลัก

เมื่อทรูไปร้องต่อศาลศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎ Must Carry  ศาลได้คุ้มครองตามคำร้องของทรู ยึดตามกม.ลิขสิทธิ์ แม้ว่าเอไอเอสได้พยายามขออุทธรณ์ให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมในกรณีกฎ Musy Carry ก็ตาม

นี่เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่าง ที่เชื่อว่า ความเห็นต่าง มองกฏหมายคนละฉบับ คงไม่จบลงเพียงเท่านี้ และคงมีผลกระทบกับอีกหลายรายการกีฬาสำคัญ ที่หลายช่องซื้อลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด คือประชาชน ที่ไม่รู้ว่าวันใดในหนึ่ง เครือข่ายหรือแพลทฟอร์มที่ใช้ดูทีวีของค่ายไหน จะมีปัญหา “จอดำ” กับรายการลิขสิทธิ์เหล่านี้อีก

Tagged