6 ปีช่อง PPTV ขาดทุนสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ผลประกอบการ

เปิดประกอบการช่องเศรษฐี ช่อง PPTV ปี 2562 ทำสถิติขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่เปิดสถานี ขาดทุนกว่า 2 พันล้าน มีรายได้รวมกว่า 700 ล้าน รวม 6 ปี ขาดทุนสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาท !

ผลประกอบการ ปี 2562 ของ บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง ซึ่งทำธุรกิจทีวี รวมถึงช่องทีวีดิจิทัลช่อง PPTV รายงานผลประกอบการ ต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า รายได้รวม 769.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.47 % และ ขาดทุน 2,040.52 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.1 % เมื่อเปรียบเทียบปี 2561 ในปี 2562 กลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลอื่น ส่วนใหญ่ มีรายได้ลดลง มีสาเหตุมาจากสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันรุนแรง และ เม็ดเงินโฆษณาลดลง ช่อง PPTV ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเช่นกัน นับเป็นปีที่บริษัทขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีช่องทีวีดิจิทัล ทั้งนี้ช่อง PPTV มี ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการเพิ่มขึ้น 47.24 %

นอกจากนี้ข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานว่า รายได้รวมช่อง PPTV ตั้งแต่ปี 2557 มีรายได้ดังนี้ ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีช่องทีวีดิจิทัลเข้ามาแข่งใหม่ 24 ช่อง ปี 2557 มีรายได้ 55.28 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 195.91 ล้านบาท ปี 2559 รายได้ 232.61 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ สูงสุด 317.15 ล้านบาท และ ปี 2561 รายได้ 495.25 ล้านบาท ช่อง PPTV ยังไม่เคยมีกำไร ตั้งแต่ปี 2557 โดยขาดทุนเกิน 1,000ล้านบาททุกปี อย่างไรก็ตามในรอบ 6 ปี ของช่อง PPTV ขาดทุนสะสม ถึง 10,804 ล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด

(ภาพผลประกอบการช่อง PPTV จากหนังสือ 5 ปี)

นอกจากนี้ข้อมูลจากหนังสือ “ผลงาน 5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล” ของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช.ระบุว่า รายได้เฉพาะกิจการทีวีดิจิทัลของบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจากกสทช. ในช่วงปี 2557 – 2561 มีรายได้ที่แจ้งไว้กับกสทช.ดังนี้ ปี 2557 มีรายได้เพียง 46 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 178 ล้านบาท เพิ่มเป็น 227 ล้านบาท และ 296 ล้านบาทในปี 2559 และ 2560 โดยปี 2561 มีรายได้ 380 ล้านบาท

ช่องทุนหนา มีผู้ถือหุ้นระดับมหาเศรษฐี ตระกูล “ปราสาททองโอสถ” มีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลรายการต่างประเทศชั้นดีมากมาย ได้พยายามบุกการลงทุนในกลุ่มรายการบันเทิง ทั้งละคร และรายการ วาไรตี้ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จากที่หวังจะสร้างดาราในสังกัดเพื่อลุยละคร แต่ละครที่ออนแอร์ไปแล้วมีผลตอบรับที่วัดจากกระแสและเรตติ้งน้อยมาก จนผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องสั่งหยุดการผลิตละคร เพื่อลดการลงทุนหนัก หันมาให้ความสำคัญกับรายการข่าว ที่เป็นรายการที่สร้างเรตติ้งมั่นคงให้กับช่องอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมปี 2562 ช่อง PPTV มีเรตติ้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 0.197 อยู่ในอันดับ 10 เพิ่มขึ้นจากเรตติ้งเฉลี่ย 0.164 ในปี 2561 ที่อยู่ในอันดับ 12 โดย PPTV ชูคอนเทนต์ข่าว การถ่ายทอดสดกีฬา แนวโน้มเรตติ้ง ของ PPTV มีแนวโน้มไม่สู้ดีนักในปี 2563 โดย เรตติ้งเฉลี่ยสูงสุดเดือน ม.ค. 0.184 ต่ำสุดในเดือนก.ค. 0.151 อาจมีสาเหตุมาจาก ช่วงต้นปี 2563 การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มี การถ่ายทอดสดกีฬา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ Covid-19 จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับช่อง PPTV ในปี 2563 ผลประกอบการบริษัทอาจขาดทุนมากขึ้นอีก ในขณะที่การถ่ายทอดฟุตบอลรายการต่างประเทศไม่คึกคักอย่างในอดีต หลังจากพักการแข่งขันไปหลายเดือน

เส้นทาง 6 ปีของช่อง PPTV ปูทางมาด้วยพรมสวยหรู มีผู้ถือหุ้นเป็นตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของประเทศ มีงบประมาณลงทุนอย่างต่อเนื่องหลักพันล้านบาทต่อปี ดึงผู้บริหารในวงการทีวีหลายต่อหลายคนเข้ามาช่วยกำหนดทิศทางบริหารช่อง ที่แต่ละคนมาพร้อมวิสัยทัศน์สวยหรู ดูแพง และการทุ่มทุนอย่างหนัก และต่างจากไปเมื่อหมดสัญญา แต่ผลงานของช่อง PPTV ทำได้ดีที่สุดได้แค่อันดับ 10 ยังไม่สามารถก้าวไปได้ไกลกว่านั้น

บทเรียนจาก 6 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า การลงทุนหนัก เงินหนา ลงทุนหลากหลายทิศทาง ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างความนิยมชื่อเสียงช่อง แต่การโฟกัส สร้างคอนเทนต์ที่แข็งแรง ให้เป็นจุดแข็งของช่องน่าจะยั่งยืนและยาวนานกว่า ต้องดูกันต่อไปว่า ก้าวเดิน เสต็ปต่อไปของช่อง PPTV จะโฟกัสที่คอนเทนต์แนวไหน

Tagged