ไตรมาสแรก ปี 63 อสมท รายได้ลด 21% ขาดทุน 877 ล้าน

ผลประกอบการ

ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 63 อสมท มีรายได้รวม 467 ล้านบาท ลด 21% และขาดทุนสูงถึง 877 ล้านบาท

เขมทัตต์ พลเดช  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย งบการเงิน ในไตรมาส 1 ปี 2563  สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563  อสมท มีผลขาดทุน 877 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปี 2562 ที่มียอดขาดทุนอยู่ที่ 32 ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์  

ในขณะเดียวกันมีรายได้รวม 467 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยธุรกิจวิทยุและธุรกิจโทรทัศน์ ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้มากที่สุด โดยในปี 2563 ธุรกิจวิทยุสามารถสร้างรายได้ในสัดส่วน 29% ธุรกิจโทรทัศน์ 24% รายได้จากการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล 19% ธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ(สัมปทาน) 22% ธุรกิจใหม่  (สื่อออนไลน์ต่างๆ ของ อสมท)  1% รายได้อื่นๆ  5%

-ธุรกิจโทรทัศน์ ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 บมจ. อสมท มีรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ 111 ล้านบาท ลดลง36%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยในช่วงต้นปี 2563 ช่อง 9 ประกาศหันมาเน้นนำเสนอคอนเทนต์ข่าวลงผัง รวมกว่า 300 ชั่วโมงต่อเดือน และเสริมด้วยซีรีส์จีนและภาพยนตร์ต่างประเทศและอินเดีย

-ธุรกิจวิทยุ มีรายได้วิทยุในช่วงสามเดือนแรกปี 2563  135 ล้านบาท คลื่นวิทยุที่มีผลงานโดดเด่น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2562 ได้แก่ คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz คลื่นวิทยุที่สามารถสร้างรายได้สูงรองลงมาได้แก่ คลื่นความคิด FM 96.5 MHz, คลื่น MET 107 MHz, คลื่น FM 100.5 MHz News Network, คลื่น Active radio FM 99 MHz, และ คลื่น Mellow 97.5 MHz ตามลำดับ

-ธุรกิจใหม่ บมจ.อสมท มีรายได้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ ในไตรมาสหนึ่งปี 2563 เพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ได้ 9 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562

-ธุรกิจการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มีรายได้ในไตรมาสหนึ่งปี 2563 จำนวน   92 ล้านบาท  ลดลงจาก 118 ล้านบาทในไตรมาแรกของปี 2562 ทั้งอสมท คาดว่า รายได้ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ เป็นผลมาจาก มีรายได้จากให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา จำนวน 5 ช่อง

เงินเยียวยาคืนคลื่น ยังไม่ทำให้ปีนี้กำไร

บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาใด้อนุมัติเงินเยียวยา ในการคืนคลื่น 2,600 MHz แก่ อสมท  3,235 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 10 ปี และอสมท จะต้องแบ่งจ่ายให้กับบริษัท เพลย์เวิร์ค ซึ่งยังเป็นประเด็นที่สหภาพ อสมท ออกมาคัดค้าน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า รายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ อสมท พลิกมามีกำไรในปี 2563 จากข้อมูลในอดีต 4 ปีย้อนหลัง อสมท  ขาดทุน เพิ่มขึ้นลดลงไม่แน่นอน โดย ขาดทุน 734 ล้านบาท ในปี 2559  ขาดทุน 2,542 ล้านบาทในปี 2560  ขาดทุน 375 ล้านบาทในปี 2561 และขาดทุน 457 ล้านบาทในปี 2562  แต่ ปี 2563 ไตรมาสแรก  ขาดทุน 877 ล้านบาท มากว่าปี 2562 ทั้งปีเกือบ 1 เท่า

Tagged